ยลโฉม “จันทรุปราคาเต็มดวง หรือ Super Blood Wolf Moon” ครั้งแรกของปี’62


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้คนในหลายทวีปต่างเฝ้าชม “จันทรุปราคาเต็มดวง หรือ Super Blood Wolf Moon” ที่เกิดขึ้นครั้งแรกของปีนี้ ขณะที่ประเทศไทยจะไม่สามารถมองเห็นได้ เนื่องจากไม่อยู่ในแนวคราส

วันนี้ (21 ม.ค.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงหรือ ซูเปอร์ บลัด วูล์ฟ มูน (Super Blood Wolf Moon) ซึ่งผู้คนในแถบทวีปที่อยู่ในแนวคราสตั้งแต่อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ บางส่วนของฝั่งตะวันตกในยุโรป สหราชอาณาจักร แอฟริกาเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย ต่างได้ยลโฉมความสวยงามของพระจันทร์สีแดงอิฐ หรือ พระจันทร์สีเลือด ที่เกิดขึ้นครั้งแรกของปี 2019 โดยปราฏการณ์ดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เมื่อช่วงเช้าเวลา 02.35 น. จนถึง 07:49 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช หรือเวลา 09.35 น. จนถึง 14.49 น. ตามเวลาประเทศไทย

สำหรับฝั่งประเทศไทยนั้น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ระบุว่า จะไม่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ได้ เนื่องจากไม่อยู่ในแนวคราส จึงเห็นเป็นดวงจันทร์เต็มดวงตามปกติ

ทั้งนี้จันทรุปราคา จะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อตอนดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ตั้งเรียงตรงกันพอดี หรือใกล้เคียง ซึ่งจะสามารถรับชมได้แค่ในซีกโลกที่อยู่ฝั่งกลางคืนเท่านั้น โดยเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ที่สะท้อนผิวของดวงจันทร์ มืด หรือจางลงในชั่วเวลาหนึ่ง ขณะที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงาของโลก โดยทำให้เวลาสังเกตบนโลกจะเห็นดวงจันทร์เป็นสีค่อนข้างคล้ำออกแดง หรือน้ำตาล

ด้าน นักดาราศาสตร์โบราณของบาบิโลนได้ทำการศึกษาปรากฏการณ์จันทรุปราคา และสามารถคำนวณการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ และยังมีการค้นพบรอบการเกิดของปรากฏการณ์จันทรุปราคา ที่เรียกกันในปัจจุบันว่าชุดการเกิดจันทรุปราคา หรือ ซารอส (Saros) จากบันทึกของชาวบาบิโลนทำให้สามารถคำนวณปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ล่วงหน้า หรือย้อนกลับไปในอดีตได้ จนถึงบริเวณที่สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ได้อย่างแม่นยำ

นอกจากนี้ คนไทยในอดีตมีความเชื่อเกี่ยวกับดวงจันทร์ที่เกิดเป็นสีแดงคล้ำ ซึ่งแตกต่างกันไปตามความเชื่อของท้องถิ่น โดยมีบางส่วนถือว่าปรกฏการณ์ดังกล่างเป็นลางบอกเหตุที่ไม่ดี และจะต้องช่วยกันไล่ให้พระราหู (เงาของโลก) หรือกบนั้นคายดวงจันทร์ออกมา ด้วยวิธีการตีปีบ เคาะไม้ หรือทำเสียงดัง

 

 

ขอบคุณข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)

รูปภาพ :  AFP

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ