“บีอาร์เอ็น” คือใคร? ทำไมต้องเกี่ยวข้องเหตุความไม่สงบใต้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เหตุคนร้าย บุกยิงกุฏิภายในวัดรัตนานุภาพ หรือ วัดโคกโก หมู่ 2 ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ส่งผลให้ เจ้าอาวาสและพระลูกวัด มรณภาพ 2 รูป และบาดเจ็บ 2 รูป หลายคนตั้งข้อสงสัยการก่อเหตุอุกอาจในครั้งเป็นฝีมือของกลุ่ม บีอาร์เอ็น

เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2547 จนถึงทุกวันนี้ ในแต่ละเหตุการณ์ความรุนแรงมักจะมีความเชื่อมโยงกลุ่มบีอาร์เอ็นทุกครั้ง

กลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นใคร?  ทำไมถึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ “ทีมข่าวนิวมีเดีย” จะรวบรวมเรื่องราวประวัติกลุ่ม “บีอาร์เอ็น” ที่อ้างอิงจากแหล่งระดับสูงที่เคยทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาให้แฟนข่าว “พีพีทีวี”ได้อ่านและวิเคราะห์ไปพร้อมๆกัน

 “ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani)  หรือ บีอาร์เอ็น” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 13 มี.ค. 2503 โดยปรากฏชื่อ นายอับดุลการิม ฮัสซัน เป็นประธาน จากนั้นจัดตั้งหน่วยทหารใช้ชื่อว่า กองกำลังติดอาวุธปลดแอกอิสลามปัตตานี ตั้งฐานปฏิบัติการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่บนเทือกเขา ประมาณปี 2512 ได้ส่งกลุ่มเยาวชนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ พร้อมๆกับการฝึกอาวุธ

“บีอาร์เอ็น” ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี องค์กรเกิดการแตกคอกัน บางส่วนขอยุติการต่อสู้เนื่องจากเห็นว่ากลยุทธ์การต่อสู้บนเทือกเขาไม่สามารถเอาชนะเจ้าหน้าที่รัฐได้ บางส่วนได้จัดตั้งกลุ่มบีอาร์เอ็นชุดใหม่ขึ้นมา พร้อมปรับกลยุทธ์การต่อสู้ “จากเทือกเขา สู่ชุมชน”

ปิดตำนาน “สแปอิง บาซอ” ประธานบีอาร์เอ็น เสียชีวิตที่มาเลเซีย

พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับกองกำลัง “อาร์เคเค” บอกว่า บีอาร์เอ็น ยุคใหม่ได้ปรับกลยุทธ์การต่อสู้ หลังลงจากเขา เข้ามาสู่หมู่บ้านเมื่อปี 2527 โดยได้แบ่งสมาชิกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ คนที่มีคดีให้หนีไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่ม 2 คือ กลุ่มหัวดีที่ศึกษาจากต่างประเทศ ให้ไปเป็นอุสตาซ(ครูสอนศาสนา) หรือไปให้ความรู้ทางศาสนาแก่ประชาชนในหมู่บ้านต่างๆ กลุ่ม 3 คือกลุ่มที่ไปฝึกอาวุธมาจากต่างประเทศ ให้เป็นครูฝึกอาวุธ แก่เยาวชนที่เข้าร่วมกับบีอาร์เอ็น

ปี 2537 บีอาร์เอ็น เริ่มคัดเลือกกลุ่มเยาวชน ที่เรียนเก่ง ร่างกายแข็งแรง จาก 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส จังหวัดละ 20 คน รวมทั้งหมด 60 คน เพื่อไปแอบฝึกอาวุธแบบลับๆที่ต่างประเทศ 

ตั้งแต่ 2537 -2539 บีอาร์เอ็น ฝึกอาวุธให้กับกลุ่มเยาวชนทั้งหมด 3 รุ่น รวม 180 คน หรือ เรียกว่า รุ่น เมล์ 20 แต่มีบางส่วนบีอาร์เอ็นส่งไปให้สมัครเป็นทหารเกณฑ์ เพื่อเรียนรู้การประกอบ หรือ ใช้ปืน โดยใช้ระยะเวลาการฝึกอยู่ 3 เดือน จากนั้นทั้ง 180 คนจะกระจายไปเป็นครูฝึกอาวุธให้กับเยาวชนชุดใหม่

ปี 2540-2549 “บีอาร์เอ็น” คัดเลือกเยาวชนที่นิสัยดี เรียนเก่ง เคร่งศาสนา ปี 300 คน จากพื้นที่สามจังหวัด มาฝึกอาวุธเป็นกองกำลัง อาร์เคเค  กลุ่มบีอาร์เอ็น จะไม่คัดเลือกกลุ่มวัยรุ่นที่ติดยาเสพติดเข้าร่วมเป็นกลุ่มอาร์เคเคเด็ดขาด เนื่องจากกลุ่มนี้เวลาไปก่อเหตุที่ไหนจะมีพิรุธจนถูกจับได้ และ ตั้งแต่ปี 2540 -2549 รวมระเวลา10 ปี บีอาร์เอ็น มีกองกำลังอาร์เคเค ทั้งหมด 3,000 คน บางพื้นที่ฝึกกันอย่างโจ่งแจ้ง หรือ ฝึกกันในโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนบางแห่ง โดยอาร์เคเค แต่ละคน ต้องจ่ายเงินวัน 2 บาทให้กับองค์กร

จากนั้นในปี 2545 อาร์เคเค ก็เริ่มปฏิบัติ โดยการปล้นปืน จากหน่วยต่างๆจำนวน 6 ครั้ง ได้ปืนไปทั้งหมดเกือบ 200 กระบอก แต่ช่วงนั้นไม่ค่อยเป็นข่าวใหญ่โตมากนัก

พล.อ. สำเร็จ ระบุอีกว่า นอกจากบีอาร์เอ็น จัดตั้งกองกำลังได้แล้ว ยังได้จัดตั้งหมู่บ้านแนวร่วม หรือ อาเยาะห์ โดยไปจับมือกับ "กลุ่มการเมือง" ในพื้นที่สามจังหวัด เพื่อใช้หัวคะแนนของนักการเมือง ดึงชาวบ้านเข้ามาเป็นแนวร่วม

ปี2540-2541 บีอาร์เอ็น จัดตั้ง “อาเยาะห์” หมู่บ้านแรก ในพื้นที่ ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี ซึ่งเป็นตำบลเดียวกันกับเหตุคนร้ายยิงพระสงฆ์ มรณภาพ 2 รูป เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2562 โดยหมู่บ้านแรก เป็นเสมือนหมู่บ้านตัวอย่าง ที่หมู่บ้านจัดตั้งแต่ละอำเภอจะต้องมาดูงานที่นี่

ต่อมากลุ่มการเมืองไม่ตอบสนองความต้องการ และไม่เห็นด้วยกับแนวทางของบีอาร์เอ็น ก็เกิดแตกคอขัดแย้งกันอย่างหนัก ส่งผลให้นักการเมืองบางคนต้องสอบตก เพราะกลุ่มมวลชนไปอยู่กับบีอาร์เอ็นหมดแล้ว   

ปี 2545-2546 มีการปล่อยข่าวเรื่อง “โจรนินจา” ที่ปล้นสะดมชาวบ้าน พร้อมข่มขืนหญิง อย่างโหดเหี้ยม และ เรื่องโจรนินจา ต้องปิดเป็นความลับห้ามแจ้งตำรวจโดยเด็ดเพราะเป็นพวกเดียวกัน และ ให้จัดชุดคุ้มครองหมู่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง

วันที่ 26 เม.ย. 2546 ตำรวจพลร่มที่เพิ่งลงไปทำงานในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส  2 นายขับรถจักรยานยนต์ กลับจากธุระ เมื่อกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้านเห็นคนแปลกหน้า จึงแจ้งชาวบ้านว่าอาจเป็น โจรนินจา

จากนั้น ชาวบ้านรวมตัวกันจนสามารถจับกุมชายแปลกหน้าทั้ง 2 คนได้ พร้อมค้นตัวพบบัตรข้าราชการตำรวจ จึงมีการปล่อยข่าวในพื้นที่ว่า “ที่แท้โจรนินจา ที่ปล้น ฆ่าข่มขืน คือ เจ้าหน้าที่รัฐ”

 ข่าวลือนี้ถูกปล่อยออกไปทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ชาวบ้านจากทั่วสารทิศที่ทราบข่าวลือ ต่างแห่ เดินทางมายัง อ.ระแงะ เป็นจำนวนมาก พล.ต.ต.นพดล เผือกโสมณ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้กำกับสภ.ระแงะ เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยว่า ตำรวจทั้ง 2 นายไม่ใช่โจรนินจา แต่ก็ไม่เป็นผล มีแนวร่วมบีอาร์เอ็น แฝงตัวอยู่กับกลุ่มชาวบ้าน ลอบทำร้าย พล.ต.ต.นพดล จนสลบ ตำรวจและเจ้าหน้าที่ต้องลากตัวออกมาเพื่อส่งโรงพยาบาล

จากนั้นไม่นาน ก็เกิดเหตุสลดขึ้นเมื่อกลุ่มชายฉกรรจ์ กรูเข้าไปรุมประชาทัณฑ์ตำรวจพลร่มทั้ง 2 นายเสียชีวิต หลังจากนั้นข่าวโจรนินจาก็เงียบหายไป จนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครรู้เลยว่า “โจรนินจา” คือใคร

เมื่อบีอาร์เอ็นเห็นว่าทั้งกองกำลังอาร์เคเค และ มวลชนพร้อมแล้ว 100 % ก็ปฏิบัติการณ์ครั้งใหญ่ 4 ม.ค. 2547 ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เหตุการณ์ความไม่สงบก็ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน 

“มกรา 62” เดือนใต้เดือด “คาร์บอมบ์ - ถล่มโรงพัก – ยิง อส. – ฆ่าพระ”

นักวิชาการยะลา ชี้ รัฐต้องรีบเข้ากระบวนการพูดคุย “บีอาร์เอ็น”

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ