อีอีซีดันบริษัทใหม่แห่จดทะเบียนพุ่ง 7,311 ราย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สงครามการค้าและสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม ทำให้การส่งออกติดลบถึง 5.7 % ขณะที่บริษัทตั้งใหม่พุ่งขึ้นกว่า 78 % โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี

เมื่อวันที่ (22 ก.พ. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2562 มีจำนวน 7,311 ราย เพิ่มขึ้น 78% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 ที่มีจำนวน 4,102 ราย และเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ การขยายตัวของโครงการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้มีความมั่นใจในการลงทุนทำธุรกิจเพิ่มขึ้น สำหรับธุรกิจที่ตั้งใหม่สูงสุดคือ  ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป  ตามด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร

ทั้งนี้ พบว่ามีการขยายตัวของธุรกิจที่ตั้งใหม่ในส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) ตามการขยายตัวของการลงทุน ทำให้มีการลงทุนในด้านการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงภัตตาคารและร้านอาหาร เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและรองรับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น  สำหรับบริษัทที่เลิกกิจการในเดือนมกราคม 2562 มีจำนวน 1,401 ราย         

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์ในเดือนมกราคม 2562 สามารถผลิตได้ 179,595 คัน เพิ่มขึ้น 8.06% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 81,583 คัน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนมกราคม  2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 78,061 คัน เพิ่มขึ้น 17.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและมาตรการชะลอหนี้สินเกษตรกร

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กล่าวว่า การส่งออกไทยในเดือนมกราคม ปี 2562 มีมูลค่า 18,994 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ติดลบ  5.7%  โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้การค้าชะงักทั่วโลก ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ทำให้สินค้าไทยราคาสูงขึ้น หลายชาติชะลอการนำเข้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว  ยางพารา และมันสำปะหลัง ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงประเทศคู่ค้าหันไปซื้อข้าวจากคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่าแทน

ขณะที่การนำเข้าในช่วงเดือนมกราคม ที่ผ่านมา มีมูลค่า 23,026 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14 % ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 4,032 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน หลายฝ่ายมองว่ายังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีก ผู้ส่งออกจึงต้องให้ความสำคัญกับการทำประกันอัตราแลกเปลี่ยน และเร่งนำเข้าเครื่องจักรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในส่วนของสินค้าเกษตรควรต้องกำหนดราคาขายระยะสั้นเพื่อลดความเสี่ยงลง 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ