กยศ.แจงยึดบ้านจากผู้ค้ำ เป็นไปตามภาระผูกพันทางกฎหมาย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กยศ.ชี้แจง กรณีการยึดบ้านจากผู้ค้ำประกันเงินกู้ ถ้าผู้กู้เบี้ยวหนี้ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นภาระผูกพันตามกฎหมาย

วันนี้ (28 ก.พ.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีผู้ค้ำประกันเงินกู้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. โพสต์ร้องเรียนทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ถูกยึดบ้านหลังจากเคยไปค้ำประกันเงินกู้ยืม กยศ. ให้กับลูกของเพื่อนที่ไม่ยอมชำระหนี้นั้น นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. เปิดเผยว่า กยศ.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า ผู้ค้ำประกันได้ค้ำประกันผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2540 ยอดหนี้เงินกู้ 78,610 บาท ซึ่งครบกำหนดชำระหนี้ในปี 2543 แต่ผู้กู้ยืมไม่เคยติดต่อชำระหนี้จนถูกเบี้ยปรับและมีหนี้ค้างชำระ ต่อมาผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในปี 2551 โดยผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันได้มาศาลและตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อผ่อนชำระเดือนละ 900 บาท ภายในระยะเวลา 9 ปี และศาลได้พิพากษาให้ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันร่วมกันผ่อนชำระหนี้ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามผู้กู้ยืมก็ไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญา จนกระทั่งในปี 2560 กองทุนจึงดำเนินการสืบทรัพย์บังคับคดีทั้งผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน ปรากฏว่าไม่พบทรัพย์ของผู้กู้ยืม แต่พบทรัพย์ของผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบ้านพร้อมที่ดิน กองทุนจึงจำเป็นต้องยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกัน ซึ่งหลังจากการยึดทรัพย์แล้วผู้ค้ำประกันได้ตกลงทำบันทึกข้อตกลงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี เพื่อชะลอการขายทอดตลาดและงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราว โดยผู้ค้ำประกันขอผ่อนจ่ายเดือนละ 6,335 บาท จำนวน 20 งวด จากยอดหนี้ค้างชำระทั้งสิ้น 126,670.86 บาท ซึ่งในขณะนี้กองทุนได้รับทราบจากผู้ค้ำประกันว่าผู้กู้ยืมได้ติดต่อมาเพื่อร่วมรับผิดชอบหนี้สินแล้ว โดยจะร่วมกันผ่อนชำระหนี้ให้กับกองทุน หลังจากนั้นผู้กู้จะไปชำระหนี้ในส่วนที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระแทนไปก่อน

น้ำตาครูวิภา !! ค้ำศิษย์กู้เงิน กยศ. สุดท้ายโดนยึดทรัพย์

“ครูวิภา” เผยลูกศิษย์ติดต่อชำระหนี้ กยศ.สิ้นเดือนนี้ 3 คนจาก 17 คน

ทั้งนี้กองทุนขอชี้แจงว่า ก่อนที่จะมีการบังคับคดีกองทุนพยายามที่จะติดต่อกับผู้กู้ยืมทั้งทางจดหมายและทางโทรศัพท์ และดำเนินการตามขั้นตอนติดตามหนี้จากผู้กู้ยืมมาโดยตลอด แต่เนื่องจากหมายเลขโทรศัพท์ของผู้กู้ยืมไม่สามารถติดต่อได้ อีกทั้งสืบทรัพย์ผู้กู้ยืมไม่พบ และไม่มีชื่อผู้กู้อยู่ในระบบหักเงินเดือน ทำให้กองทุนไม่สามารถหักเงินเดือนได้ และเมื่อมีการตั้งเรื่องบังคับคดีดังกล่าวแล้ว กองทุนได้ส่งจดหมายร่วมกับสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ จัดโครงการไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดีซึ่งได้ส่งจดหมายเชิญผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน เพื่อให้มาไกล่เกลี่ยแต่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันไม่ได้มาเข้าร่วมโครงการ กองทุนจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกันก่อนที่คดีจะขาดอายุความ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ