สนช. มีมติเอกฉันท์ ผ่านร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สนช. มีมติผ่าน พ.ร.บ.ไซเบอร์ ด้วยคะแนน 133 เสียง ด้านกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ยืนยัน ข้อมูลที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าไปตรวจค้น จับกุม ยึดอุปกรณ์ได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล ทำได้ในเฉพาะภาวะวิกฤติที่เป็นภัยร้ายแรงระดับชาติเท่านั้น

เมื่อวันที่ (28 ก.พ. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม วันนี้ ได้ลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือพ.ร.บ.ไซเบอร์ ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ที่มีนางเสาวณี สุวรรณชีพ เป็นประธานเสนอ ด้วยคะแนน 133 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 16 เสียง

สำหรับสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.ฯ นี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และยังให้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) ซึ่งมีรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ สามารถออกคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ดำเนินการได้หลายประการ ตามมาตรา 60 กำหนด เช่น รวบรวมข้อมูล หรือพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินผลกระทบจากภัยคุมคามทางไซเบอร์ เป็นต้น ในกรณีที่ปรากฏแก่    กกม.ว่า เกิดหรือคาดว่าจะเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงด้วย

นายปริญญา หอมเอนก ในฐานะกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อธิบายว่า ข้อมูลที่ถูกส่งต่อกันออกไปเกี่ยวกฎหมายฉบับนี้มีหลายประเด็นไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าไปตรวจค้น จับกุม ยึดอุปกรณ์ได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล เป็นประเด็นที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะในร่างกฎหมายที่ผ่าน สนช.จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการใดๆโดยไม่มีหมายศาลได้ ก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะวิกฤตเท่านั้น ซึ่งมีคำนิยามชัดเจน เช่น มีคนล้มตายจำนวนมาก ระบบข้อมูลของรัฐ สนามบิน หรือระบบของธนาคารล่มทั้งหมด ซึ่งจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเข้าไประงับเหตุก่อน จึงมีหมายศาลตามมา เช่นต้องเข้าไประงับการปล่อยไวรัสที่เข้าไปทำลายระบบ หรือระงับผู้ที่ต้องสงสัยว่ากำลังปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์จนเกิดภาวะวิกฤต พร้อมย้ำว่า ข้อกฎหมายนี้ จะมีผลบังคับกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสารสนเทศ และการจะใช้อำนาจนี้ได้ ต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ กกม.เห็นชอบ

โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน รวมทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง และสภาความมั่นคงแห่งชาติลงนาม และประกาศ ซึ่งนายปริญญา เห็นว่า จริงๆแล้ว รัฐบาลสามารถใช้อำนาจเช่นนี้ได้อยู่แล้วในภาวะวิกฤต ผ่านพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ไม่มีกฎหมายฉบับนี้

นายปริญญา ย้ำว่า ในกฎหมาย แบ่งภัยไซเบอร์ เป็น 3 ระดับ คือ ภัยทั่วไป ภัยร้ายแรง และภาวะวิกฤต ซึ่งในระดับภัยทั่วไป และภัยร้ายแรง หากเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจค้น ต้องมีหมายศาลทุกกรณี จะมีเฉพาะภาวะวิกฤต ซึ่งไม่ต้องมีหมายศาล ตามเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว คือ ต้องระงับเหตุวิกฤตก่อน

ส่วนมาตรา 67 ที่ถูกโจมตีว่า เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดูข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ นายปริญญา บอกว่า มาตรา 67 วรรคหนึ่ง คือ เหตุจำเป็นเร่งด่วนและวิกฤต อย่างที่อธิบายไป ส่วนมาตรา 67 วรรคสอง ที่เขียนว่า ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปข้ดูข้อมูลต่อเนื่องได้ ในกรณี ร้ายแรง “หรือ” วิกฤต เป็นเจตนารมณ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เชื่อว่ากำลังมีการส่งไวรัส หรือ มัลแวร์ได้ และเกิดเหตุอยู่ เช่น ธนาคารไม่สามารถโอนเงินได้ ซึ่งข้อนี้ เป็นการขอข้อมูลมาดูก่อนจะเกิดภาวะวิกฤตตามมา

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ