“เสรี” งัดกฎหมาย ยัน “ประยุทธ์”ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เสรี สุวรรณภานนท์ งัดข้อกฎหมาย ยืนยัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

วันนี้ 4 มี.ค. 2562 นาย เสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนประเทศ (สปท.) และ อดีตเลขาธิการสภาทนายความ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า  ผมได้อ่านความเห็นทางกฎหมายของสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และความเห็นของบุคลอื่นอีก 2-3 คนแล้ว ที่มีความเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขาดคุณสมบัติ ไม่ควรถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ความเห็นดังกล่าว อาจทำให้ประชาชนหรือสังคมสับสนหรือเข้าใจผิดในความเห็นทางกฎหมายของสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยและความเห็นอื่นๆได้ โดยความเห็นทางกฎหมายดังกล่าว คงเป็นเรื่องของการพยายามลดความน่าเชื่อถือหรือลดเครดิตของ พล.อ.ประยุทธ์ฯ เท่านั้น

เฟซบุ๊ก “ลุงตู่” เปลี่ยนสถานะจากเจ้าหน้าที่รัฐ เป็น บุคคลสาธารณะ

ซึ่งผมได้อ่านโดยทั้งหมดของความเห็นทางกฎหมายดังกล่าวแล้ว เห็นว่าเป็นการคลาดเคลื่อนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2560  มาตรา 160  (6) ประกอบมาตรา 98 (15) และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 14 ที่ว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ก็เคยวินิจฉัยอธิบายคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง ที่ได้รับยกเว้นไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (12 ) และการที่เป็นหัวหน้า คสช. ก็มิใช่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามความหมายของรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ว่า คำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”นั้น จะต้องตีความโดยให้มีความหมายคล้ายคลึงกันหรือในแนวเดียวกับคำว่า “พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น” และ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”ตามรัฐธรรมนูญนี้ “จะต้องมีต้องมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ” แต่ตำแหน่งหัวหน้า คสช.เป็นตำแหน่งที่เข้ามาทำหน้าที่ชั่วคราวไม่ได้ปฏิบัติงานประจำ รวมทั้งยังมีอำนาจในตัวเองตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย “ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ”แต่อย่างใด

อีกทั้ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ก็ได้บัญญัติไว้ว่า “ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่” ซึ่งเป็นการยืนยันว่า คสช.ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวดังกล่าว

ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้า คสช. จึงมิใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามความหมายหรือตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 160  และมาตรา 98 (15) ข้างต้น

การที่สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย หรือ บุคคลใด ที่ได้กล่าวอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ดังกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 160  ในการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88  และ มาตรา 89

“ไทยรักษาชาติ-เสรีรวมไทย” ยื่น กกต. ยุบ “พลังประชารัฐ”

 “บิ๊กตู่” ปัดใช้ 250 ส.ว. หวนเก้าอี้ นายกฯ

“บิ๊กตู่” ตอบรับ ลงนายกฯ “พลังประชารัฐ”

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ