อสังหาริมทรัพย์ไทยโค้งสุดท้าย ก่อน ธปท.คุมเข้มสินเชื่อ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




มาตรการคุมเข้มกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ของธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายนนี้ สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับตัวหรือยัง

เมื่อวันที่ (11 มี.ค. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  อสังหาริมทรัพย์อย่าง บ้าน คอนโด ถือเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคน ซึ่งก็มีอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ได้มีซื้อไว้เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ซื้อไว้เพื่อลงทุน เช่น การเก็งกำไร ซื้อมาขายไป จนไปถึงการทำเป็นธุรกิจ ปล่อยเช่า เพียงกู้ซื้อ แล้วปล่อยให้ผู้เช่า เป็นคนผ่อน เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งก็ยังสามารถขายทำกำไรได้อีก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงมีความหอมหวานให้หลายคนกระโดดเข้ามาลงทุน เพื่อหวังจะจับเสือมือเปล่า

แต่จุดนี้เองก็ทำให้เกิดความเสี่ยงอันมหาศาล ที่จะเป็นหนี้เสียขนาดใหญ่ จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ กำหนดให้การปล่อยกู้สำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และบ้านที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ห้ามปล่อยสินเชื่อเกินกว่า 80% ของมูลค่าบ้าน หรือ LTV ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้  ส่งผลให้เกิดทำยอดเร่งโอนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนมูลค่าการโอนที่อยู่อาศัยสูงแตะ 8 แสนล้านบาท

นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย มองว่า มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ที่ซื้ออยู่หลังแรก ฉะนั้นประเภทแนวราบก็จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนคอนโดที่ได้รับผลกระทบมากนั้น ทางผู้ประกอบการได้ปรับตัวไปแล้ว โดยเพิ่มสัดส่วนการขายไปที่ตลาดต่างชาติ 49% โดยเฉพาะลูกค้าชาวจีนที่นิยมเข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทย จนขึ้นเป็นประเทศอันดับอันดับหนึ่งในใจของชาวจีนที่จะเลือกซื้อที่อยู่อาศัยนอกประเทศ

สำหรับตลาดคอนโดมิเนียม ซึ่งถือว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ไปเต็มๆ  แต่นายกสมาคมอาคารชุดไทย มองว่า ความต้องการที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ยังมีอัตราการเติบโตได้ แต่อาจจะติดปัญหาเรื่องมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ สำหรับผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2-3 ที่มีสัดส่วนประมาณ 20-30% ทางผู้ประกอบการมีการปรับพอร์ตการลงทุนไว้แล้ว เมื่อนำยอดการเติบโตที่หายไปมาหักลบกับการขยายตัวของรถไฟฟ้า มีความต้องการในพื้นที่สถานีใหม่ๆเข้ามาทดแทน จึงมองว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงทรงตัวไปถึงระดับเติบโตได้

สอดคล้องกับข้อมูลภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ที่ขยายตัวสูงถึง 15.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวในหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ถึง 17% และภาษีการโอนอสังหาริมทรัพย์ ที่ขยายตัวมากถึง 31%

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ