โลกเปลี่ยน ครูพัฒนา “เพื่อเด็กไทย” ในสถานการณ์โควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โลกที่เปลี่ยนไปเพราะโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบกับแค่เด็กนักเรียนเท่านั้น แต่คุณครูเองก็ต้องมีการปรับและพัฒนาตัวเองในช่วงเวลานี้เช่นกัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตัดสินใจประกาศเลื่อนวันเปิดเทอมปีการศึกษา 1/2563 จากช่วงเดือนพฤษภาคม ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ขณะเดียวกัน ศธ. ให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องในการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิด “โรงเรียนหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้”

โควิด-19 กระทบเด็กอาชีวะ เร่งปรับแผนการเรียน

นั่นทำให้หลายโรงเรียนเริ่มทดลองปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนก่อนเปิดเทอมจริงวันที่ 1 ก.ค. ที่จะถึงนี้ เปิดเป็น New Normal ใหม่ของการเรียนการสอน เพราะเราคงไม่เคยนึกฝันว่า วันหนึ่ง ครูจะต้องสอนแบบไลฟ์สด ตัดต่อวิดีโอโพสต์ลงยูทูบ หรือกระทั่งสร้างเว็บไซต์ให้เด็กเข้าไปเรียน

หนึ่งในนั้นคือโรงเรียนแก่งคอย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ที่ริเริ่มปรับการเรียนการสอนนอกห้องเรียน New Normal หลากหลายรูปแบบให้เข้ากับบริบทในช่วงโควิด-19 ระบาด

ครูนภาศรี อังอินทรสงฆ์ หรือครูแอม สอนรายวิชาประวัติศาสตร์ (สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม) เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เธอมีการสอนที่ค่อนข้างหลากหลายรูปแบบอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่จะใช้การทำกิจกรรมภายในห้อง เน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียน แล้วก็มีการใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอนด้วย

แต่เมื่อโควิด-19 ทำให้นักเรียนไม่สามารถเรียนในห้องเรียนได้ และต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไป ครูแอมจึงตัดสินใจต่อยอดวิธีการเรียนการสอนจากสิ่งที่เคยทำมา

“สื่ออะไรที่เป็นออฟไลน์ เช่น สื่อพาวเวอร์พอยต์ เราก็ต้องมีหน้าที่ทำให้มันเป็นออนไลน์ให้ได้ อย่างเบื้องต้น มีการต่อยอดจากเดิม จากที่ทำเว็บไซต์ไม่เป็นเลย ก็ต้องมีการพัฒนาตัวเอง ขวนขวายหาความรู้ว่าการทำเว็บไซต์เว็บหนึ่ง จะทำได้อย่างไรบ้าง ก็ต่อยอดมาใช้ Google Site เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ให้นักเรียนได้เข้าไปเรียนรู้ แล้วก็ทำ Google Classroom ก็คือมีการเชิญนักเรียนเข้ามาภายในห้อง แล้วก็เอาเว็บไซต์ของเราแปะไปให้นักเรียนแล้วก็เข้าไปเรียนรู้ภายในนั้น แล้วถามว่าเราจะมอบหมายงานได้อย่างไร เราก็จะสั่งผ่าน Classroom ได้” ครูแอมกล่าว

สธ. จับมือ ศธ. เตรียม 6 แนวทาง เปิดเรียนอย่างปลอดภัย

ครูแอมเสริมว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยได้มากในการปรับการเรียนการสอนให้นักเรียนเข้าถึงได้ง่ายแม้ต้องอยู่บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ตัวอย่างเช่น การจัดทำสไลด์พาวเวอร์พอยต์สำหรับการเรียนการสอน ปัจจุบันก็มีฟังก์ชันสนับสนุนให้ครูสามารถบันทึกคลิปวิดีโอการสอนไปพร้อมกับสไลด์ “เราไม่ต้องตั้งกล้อง เพราะโปรแกรม เช่น Microsoft Office 2019 อย่างพาวเวอร์พอยต์ จะมีตัวที่อัดวิดีโอได้เลย สามารถตัดต่อได้ภายในนั้น สามารถอัปโหลดขึ้นยูทูบ แล้วเราก็แปะลิงค์ให้เด็กเข้าไปดูได้ ซึ่งเชื่อว่ายูทูบเด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย เราสอนเด็ก ม.ต้น เราก็เลยต้องเน้นสิ่งที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด เป็นช่องทางที่เด็กคุ้นเคยมากที่สุด

ขณะที่ครูศุภวิชญ์ คนอ้น หรือครูวี สอนรายวิชาคอมพิวเตอร์ก็มีการประยุกต์ใช้โปรแกรม OBS (Open Broadcaster Software) ซึ่งเกมสตรีมเมอร์หลายคนในโลกออนไลน์มักใช้ในการไลฟ์สตรีมเกม นำมาใช้สตรีมการสอนแทน

“มันก็เป็นโอกาสดีที่จะได้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาให้เราได้ฝึกใช้ รวมถึงนักเรียนได้ฝึกใช้ด้วยครับ อย่างช่วงที่ผ่านมา ก็ได้มีการสร้างกลุ่มเตรียมไว้ เพื่อจะได้มีการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ เราได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เหมือนการสตรีมสอนสด ให้เด็กเข้ามาดูไลฟ์ของเรา แล้วก็ถ้าใครมีคำถามก็สามารถถามคำถามเข้ามาได้เลย ... ตอนนี้ครับก็จะใช้สตรีมผ่านเฟซบุ๊ก แต่จะใช้ OBS เข้ามาช่วย เหมือนคนที่สตรีมทั่ว ๆ ไปที่เห็นหน้าจอด้วย เห็นหน้าตัวเองด้วย” ครูวีบอก

รมว.ศึกษาธิการ เผย เรียนออนไลน์แค่ชั่วคราว ชี้ระบบล่ม เพราะคนสนใจเยอะ

ขณะเดียวกัน การจะเลือกสื่อการสอนที่เหมาะสมกับเด็กนักเรียนนั้น ก็ต้องผ่านการสอบถามความคิดเห็นจากตัวผู้เรียนเอง เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด

ครูนิรมล หนุนวงษ์ หรือครูแพรว สอนรายวิชาคณิตศาสตร์ บอกว่า ครูแต่ละคนจะสอบถามความคิดเห็นนักเรียนว่า นักเรียนสะดวกเรียนในช่วงเวลาไหน ชอบการเรียนแบบไหน ซึ่งเบื้องต้นพบว่านักเรียนสะดวกในช่วงเวลาที่ต่างกันมาก นั่นทำให้การสอนแบบไลฟ์สตรีมอาจไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน

“ดังนั้นครูกำลังจะอัดเป็นคลิปวิดีโอลงให้นักเรียน คนไหนว่างตอนไหนก็มาศึกษามาเรียนรู้ แล้วก็จะนัดเวลาที่คุยกัน อาจจะเป็นช่วงเย็นคุยกันสัก 20-30 นาทีเพื่อทบทวนว่ามีตรงไหนที่นักเรียนไม่เข้าใจ หรืออยากจะสอบถาม” ครูแพรวบอก

สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ของครูแพรวก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน เนื่องจากโจทย์คณิตศาสตร์มักต้องมีการแสดงขั้นตอนวิธีทำ บางครั้งเธอจะใช้วิธีการไลฟ์สดผ่านเพจของเธอให้นักเรียนเข้ามาชม และเก็บไลฟ์ไว้ให้เด็กสามารถศึกษาย้อนหลังได้ตลอดเวลา โดยเคยมีประสบการณ์สอนแบบนี้มาบ้างแล้ว โดยเฉพาะช่วงติวสอบให้เด็กนักเรียนชั้น ม.6 หรือ dek63 ที่ผ่านมา นั่นทำให้เธอยังต้องศึกษาเรื่องของโปรแกรมที่ใช้ในการบันทึกและตัดต่อวิดีโอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เธอชำนาญนัก 

นอกจากนี้ การปรับระยะเวลาการเรียนก็มีความสำคัญเช่นกัน ครูวีมองว่า “การสอนออนไลน์ต้องมีการปรับรูปแบบ เพราะหากให้เด็กเรียนเต็มเวลาเหมือนเดิมอยู่หน้าจอจะทำให้เด็กล้า เพราะว่าเด็กวันหนึ่งเรียน 5-6 ชั่วโมง อาจต้องดีไซน์เนื้อหาใหม่ให้กระชับมากขึ้น อาจจะเป็นการสร้างแหล่งการเรียนรู้ให้เขาได้ไปศึกษาด้วยตัวเองบ้าง”

แต่ก่อนหน้านั้น ครูวีบอกว่า ต้องให้เด็กเรียนรู้วิธีการใช้ห้องเรียนออนไลน์ก่อน ในฐานะที่เขาเป็นครูเทคโนโลยี อาจจะจัดการสอนการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เบื้องต้นเพื่อเป็นพื้นฐานให้เด็กได้ใช้ในวิชาต่อ ๆ ไปที่เขาจะได้เรียนทั้งหมด

ขณะที่วิชาคอมพิวเตอร์ของครูวีซึ่งเป็นวิชากึ่ง ๆ ปฏิบัตินั้น ครูวีวางแผนว่า หากจะสอนเกี่ยวกับโปรแกรมใด ก็จะมีอรรถขั้นตอน เหมือนเป็นหนังสือ E-Book แต่ไม่ใช่การอ่าน เป็นการดูวิดีโอขั้นตอนการทำต่าง ๆ “ทีนี้ เด็กแต่ละคนใช้เวลาในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน บางคนเรียนรู้ได้เร็ว บางคนเรียนรู้ได้ช้า บางคนเรียนรอบเดียวได้ บางคนต้องดู 3 รอบถึงจะเข้าใจ เด็กจะได้มีเวลาดูวิดีโอ ศึกษาด้วยตัวเอง เรียนรู้ตามจังหวะการเรียนรู้ของตัวเอง ดูซ้ำได้ ถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็มาปรึกษาครู มันก็มีประโยชน์ที่เราจะเตรียมสื่อไว้ให้นักเรียน”

นอกจากนี้ เรื่องของการให้งาน หรือการบ้าน อาจมีปัญหาเรื่องการที่เด็กส่งไฟล์ให้กัน จึงจะมีการปรับรูปแบบงานที่ให้ อาจจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงใส่ความคิดเห็นของนักเรียนเพิ่มเติม รูปแบบนี้จะทำให้นักเรียนได้วิเคราะห์และคิดด้วยตัวเองมากขึ้น แต่ครูก็ต้องเปิดรับความคิดของนักเรียนด้วย ที่สำคัญมากคือ เมื่อนักเรียนตอบคำถามแล้ว ครูควรมีฟีดแบ็กกลับไป ว่าสิ่งที่เขาตอบเป็นยังไง เหมือนเสริมสร้างกำลังใจให้เขา ที่ครั้งนี้เขาทำได้ ครั้งต่อไปเขาก็จะทำได้เหมือนกัน เขาจะมีแรงกำลังใจในการทำงานต่อไป

ทำความเข้าใจ “การศึกษาทางไกลในช่วงโควิด-19” ก่อนเริ่มเรียน 18 พ.ค. 63 นี้

อย่างไรก็ตาม ครูแพรวยอมรับว่า การเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงทดลองนี้พบปัญหาบางประการเช่นกัน ด้วยความแตกต่างที่พื้นฐานของครอบครัวแต่ละครอบครัวหรือความแตกต่างของนักเรียน การเรียนออนไลน์จึงมีทั้งข้อดีข้อเสีย

“เราต้องเข้าใจนักเรียนว่า นักเรียนบางคนอาจจะไม่พร้อม ช่วงนี้ครูไม่ได้บังคับว่านักเรียนทุกคนต้องมาเข้าโปรแกรมต้องมาตอบของคุณครู เอาที่นักเรียนสะดวก เอาที่นักเรียนพร้อม เอาที่นักเรียนสามารถทำได้ที่จะดูได้ ซึ่งแน่นอน จะมีฟีดแบ็กกลับมา นักเรียนจะบอกว่า ครูคะเรียนดูไม่สะดวกเลย หนูมีมือถือเครื่องเดียว เวลาหนูเรียนจอเล็กค่ะ หนูอยากเปิดเรียนแล้ว ก็มีค่ะ”

ส่วนครอบครัวที่อาจไม่มีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ดิจิทัลนัน ครูแพรวอธิบายว่า โรงเรียนมีการวางแผนจะนำหนังสือ เอกสารประกอบการเรียนต่าง ๆ ไปส่งมอบให้กับนักเรียน และจะมีการลงพื้นที่ไปเยี่ยมนักเรียนเป็นระยะเพื่อติดตามผลและหาวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม

ระบบหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียนแก่งคอยคือ โรงเรียนให้ครูที่ปรึกษาทุกห้อง ตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊ก เพื่อที่นักเรียนจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มนั้น จากนั้นก็เชิญครูประจำรายวิชาทุกคนที่สอนห้องนั้นเข้าไปอยู่ในกลุ่ม พอเข้าไปเสร็จแล้ว คุณครูก็จะแจ้งช่องทางการเรียนรู้ของครู แต่ทุกอย่างต้องมารวมที่กลุ่ม ๆ เดียวก่อน เสร็จแล้วนักเรียนก็ไปเชื่อมโยงกับครูแต่ละท่าน ด้วยวิธีการนี้ ครูประจำชั้นก็จะทราบว่านักเรียนของเราแต่ละเป็นยังไง เป็นการช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน

"เรียนออนไลน์" สะท้อนเหลื่อมล้ำ? กับทางออก “การศึกษาไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19”

สถานการณ์โควิด-19 นี้ ทำให้ครูต้องปรับตัวไม่น้อย แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาแม้แต่น้อยกับคณะครู เพราะทุกอย่างล้วนทำ “เพื่อนักเรียน”

ครูวีบอกว่า “ปรับตัวเยอะมากเลยครับ เพราะว่าที่ผ่านมาไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องมาอัดหน้าจอการสอนของตัวเอง ทำให้ต้องไปดูว่าโปรแกรมไหน ต้องคิดเผื่อครูที่โรงเรียนว่า ครูแต่ละคนจะใช้อะไรดีที่เหมาะกับครูแต่ละคน และเหมาะสมกับนักเรียนเรา เข้าถึงได้ง่าย อันนี้สำคัญมาก นักเรียนต้องเข้าถึงสื่อที่เราเตรียมไว้ได้ง่าย เพราะว่าถ้าทำไว้แล้วนักเรียนเข้าไม่ได้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย อันนี้เราก็ไปหาความรู้ บวกกับที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย มาให้การอบรมการใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ”

ครูแอมเสริมว่า “เราเจอเพจต่าง ๆ ที่แชร์คลิปการสอน การทำเว็บไซต์ การใช้เทคโนโลยี การทำยังไงให้รูปแบบการสอนน่าสนใจ เราก็ไปดูตัวอย่างจากเขามา แล้วก็เอามาปรับใช้กับการเรียนการสอนของเรา”

ซึ่งทั้งหมดนี้ คุณครูมองว่าไม่ใช่ภาระแต่อย่างใด แต่เป็นความท้าทายของวิชาชีพครูว่า “จะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนยังคงได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานแม้ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด”

ครูแพรวกล่าวว่า “เราก็ต้องเรียนรู้ตามยุคสมัยที่มันพัฒนาขึ้น คือด้วยความที่เราไม่รู้ว่าวันที่ 1 ก.ค. เราจะได้เปิดโรงเรียนจริง ๆ มั้ย ซึ่งถ้าเราไม่ได้เปิด เด็กจะต้องปิดภาคเรียนต่อก็คงไม่ได้ เพราะว่าเด็กก็จะต้องหยุดการเรียนรู้ไป จริง ๆ มันมีช่วงรอยต่อของการหยุดการเรียนรู้ เหมือนเด็กหยุดพัฒนาไปอีก เราก็อยากให้เด็กได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เหมือนเราอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เราไม่อ่านนานเราก็ลืม เราก็อยากให้เด็กได้พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด”

ด้านครูแอมก็บอกด้วยความภาคภูมิใจว่า “โดยส่วนตัวคิดว่า ครูเป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่เราไม่มีทางจะหยุดพัฒนาตัวเองได้ เพราะฉะนั้นการที่มีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามามันเป็นอีกความท้าทายหนึ่ง ที่คนเป็นครูจะสามารถฝ่าวิกฤตตรงนี้ไปได้อย่างไรบ้าง ฉะนั้นมองว่ามันเป็นเรื่องของความท้าทาย ไม่ได้รู้สึกว่ายากลำบากหรืออะไรเลย มันทำให้เราพบวิธีการใหม่ ๆ ได้พัฒนาศักยภาพตัวเอง ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเราสามารถสอนได้ เราสามารถเรียนรู้ได้ เพราะโลกของการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม พื้นฐานความพร้อมและการสนับสนุนจากโรงเรียนแต่ละแห่งมีมากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งภาพของโรงเรียนแก่งคอย ไม่สามารถแทนภาพของโรงเรียนทั้งระบบได้อย่างแน่นอน ดังนั้นแล้ว ขอเป็นกำลังใจให้ครูทั่วประเทศ ฝ่าวิกฤตและเอาชนะความท้าทายของการเรียนการสอนแบบ New Normal ในช่วงโควิด-19 นี้ไปให้ได้ “เพื่ออนาคตของเด็กไทย”

“มหิดล” แนะ การศึกษาไทยอย่าหนีขึ้นแต่ออนไลน์ควรปรับหลักสูตร “สร้างภูมิคุ้มกัน”

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ