ปีนี้ฝนชุก? รวมพายุปี 2563 บุกไทย 11 ลูก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นิวมีเดีย PPTV รวบรวมพายุ “มีชื่อ” ที่สร้างผลกระทบให้กับประเทศไทย ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมาจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน

วิจัยพบ โลกร้อนทำให้พายุเฮอริเคนแข็งแกร่งขึ้น สลายตัวช้าลง

ประชาชนบางส่วนอาจมีความรู้สึกว่า สภาพอากาศของประเทศไทยปี 2563 นี้ มีฝนตกหนัก เกิดอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บ่อยครั้ง ซึ่งนั่นเป็นเพราะปีนี้ มีพายุที่ส่งอิทธิพลต่อไทยมากถึง 11 ลูก

โดยทั่วไป ประเทศไทยมักได้รับอิทธิพลจากพายุใน 2 เขต คือ พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรอินเดียฝั่งซีกโลกเหนือ (อ่าวเบงกอล-อันดามัน) และ พายุหมุนเขตร้อนในโซนไต้ฝุ่น ฟากตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก

สำหรับ พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรอินเดียฝั่งซีกโลกเหนือ ที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยในปี 2563 นี้ มีอยู่ 1 ลูก คือ

ซูเปอร์ไซโคลนอำพัน (Amphan) 16 – 21 พฤษภาคม

วันที่ 16 พฤษภาคม มีพายุดีเปรสชันก่อตัวขึ้นทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวเบงกอล

6 ชั่วโมงต่อมา กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) ได้ยกระดับให้เป็นพายุดีเปรสชันหมุนเร็ว ต่อมาพายุทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน ได้รับชื่อว่า “อำพัน”

เกิดแผ่นดินถล่มและน้ำท่วมในบางส่วนของอินเดียและศรีลังกา กระทั่งวันที่ 17 พฤษภาคม พายุไซโคลนอำพันทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนกำลังแรงมาก

12 ชั่วโมงให้หลัง ตาพายุของอำพันพัฒนาความเร็ว และเริ่มทวีกำลังแรงขึ้นจนกลายเป็นพายุไซโคลนกำลังแรงอย่างมาก

ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมระบุว่า พายุอำพันนี้ลักษณะเป็น “การก่อพายุหมุนระเบิด (Explosive Cyclogenesis)” คือพัฒนาความรุนแรงจากพายุไซโคลนเทียบเท่าระดับ 1 เป็นพายุไซโคลนเทียบเท่าระดับ 4 ภายใน 6 ชั่วโมง

ต่อมา พายุอำพันได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุซูเปอร์ไซโคลน โดยมีความเร็วลมต่อเนื่องที่ 240 กม./ชม. นับเป็นปีที่สองติดต่อกันแล้วที่มีพายุในระดับพายุซูเปอร์ไซโคลน

สำหรับประเทศไทย ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคตะวันตกและภาคใต้ ที่จะมีฝนตกหนักและฝนตกสะสม รวมทั้งคลื่นลมแรงทั้งสองชายฝั่ง

"ประวิตร" สั่งทุกฝ่ายเตรียมรับมือพายุไซโคลน “อำพัน”

ส่วน พายุหมุนเขตร้อนในโซนไต้ฝุ่น ฟากตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีอิทธิพลกับสภาพอากาศของไทยนั้น มีอยู่ 10 ลูก บางลูกทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสร้างความเสียหายมหาศาล

สำหรับชื่อพายุโซนไต้ฝุ่น จะตั้งโดยประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 14 ประเทศ รวมถึงไทย ประเทศละ 10 ชื่อ รวมเป็น 140 ชื่อ โดยตั้งไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดพายุที่เข้าข่ายรุนแรง ก็จะนำชื่อที่ตั้งไว้มาใช้เรียงลำดับกันไป

สำหรับพายุหมุนเขตร้อนในโซนไต้ฝุ่น ตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ส่งผลกระทบถึงประเศไทย ประจำปี 2563 มีดังนี้

พายุโซนร้อนนูรี (Nuri) 10 – 14 มิถุนายน 2563

พายุโซนร้อนนูรี ก่อตัววันที่ 10 มิถุนายน ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ เป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนกำลังอ่อน ต่อมา ทวีกำลังเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน และทวีกำลังแรงขึ้นในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก กลายเป็นพายุโซนร้อนในที่สุด ทำให้ในวันที่ 12 มิถุนายน กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นตั้งชื่อให้กับพายุลูกนี้ว่า “นูรี” ซึ่งตั้งโดยมาเลเซีย มีความหมายว่า “นกแก้ว”

นูรีมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กม./ชม. เคลื่อนผ่านบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 13-16 มิถุนายน ประเทศไทยได้รับผลกระทบบางส่วน ทำให้มีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง  โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

ทั้งนี้นูรีอ่อนกำลังลงตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน และกลายเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนในวัดถัดมา

พายุโซนร้อนซินลากู (Sinlaku) 31 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม

วันที่ 29 กรกฎาคม เกิดพื้นที่ความแปรปรวนเขตร้อนห่างจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ไปทางตะวันออกหลายร้อยกิโลเมตร ก่อนเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกมุ่งหน้าสู่ทะเลจีนใต้ โดยบริเวณทะเลจีนใต้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาไปเป็นพายุ เนื่องจากแนวปะทะอากาศเหมยหยูที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้นสลายตัวลง

กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นยกระดับความแปรปรวนดังกล่าวเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน และพายุได้รวบรวมพลังงานในช่วงต้นของวันที่ 31 กรกฎาคม จนทวีกำลังเป็นพายุโซนร้อนในวันถัดมา และได้รับชื่อว่า “ซินลากู” ตั้งโดยประเทศไมโครนีเซีย เป็นชื่อเทพธิดาแห่งธรรมชาติและสาเก (ไม้ผล) ตามความเชื่อของชาวเกาะคอสไร

จากนั้นไม่นาน ซินลากูเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ เหนือทะเลจีนใต้โดยไม่มีการทวีกำลังแรงขึ้น และพัดขึ้นฝั่งใกล้อ่าวฮาลองภาคเหนือของเวียดนาม จากนั้นจึงอ่อนกำลังลงขณะพัดผ่านพื้นที่ภูเขาสูงของเวียดนาม

ซินลากูทำให้เกิดฝนตกอย่างหนักทั่วทั้งภาคกลางและภาคเหนือของประเทศเวียดนาม เกิดอุทกภัย มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 คน บ้านเรือนนับหลายพันหลังคาเรือนประสบอุทกภัย พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายอเป็นวงกว้าง

จากนั้นซินลากูที่อ่อนกำลังลงได้พัดผ่านประเทศไทย มีฝนตกหนัก เกิดวาตภัย อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินจำนวนมาก และเหตุอุทกภัยทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน

ฟ้าหลังฝน KODAK จากฟิล์มถ่ายรูปสู่อุตสาหกรรมยา ดันหุ้นพุ่งกว่า 300%

พายุโซนร้อนโนอึล (Noul) 14 – 19 กันยายน

วันที่ 15 กันยายน ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้แจ้งเตือนพบการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนในทะเลฟิลิปปินส์ ต่อมากรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ยกระดับให้เป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน

ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา พายุดีเปรสชันได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อสากลจากกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นว่า “โนอึล” ตั้งโดยเกาหลีเหนือ หมายถึง “สวนดอกไม้”

โดยหลังจากอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว โนอึลได้เคลื่อนตัวไปทางตะวันตก และเข้าสู่มหาสมุทรอินเดียต่อไป

โนอึลมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 18-20 ก.ย. 2563 ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโนอึล เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก วาตภัย และดินสไลด์ รวม 29 จังหวัด 121 อำเภอ 236 ตำบล 439 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล มีประชาชนได้รับผลกระทบ 2,141 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย

สังเวยพายุโนอึล หนุ่มลงเก็บเครื่องสูบน้ำที่ถูกน้ำท่วม ขากลับว่ายน้ำหมดแรง จมน้ำดับ

พายุโซนร้อนหลิ่นฟา (Lian Hua) 9 – 11 ตุลาคม

พายุโซนร้อน “หลิ่นฟา” ตั้งชื่อโดยฮ่องกง มีความหมายว่า “ดอกบัว” ก่อตัวตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม แล้วทวีกำลังเคลื่อนผ่านบริเวณเมืองกวางนาม ประเทศเวียดนาม มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากทางด้านตะวันออกของ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ประมาณ 350 กิโลเมตร

หลิ่นฟามีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อมาอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ตามลำดับ ทำให้ด้านตะวันออกและตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือขแงประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น ที 9 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งและมีลมแรง

ขณะที่ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 11–12 ตุลาคม 2563 มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

เตือน 9 จังหวัดอีสานเตรียมรับมือ “พายุหลิ่นฟา”

พายุโซนร้อนนังกา (Nangka) 11 – 16 ตุลาคม

พายุโซนร้อน “นังกา” ตั้งชื่อโดยประเทศมาเลเซีย มีความหมายว่า “ขนุน” เคลื่อนผ่านบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 100 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

พายุโซนร้อนนังกาไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศไทย แต่ช่วงวันที่ 14–15 ตุลาคม 2563 มีฝนเพิ่มขึ้นในบริเวณด้านตะวันออก และตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

ไต้ฝุ่นโซเดล (Saudel) 18 – 26 ตุลาคม

วันที่ 18 ตุลาคม ความแปรปรวนเขตร้อนก่อตัวบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก จนพัฒนาเป็นพายุโซนร้อน “โซเดล” ตั้งชื่อโดยประเทศไมโครนีเซีย เป็นชื่อหัวหน้าเผ่าในตำนานของเกาะโปนเป

โซเดลเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 24-25 ตุลาคม แล้วอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบกับประเทศไทยช่วง 25-26 ตุลาคม ส่งผลทําให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนกับมีลมแรงใน 5 จังหวัด คือบริเวณจังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร อํานาจเจริญ และอุบลราชธานี

ไต้ฝุ่นโมลาเบ (Molave) 23 – 29 ตุลาคม

พายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” ตั้งชื่อโดยประเทศฟิลิปปินส์ เป้นชื่อไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่งใช้ทำเครื่องเรือน เคลื่อนตัวบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โมเลาเบเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้ประเทศไทยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนตกหนักกับมีลมแรง

ฝนที่ตกต่อเนื่องจากอิทธิพลพายุโมลาเบ ทำให้สถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดนครราชสีมาเข้าขั้นวิกฤต หลังก่อนหน้านั้นได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำจากเขื่อน ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นและขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้น โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ละแวกลำน้ำมูลที่มีน้ำไหลหลากเข้าท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 60 เซนติเมตร

“พายุโมลาเบ” ทำน้ำมูลเพิ่มสูง ทะลักท่วมบ้านเรือนกว่า 50 หลัง

พายุโมลาเบ ซ้ำน้ำท่วม อ.โนนสูง โคราช

ไต้ฝุ่นโคนี (Goni) 26 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน

พายุไต้ฝุ่น “โคนี” ตั้งชื่อโดยเกาหลีใต้ แปลว่า “หงส์” เดิมเป็นพายุระดับ 5 หรือซูเปอร์ไต้ฝุ่น ซึ่งมีระดับความรุนแรงมากที่สุดในปีนี้ มีความเร็วลมเฉลี่ย 215 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเร็วลมกระโชกแรงถึง 265 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

หลังจากนั้นช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน โคนีอ่อนกำลังลงกลายเป็นไต้ฝุ่น และพายุโซนร้อน ตามลำกับ โดยเคลื่อนจากทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลาง ก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 และอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชา ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกของประเทศไทย มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง

พายุโซนร้อนเอตาว (Etau) 7 พฤศจิกายน – ปัจจุบัน

พายุโซนร้อนเอตาวเคลื่อนผ่านบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากทางด้านตะวันออกของเมืองนาตรัง ประเทศเวียดนาม ประมาณ 320 กิโลเมตร มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เอตาวเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ในวันที่ 10 พฤศจิกายน หลังจากนั้นอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณประเทศกัมพูชา ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกของประเทศ มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง

“เอตาว” เป็นคำในภาษาชาวเกาะปาเลา หมายถึง “เมฆพายุ”

พายุโซนร้อนหว่ามก๋อ (Vamco) 8 พฤศจิกายน – ปัจจุบัน

พายุหมุนเขตร้อนในโซนไต้ฝุ่นลูกล่าสุด ก่อตัวเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  มีความรุนแรงระดับ 4 เป็นพายุโซนร้อนรุนแรง มีชื่อว่า “หว่ามก๋อ” ตั้งชื่อโดยประเทศเวียดนาม เป็นชื่อของแม่น้ำสายหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศ

หว่ามก๋อกำลังเคลื่อนผ่านบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นและเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามประมาณวันที่ 15 พฤศจิกายน นี้ หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ

เบื้องต้นยังไม่มีรายงานคาดการณ์ความรุนแรงหรือผลกระทบของพายุลูกนี้ที่จะมีต่อประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ประกาศเตือน! พายุลูกใหม่ “หว่ามก๋อ” พายุโซนร้อนรุนแรง ความเร็วสูง อุตุฯแจ้งเกาะติดสถานการณ์

ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก ปี 2563 เป็นเหตุการณ์ในรอบวัฏจักรของการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนในปัจจุบันของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ฤดูกาลดังกล่าวลากยาวตลอด พ.ศ. 2563

หากนับรวมจำนวนพายุในโซนไต้ฝุ่น ซึ่งเป็นโซนที่ประเทศไทยมักได้รับผลกระทบ พบว่าในปี 2563 นี้ มีพายุโซนไต้ฝุ่นเกิดขึ้นทั้งหมด 29 ลูก เป็นพายุ “มีชื่อ” ที่มีความเร็วลมที่รอบศูนย์กลางพายุที่สูงสุด 10 นาที อย่างน้อย 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวน 22 ลูก จากประเทศที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด มีผู้เสียชีวิตจากพายุเหล่านี้รวม 252 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 1,315.59 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.97 หมื่นล้านบาท)

พายุโซนไต้ฝุ่นแปซิฟิกส่วนใหญ่จะก่อตัวขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ฤดูกาล 2563 นี้จึงเป็นฤดูกาลที่เงียบสงบอย่างผิดปกติ นอกจากนี้ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมยังบันทึกว่าไม่มีพายุเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมเลย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติที่น่าเชื่อถือได้มา ขณะที่พายุลูกแรกของฤดูกาลก่อตัวขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งถือว่าเริ่มช้ากว่าที่เคยเป็นมา

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปี 2562 พบว่า จำนวนพายุโซนไต้ฝุ่นในปีนี้ลดลงไปเกือบครึ่ง ปีที่แล้วมีพายุโซนไต้ฝุ่นทั้งหมดถึง 52 ลูก คร่าชีวิตผู้คน 388 ราย มูลค่าความเสียกว่า 3.41 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.03 ล้านล้านบาท)

 

เรียบเรียงจาก กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น / ศูนย์ร่วมการเตือนภัยไต้ฝุ่น

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ