นักวิชาการซัด รัฐล้มเหลวเตือนภัยน้ำท่วม ทั้งที่มีข้อมูลเพียงพอ ทำปชช.รับมือวิกฤตไม่ทัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ เผยเหตุน้ำท่วมที่นครศรีธรรมราช มีหลายปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์รุนแรง ทั้งจากปรากฎการณ์ลานินญาปลายปี และการบริหารจัดการด้านภัยพิบัติที่ไม่ตอบโจทย์ และหน่วยงานรัฐไม่สื่อสารกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

ใต้อ่วม! น้ำท่วม 9 จังหวัด จมบาดาล 2 พันหมู่บ้าน เดือดร้อนกว่า 2 แสนคน

รวมช่องทางต่อติดช่วยเหลือ-รับบริจาค จากวิกฤตน้ำท่วมภาคใต้

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2563 รองศาสตราจารย์เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช มาจากฝนที่ตกหนัก จากปรากฎการณ์ลานินญาปลายปี ซึ่งจะเกิดขึ้น 4-5 ปี ครั้ง ซึ่งครั้งนี้คล้ายๆ กับปี 2553 ที่ฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีปริมาณมาก  ส่วนที่มีน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากอย่างรวดเร็ว นอกจากสภาพพื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางที่ดิน ป่า เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อความรุนแรง เช่น ที่ ต.คีรีวง อ.ลานสกา เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน และกลับมาอีกครั้งในปีนี้ สะท้อนให้เห็นชัดว่าการทำลายป่าและปลูกสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ ส่งผลให้น้ำป่าไหลหลากลงไปถึงพื้นที่ที่ต่ำกว่าเร็วขึ้น

อาจารย์เสรี กล่าวต่อว่า อีกปัจจัยที่ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไม่สามารถรับมือกับน้ำป่าไหลหลากได้ทัน เพราะไม่มีระบบเตือนภัยโดยตรง และกว่าจะอพยพออกจากพื้นที่ น้ำป่าก็มาถึงแล้ว สะท้อนความล้มเหลวของหน่วยงานรัฐอย่างชัดเจน แม้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติทั้งในสถาบันการศึกษาและหน่วยงานของรัฐ จะมีเพียงพอ แต่ยังมีช่องว่างในการนำข้อมูลไปใช้ การประสานงานระหว่างหน่วยงานระดับท้องถิ่น กับ ส่วนกลาง ก็ยังไม่ตอบโจทย์

ทั้งนี้ข้อมูลจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ระบุว่า สถานการณ์ตั้งแต่พรุ่งนี้ 4 ธ.ค. ถึง 8 ธ.ค. ฝนภาคใต้จะลดลงมาก แต่ยังต้องจับตาเฝ้าระวังภาคใต้ปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า หลังกรมอุตุนิยมวิยาคาดว่าจะมีฝนมากกว่าค่าปกติถึง 20 เปอร์เซ็นต์

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า พื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยมี 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 62 อำเภอ 323 ตำบล 2,186 หมู่บ้าน ซึ่งจากการติดตามภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ Gistda  เมื่อเทียบกับวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า น้ำท่วมขังเริ่มลดลงในหลายพื้นที่ เช่น จ.นครศรีธรรมราช ลดลงกว่า 6 หมื่นไร่ มีพื้นที่น้ำท่วม 153,852 ไร่ อ.หัวไทร และร่อนพิบูลย์  มีพื้นที่น้ำท่วมมากที่สุด ขณะที่ จ.สงขลา ลดลงประมาณ 15,000 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมอยู่ที่ 62,000 ไร่ โดย อ.ระโนด ได้รับผลกระทบมากที่สุด และตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 8 ธันวาคม ฝนจะลดลงอย่างมาก จากอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยอ่อนกำลังลง และการคาดการณ์แนวโน้มฝนที่จะเพิ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม แต่จะไม่รุนแรง และตกหนักเป็นแห่ง ๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ขณะที่การคาดการณ์ปริมาณฝนภาพรวมในระยะ 3 เดือนต่อจากนี้ (ธ.ค.63 -ก.พ.64) ภาคใต้จะมีฝนมากกว่าค่าปกติประมาณ 20% แบ่งเป็น ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ประมาณ 350-530 มิลลิเมตร (ค่าปกติ 368 มม.) ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ประมาณ 100-210 มิลลิเมตร (ค่าปกติ 129 มม.) ซึ่งต้องการติดตาม เฝ้าระวัง เตรียมแผนป้องกันผลกระทบอย่างต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่น้ำท่วมในปัจจุบันด้วย

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือน ยังมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะบริเวณที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มต่าง ๆ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ