บก.Spaceth ตอบคำถาม ยานไทยไปดวงจันทร์ได้อะไร


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันข้ามวันข้ามคืน หลังรมว.อุดมศึกษาฯ ประกาศกลางวงแถลง โครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” ของมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรซ์ ที่หอประชุมจุฬา ว่า ภายใน 7 ปี ไทยจะส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ นับเป็นชาติที่ 5 ในเอเชีย

“เอนก” ลั่น ไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเซีย ผลิตยานอวกาศส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์

อินเดียเตรียมส่งยานสำรวจผิวดวงจันทร์ครั้งแรก เม.ย.นี้

หลังรัฐมนตรี เปิดเผยความลับนี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่าง ๆ ก็ตามมาติด ๆ เช่น นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ “ก่อนจะผลิตยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ หารายรับเข้าประเทศให้พอรายจ่ายก่อน หรือ ทำให้คนจนมีชีวิตขั้นพื้นฐานให้ปกติก่อน อย่าบอกนะว่าจะกู้อีก”

ขณะที่ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทวีตภาพตอม่อ โครงการโฮปเวลล์ พร้อมข้อความ ฐานยิงพร้อมนานแล้ว รอแค่บั้งไฟไปดวงจันทร์

ด้าน นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรครวมพลังประชาติไทย บุตรชายของ ดร.เอนก โพสต์ข้อความใจความว่า อย่ากลัวที่จะฝัน อย่ายอมจำนนให้กับผู้ที่คิดลบ สิ่งสำคัญต้องเปลี่ยนทัศนคติให้รู้ว่าประเทศไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร เรามีคนเก่งคนดีไม่แพ้ชาติอื่นใดในโลก ถ้าเรารวมตัว รวมพลังรวมใจกันได้ ไม่มีอะไรหรอกที่เป็นไปไม่ได้ ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง

คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ทำไมไทยต้องส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ ไปเพื่ออะไร และทำได้หรือไม่ นายณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการสื่อออนไลน์ Spaceth.co ตอบว่า ทำได้ และไม่ใช่เรื่องยาก เพราะสเกลงานใช้งบหลักล้านบาทถึงร้อยล้านบาท

ส่วนคำถามว่า ทำไปเพื่ออะไร นายณัฐนนท์ บอกว่า การสำรวจดวงจันทร์จะทำให้มนุษยชาติรู้จักตัวเอง และนำสิ่งที่ได้จากการสำรวจกลับมาพัฒนาตัวเอง ซึ่งเป็นงานระยะยาวในอีก 20-30 ปีข้างหน้า

นายณัฐนนท์ เห็นว่า โมเดลการพัฒนาอวกาศไทย ต้องเกิดจากการที่เรามีเป้าหมายร่วมกัน ทำอะไร เพื่ออะไร สังคมจะได้อะไร และคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีวาระทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะขนาดการไปดวงจันทร์ของสหรัฐอเมริกาหรือรัสเซียก็ยังมีวาระทางการเมือง

ที่ผ่านมา มนุษยชาติมีความพยายามที่จะขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์มาแล้วหลายครั้ง ไล่เรียงดูจะพบว่า สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา แข่งขันช่วงชิงความเป็นหนึ่งกันมาตลอด นับตั้งแต่ช่วงปี 1950 เป็นต้นมา

ภารกิจของสหภาพโซเวียต จะเน้นส่งยานสำรวจที่ไม่มีนักบิน ขึ้นไปเก็บตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์กลับมายังโลก โดยยานลูน่า 2 ถือเป็นยานอวกาศลำแรกที่ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์

ขณะที่ สหรัฐฯ จะเป็นภารกิจใช้นักบินอวกาศ ภายใต้ชื่อโครงการ "อะพอลโล" มี "นีล อาร์มสตรอง" จากยานอะพอลโล 11 สร้างประวัติศาสตร์เป็นมนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์

ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้หลายประเทศตื่นตัวและหันมาริเริ่มโครงการพิชิตอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น องค์การอวกาศยุโรป จีน อินเดีย และลักเซมเบิร์ก ที่สามารถส่งยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดยจีนเป็นชาติที่ 3 ที่นำยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ ต่อจากสหภาพโซเวียต และสหรัฐฯ

ส่วนอิสราเอล เมื่อปีที่แล้ว ตั้งเป้าจะเป็นชาติที่ 4 ที่ลงจอดบนดวงจันทร์ แต่ภารกิจไม่สำเร็จ ส่วนเอเชียก็มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ อินเดียเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ยังยากจน แต่อินเดียก็ผลักดันเทคโนโลยีอวกาศต่าง ๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายชัดเจนที่จะบอกว่าอินเดียจะมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง หรือกรณีของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พยายามเข้ามามีบทบาทในการทำงานอวกาศ เพื่อเป้าหมายคือ ต้องการที่จะประกาศความยิ่งใหญ่ให้แก่ชนชาติอาหรับว่าครั้งหนึ่งชาวอาหรับเคยเป็นผู้นำด้านวิทยาการให้กับโลก

ผู้สื่อข่าวพีพีทีวีติดต่อไปที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ได้รับการยืนยันว่ามีโครงการนี้จริง แต่ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ โดยทางรัฐมนตรีฯ จะเป็นผู้แถลงข่าวเรื่องนี้อีกครั้ง

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ