13 มกราคม “วันการบินแห่งชาติ” ความปรารถนาในการบิน สู่นกเหล็กผู้ปกป้องน่านฟ้าไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันการบินแห่งชาติเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง ย้อนดูจุดเริ่มต้นการบินในไทย กับพัฒนาการในปัจจุบันของเครื่องบินจู่โจมที่คอยปกป้องน่านฟ้าไทย

ยอดตายเครื่องบินตกเพิ่มขึ้นแม้ในยุคโควิด-19

กพท.ประกาศห้ามกินอาหารบนเครื่องบิน

“การบิน” เป็นหนึ่งในความฝันของมนุษยชาติ ซึ่งถ่ายทอดกันมาตั้งแต่ความเชื่อในอดีตอย่าง “อิคารัส” จากปกรณัมกรีก หรือ “วิมานะ” จากตำนานมหาภารตะของอินเดีย และมีบันทึกทั้งเชิงการทดลองและเรื่องแต่งมากมายที่ตกทอดบอกเล่าถึงความปรารถนาในการบินของมนุษย์

กระทั่งการบินสู่ท้องฟ้าของพี่น้องตระกูลไรต์ในปี 1903 ได้รับการยอมรับโดย Fédération Aéronautique Internationale (FAI) ว่าเป็น "การบินขับเคลื่อนด้วยกำลังด้วยยานที่หนักกว่าอากาศอย่างต่อเนื่องและควบคุมได้เป็นครั้งแรก”

หลังจากนั้น การบินก็พัฒนามาเรื่อย ๆ จากความปรารถนาที่จะได้โบยบินแบบนก มาสู่การใช้ประโยชน์ของเครื่องบินในด้านต่าง ๆ ที่หลากหลาย

ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มองเห็นความสำคัญของการบิน โดยพระวิสัยทัศน์ของ จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อปี พ.ศ.2454 ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบินที่ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ

ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบดังนั้น จึงรับสั่งให้นายทหาร 3 นาย คือ พลอากาศโทพระยาเฉลิมอากาศ นาวาอากาศเอกพระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอกพระยาทะยานพิฆาต ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส

ในระหว่างที่นายทหารทั้ง 3 นายเดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น ทางการก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรกจากฝรั่งเศส มาจำนวน 7 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง เข้าไว้ประจำการ นอกจากนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยังได้อุทิศทรัพย์ส่วนตัว ซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้ราชการไว้ใช้งานอีก 1 ลำ ด้วยเห็นว่าเครื่องบินสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางราชการได้ ทำให้ในยุคแรก ประเทศไทยมีเครื่องบินประจำการ จำนวน 8 ลำ

หลังสำเร็จการศึกษานายทหาร นักบินทั้ง 3 นาย ได้กลับมาทดลองบินครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งนายทหารนักบินทั้ง 3 นาย สามารถขับเครื่องบินและร่อนลงจอดได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชมจำนวนมากที่มารอชม เนื่องจากในสมัยนั้น การขึ้นบินบนท้องฟ้าถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ผู้ที่สามารถขับเครื่องบินได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ และถือเป็นเกียรติประวัติที่ควรได้รับการสรรเสริญ

ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาแผนกการบินขึ้นในกระทรวงกลาโหม เป็นผลให้กิจการการบินไทยได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ จากนั้นในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน โดยมีนายทหารนักบินขึ้นแสดงการบินถวายและโปรยกระดาษถวายพระพรชัยมงคล ในการนี้ก็มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ และประชาชนมาร่วมเฝ้าเสด็จและชมการแสดงการบินในครั้งนี้ด้วย

จึงกล่าวขานกันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้านายในอดีต ทรงเป็นผู้ริเริ่มและมีสายพระเนตรยาวไกลต่อกิจการการบิน กระทั่งได้รับการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี ขอให้กำหนดวันการบินแห่งชาติขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อกิจการการบินของชาติ

กระทั่งในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2537 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 13 มกราคมของทุกปีเป็นวันการบินแห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2538 เป็นต้นมา

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงเห็นความสำคัญของการบินในการปกป้องประเทศ และพระเอกของทัพฟ้าไทยปัจจุบันคงหนีไม่พ้น เครื่องบินขับไล่-โจมตีแบบอเนกประสงค์ “ยาส 39 กริพเพน (JAS-39 Gripen)”

เครื่องดังกล่าวมีสมรรถนะสูง ใช้เครื่องยนต์ RM12 ของ Volvo พื้นฐานจากเครื่องยนต์ F-404 ของเจเนอรัล อิเล็กทริก แรงขับสูงสุด 18,000 ปอนด์ เมื่อเปิดสันดาปท้าย ระบบเรดาร์ PS-05/A ของอิริคสัน

ความยาวลำตัว 14.1 เมตร สูง 8.4 เมตร น้ำหนักตัวเปล่า 5,700 กิโลกรัม น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด 14,000 กิโลกรัม น้ำหนักบรรทุก 8,000 กิโลกรัม ปริมาณเชื้อเพลิงภายในลำตัว 3000 ลิตร

พิสัยบิน (บินไกล) 3,000 กิโลเมตร เพดานบินปฏิบัติการ 15,000 เมตร ความเร็วสูงสุด มัค 2.0 ภาระกรรมสูงสุด -3 ถึง +10 จี ระยะทางวิ่งขึ้น 400 เมตร ระยะทางร่อนลง 600 เมตร

นับว่าเป็นอีกหนึ่งอินทรีเหล็กที่น่าเกรงขาม และยังคงขึ้นบินตามงานต่าง ๆ ให้ประชาชนได้ยลโฉม และนึกย้อนไปถึงวันแรกที่ประเทศไทยมีการบินเกิดขึ้น

แม้ในปี 2563 จนถึงต้นปี 2564 เราอาจไม่ได้บินกันบ่อยนักด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เชื่อว่าหากสถานการณ์คลี่คลายลงเราจะได้กลับไปท่องทะยานฟ้ากันอีกครั้ง

 

ข้อมูลจาก กองทัพอากาศไทย

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ