สรุปทุกดราม่า “พิมรี่พาย” ติดโซลาร์เซลล์ “ช่วยเด็กดอย” ขยับทุกวงการ จุดไฟ สะเทือนกองทัพ -​ ศธ.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




​​​​​​​'พิมรี่พาย พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์' แม่ค้าออนไลน์ใจบุญ ที่กำลังถูกยกให้เป็นเน็ตไอดอลที่โด่งดังที่สุดของเมืองไทยในขณะนี้ หลังนำสิ่งของขึ้นภูเขาไปแจกเด็ก  ๆ ที่หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ โดยใช้เงินส่วนตัวบริจาคกว่า 500,000 บาท

ความเหมือนที่ต่าง ดราม่า 'พิมรี่พาย' ซื้อโซล่าร์เซลล์ 3.5 แสน ให้เด็กอมก๋อย กอ.รมน.ใช้งบ 45ล้าน

รมช.ศธ.ขอบคุณ “พิมรี่พาย” ช่วยเหลือเด็กบ้านแม่เกิบ วอนสังคมมองในแง่บวก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2563 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้บุกเข้าตรวจค้นบ้านพัก “พิมรี่พาย” แม่ค้าออนไลน์ขายเครื่องสำอางชื่อดังขณะนั้น โดยพบน้ำหอมที่ไม่มีเลขจดแจ้งจำนวนมาก จึงตรวจยึดของกลางทั้งหมดส่งดำเนินคดี  ซึ่งต่อมา “พิมรี่พาย” ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงยอมรับว่า เคยขายของปลอมผิดกฎหมายจริง แต่เลิกนำมาขายแล้วกว่า 6 เดือน เนื่องจากก่อนหน้านี้มีผู้หวังดีเข้ามาเตือน

ต่อมาแม่ค้าออนไลน์ “พิมรี่พาย” กลับมามีชื่อเสียงโด่งดังอีกครั้ง โลกทวิตเตอร์ระดมติดแฮชแท็ก #พิมรี่พาย จนติดเทรนด์ดับ 1 ของวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากคลิปวิดีโอในยูทูปที่ชื่อว่า “สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอยสูง ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าชมแล้ว 5.7 ล้านครั้ง โดยในคลิปเล่าเรื่องราว “พิมรี่พาย” เดินทางไปยังหมู่บ้านเกิบ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 300 กิโลเมตร มีทางเข้าที่ทุรกันดาร การศึกษายังเข้าไม่ถึง

อาหารที่ชาวบ้านแห่งนี้กินประจำทุกวันคือน้ำพริก ที่ผสมเพียงเกลือ ผงชูรส พริก ส่วนอาหารที่ดีที่สุดคือ หนู เมื่อ “พิมรี่พาย” ถามเด็กสาวว่าเคยกินไข่เจียวหรือไม่ หญิงสาวตอบว่า “ไข่เจียวไม่เคยกิน”  

นอกจากนี้ ยังพบว่าที่สถานที่แห่งนี้ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์

“หนูไม่เคยคิดเลยว่าจะมีที่แบบนี้ในประเทศไทย ต้องอัดเท่าที่อัดได้ เอาไฟมาติด เอาทีวีมาให้ดู จะได้รู้อยากเป็นอะไร พิมรี่พาย กล่าว

ซึ่งในค่ำคืนวันนั้น “พิมรี่พาย” มีความความคิดที่จะช่วยเหลือหมู่บ้านแห่งนี้ โดยการสร้างโรงเรือนเพาะปลูก สอนเด็กปลูกผัก ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ พร้อมกับมอบทีวีเครื่องใหญ่สร้างฝันให้กับเหล่าเด็ก ๆ ด้วยเงินส่วนตัวของ พิมรี่พาย ทั้งหมดกว่า 5 แสนบาท  ทำพี่ เดี๋ยวพิมกลับไปขายของ ทำเลย เดี๋ยวพิมจ่ายเองพิมรี่พายรับปากกับคนในหมู่บ้าน เดินหน้าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

ต่อมาได้เกิดดราม่าขึ้น เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ทำนองว่า สำหรับโซลาร์เซลล์ ที่เพื่อนในเฟซร่วมบริจาคไป ช่วงตุลา ปี63 ตอนนี้เด็กๆ มีไฟฟ้าฟ้าใช้แล้วนะคะ ขอบคุณแพทด้วยที่เป็นสะพานบุญ และติดต่อหาโซลาร์เซลล์ รวมถึงขึ้นไปดูแลเด็กๆ มาหลายๆ รอบๆ

ข้อความดังกล่าวทำให้ชาวเน็ตเกิดการตั้งข้อสงสัยว่า เงินที่ใช้ไปกับของบริจาค มาจากพิมรี่พายคนเดียวหรือไม่ เพราะเห็นว่ามีการระดมเงินจากกลุ่มผู้บริจาคมาก่อนหน้านี้แล้ว

ก่อนที่ต่อมากลุ่มผู้บริจาคดังกล่าวชี้แจงว่า เงินที่รวบรวมมาได้ คือ 290,000 บาท และพิมรี่พาย บริจาคอีก 500,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 790,000 บาท  ทุกคนมีเจตนาบริสุทธ์ที่จะร่วมทำบุญ

ขณะที่ พิมรี่พาย ได้ออกมาเคลื่อนไหวทางเฟซบุ๊ก กล่าวเสริมว่า  คนทำบุญอ่ะ ไม่มีใครคิดไม่ดีหรอก..น้องเจ้าของโพสต์ และพิมต่างมีเจตนาที่จะทำบุญด้วยใจ  ทำบุญแล้วรับบุญกันทั่วหน้านะคะ กล่าวสาธุพร้อมกันแล้วแยกย้ายค่ะ สุขสันต์วันเด็ก จุ๊บๆ

นอกจากนี้โลกออนไลน์มีการแชร์เอกสารสรุปราคากลางงานก่อสร้าง โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 6 (กอ.รมน.) พบว่ามีการเบิกงบทำระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาดกำลังติดตั้งไม่น้อยกว่า 210 กิโลวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน ค่าก่อสร้างกว่า 45,205,109.91 บาท โดยมีการหยิบยกมาเปรียบเทียบกับของ พิมรี่พาย ที่ติดตั้งแผลโซลาร์เซลล์ ในพื้นที่เดียวกันด้วยงบเพียง 3 แสนบาท

ด้าน โฆษก กอ.รมน. ยืนยันเอกสารติดตั้งทำระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ มูลค่า 45 ล้านบาท เป็นของจริง ดำเนินการจำนวน 5 พื้นที่ ในอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ มีการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 210 กิโลวัตต์ เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ล์ จำนวน 120 ต้น ระบบกักเก็บพลังงาน 998.40 กิโลวัตต์ โดยลากสายไฟเข้าไปในพื้นที่หมู่บ้าน 5,409 เมตร แต่ กอ.รมน. ไม่ได้ไปติดตั้งให้กับพื้นที่บ้านแก่เกิบ ต.นานเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้วิจารณ์แผงโซลาร์เซลล์ของ พิมรี่พาย ว่ามีราคาแพงกว่าในเว็บไซต์ออนไลน์ชื่อดัง

"แผงโซลาร์เซลล์ 18 อันของพิมรี่พาย ที่ผมถ่ายรูปมาได้ มีขายแบบเดียวกัน (ในเว็บขายของชื่อดัง) ที่ราคา 5,200 ต่อชิ้น หากคูณ 18 เท่ากับ 93,600 บาท ในคลิปบอกว่าใช้เงิน 350,000 บาท ทำโซลาร์เซลล์ แสดงว่าขาตั้งโซลาร์เซลล์+หม้อแบต+สายไฟ แผงควบคุมมีราคาตั้ง 256,400 บาท สายไฟทำด้วยทองคำหรือครับ? ใครไปซื้อให้คุณพิมรี่ครับ ครูในคลิปนั้นหรือเปล่า?"

ต่อมา บริษัท จิงโกะโซลาร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ที่ถูกพาดพิง ชี้แจงผ่านเพจ “Jinko Solar Thailand” ว่า แผงโซล่าร์เซลล์ของ พิมรีพาย มูลค่า 350,000 บาทนั้น เป็นราคาปกติ เนื่องจากยังมีค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ แบตเตอร์รี่ ค่าติดตั้ง และค่าขนส่ง พร้อมกับแนะนำให้ผู้โพสต์เรื่องนี้ไปศึกษาหาความรู้ใหม่

“ขอขอบคุณ คุณพิมรี่ พาย ที่ไว้วางใจเลือก Jinko Solar ทางเราได้ตรวจสอบและยืนยันว่าเป็นสินค้าแท้ จาก Jinko Solar และขอเป็นหนึ่งในผู้ยืนยันว่า ราคาดังกล่าว “ปกติ” กรณีของคุณพิมรีพาย ติดตั้งระบบออฟกริด (Off Grid System) 7.2กิโลวัตต์ ในราคา 350,000บาท

หากอิงตามราคาของผู้โพส 5,200x18=93,600บาท จะเหลือส่วนต่างสำหรับ อุปกรณ์อื่นๆ ถึง  256,400 บาท แบตเตอรี่ 7.2กิโลวัตต์ 70,000-120,000 บาท (ตามแต่ชนิด) ซึ่งอาจจะใช้ความจุมากกว่านี้ อินเวอเตอร์ Hybrid off grid 50,000-70,000 บาท (ตามแต่ละยี่ห้อ) ตู้ไฟคอมไบเนอร์+สายไฟ+อุปกรณ์อื่นๆ ประมาณ 30,000++ บาท ยังไม่รวมค่า โครงสร้างสแตนเลส “ค่าแรง” ค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง รวมถึงค่าขนส่ง ผู้โพสอาจจะไม่มีความรู้ทางด้านนี้มากพอ ขอให้ลองศึกษาดูใหม่นะคะ”

เอกสาร ศูนย์ กศน.อมก๋อย ถูกแชร์ทั่วโซเชียล ลงนามออกคำสั่งวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา  ให้ครูและบุคลากรในหน่วยงาน ห้ามโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการรับบริจาค ห้ามโต้ตอบหรือแสดงความคิดเห็น และให้งดรับบริจาคทุกประเภทจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายอื่น ๆ

ต่อมา ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ได้ออกมายกเลิกคำสั่งดังกล่าวในทันที พร้อมขอบคุณพิมรี่พาย ที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กนักเรียนบ้านแม่เกิบ ส่วนเรื่องการดูแลนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดเรียนการสอนชาวไทยภูเขามาเป็นเวลานานแล้ว และมีพัฒนามาอย่างต่อเนื่องทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พร้อมยอมรับว่าบางพื้นที่ก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ บางพื้นที่ก็เสื่อมโทรม ซึ่งได้ขอให้กระทรวงสนับสนุนในส่วนนี้แล้ว เพราะกระทรวงศึกษาธิการจัดไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้ได้

การช่วยเหลือชาวดอยของ “พิมรี่พาย” ยังจุดประเด็นเรื่องรุกป่าอุทยานแห่งชาติ เมื่อนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ตั้งข้อสังเกตหมู่บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านเกิดใหม่ประมาณ 6-7 ปี และอาจรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติอมก๋อย พร้อมกับจะเข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดแล้ว เพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าว

ต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงนายศรีสุวรรณ ว่า ชุมชนดังกล่าวเกิดก่อนตั้งโครงการพัฒนาป่าไม้ที่สูงหน่วยที่ 3 (แม่จ๊าง) ปี 2522 และไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เนื่องจากตั้งอยู่ห่างจากแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย 85 กิโลเมตร และห่างจากแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เงา 6 กิโลเมตร

ด้านกรมป่าไม้ อธิบายซ้ำว่า บ้านแม่เกิบ เป็นหมู่บ้านแยกจากบ้านแม่ฮอง โดยเมื่อปี 2535 หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย ต่อมาปี 2558 พื้นที่บ้านแม่ฮงเกิดไฟไหม้ ชาวบ้านจึงอพยพมายังแปลงที่ทำกินหมุนเวียนซึ่งเป็นถิ่นฐานที่ตั้งในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากความเชื่อของชาวกระเหรี่ยงที่จะไม่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่เกิดอาเพศ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาเพียง 5 ปี และจึงถือได้ว่าไม่ได้เป็นหมู่บ้านที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่แต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ยังมีความพยายามจุดประเด็นการเมือง และจี้ตรวจสอบภาษีเงินได้จากการค้าขายออนไลน์ของ พิมรี่พาย ยูทูปเบอร์ คนดังด้วย

 

 

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ