โลกเป็นอะไรในปี 2020 ร้อนขึ้น-หมุนรอบตัวเองเร็วขึ้น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปี 2020 นอกจากจะเป็นปีโควิด-19 ยังมีความเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้น ทั้งอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น และความเร็วในการหมุนรอบตัวเองที่เร็วขึ้น

36ข่าวแห่งปี : ภัยธรรมชาติปี 2563 โลกร้อนขึ้น โลกร้ายขึ้น

ขั้วโลกใต้ร้อนขึ้นเป็น 3 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

สัญญาณเตือน คลื่นความร้อนทำลายสถิติในไซบีเรีย

องค์การสหประชาชาติ (UN) ออกมายืนยันว่า ปี 2020 เป็นปีที่อุณหภูมิโลกเฉลี่ยร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำลายสถิติปี 2016 ด้านองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวว่าปี 2011-2020 เป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุดที่เคยมีการบันทึกไว้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุหลัก

หน่วยงานด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติกล่าวว่า 3 ปีที่อบอุ่นที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่มีการบันทึกไว้คือปี 2016 2019 และ 2020 โดยความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิโลกเฉลี่ยนั้น "น้อยจนแยกไม่ออก" อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 14.9 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าช่วงยุคอุตสาหกรรมปี 1850-1900 ราว 1.2 องศาเซลเซียส

ข้อตกลงปารีสปี 2015 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมกันควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงกว่าอุณหภูมิยุคอุตสาหกรรมเกิน 2 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม WMO เชื่อว่ามีโอกาสอย่างน้อย 1 ใน 5 ที่อุณหภูมิโลกเฉลี่ยจะเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเป็นบางช่วงภายในปี 2024

อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า “วันนี้โลกร้อนขึ้นแล้ว 1.2 องศาเซลเซียส และเราได้เห็นสภาพอากาศที่เลวร้ายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในทุกภูมิภาคและทุกทวีป เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่ภัยพิบัติที่อุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ ... การสร้างสันติภาพกับธรรมชาติเป็นภารกิจที่ต้องทำให้ได้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะต้องมีความสำคัญสูงสุด”

WMO กล่าวว่า ลักษณะอากาศที่โดดเด่นเป็นพิเศษของปี 2020 คือคลื่นความร้อนและไฟป่าในไซบีเรีย ระดับน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกที่ลดลง รวมถึงจำนวนพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกที่ทำลายสถิติ

นอกจากสถิติด้านความร้อน ปี 2020 ยังมีอีกหนึ่งสถิติ นั่นคือในบางวัน โลกหมุนรอบตัวเอง (Rotate) เร็วขึ้น

โดยทั่วไปแล้วโลกจะใช้เวลา 86,400 วินาทีหรือ 24 ชั่วโมงในการหมุนบนแกนโลก ของมัน แต่นาฬิกาอะตอม เป็นเครื่องนับเวลาที่มีความแม่นยำมากที่สุดในโลก แสดงให้เห็นว่า ระยะเวลาในการหมุนรอบตัวเองในแต่ละวันของโลกอาจแตกต่างกันไปในระดับ “มิลลิวินาที” หรือ 1 ใน 1,000 วินาที แต่ในปี 2020 โลกดูเหมือนเริ่มเร่งความเร็วขึ้น

ปีเตอร์ วิบเบอร์ลีย์ (Peter Whibberley) นักวิทยาศาสตร์การวิจัยอาวุโสของห้องปฏิบัติการทางกายภาพและความถี่แห่งชาติ กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ถูกต้องอย่างแน่นอนที่โลกกำลังหมุนเร็วกว่าตลอด 50 ปีที่ผ่านมา”

ก่อนปี 2020 บันทึกสำหรับวันที่สั้นที่สุดที่ได้รับการบันทึกไว้คือวันที่ 5 กรกฎาคม 2005 ซึ่ง 1 วันของโลกสั้นลงไป 1.0516 มิลลิวินาที แต่สถิติดังกล่าวถูกทำลายไปทั้งหมด 28 ครั้ง วันที่เร็วที่สุดของโลกนับตั้งแต่เก็บบันทึกมากลายเป็นวันที่ 19 กรกฎาคม 2020 สั้นกว่าค่าเฉลี่ย 1.4602 มิลลิวินาที

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าวันต่าง ๆ ในปี 2021 จะสั้นลงเฉลี่ย 0.05 มิลลิวินาที ซึ่งจะทำให้ปี 2021 วิ่งเร็วกว่าปีก่อน 19 มิลลิวินาที

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บอกว่าการที่โลกหมุนเร็วเกินไปในระดับมิลลิวินาทีไม่ใช่เรื่องน่ากังวลขนาดนั้น เพราะอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุที่เกินควบคุม เช่น แรงดึงจากดวงจันทร์ หิมะ และการกัดเซาะ

แต่กระนั้น วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกอาจเป็นปัจจัยหนึ่งเช่นกัน เนื่องจากดาวเคราะห์ที่ร้อนขึ้นก่อให้เกิดเหตุการณ์การกระจายมวลสารบนโลกมากขึ้น เช่น การที่ธารน้ำแข็งละลายทำให้มวลน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น จนศูนย์ถ่วงต่าง ๆ อาจเปลี่ยนแปลงไป

แม้การที่โลกหมุนรอบตัวเองเร็วขึ้นจะยังไม่ได้ส่งผลใด ๆ โดยตรงกับชีวิตมนุษย์เรา แต่ก็ควรระลึกไว้เสมอว่า หากโลกยังร้อนขึ้นอยู่แบบนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากวันใดวันหนึ่งโลกจะร้ายกับเรามากขึ้น และหากวันนั้นมาถึงก็คงสายเกินไปแล้วที่จะสำนึกเสียใจ

 

เรียบเรียงจาก AFP / The Guardian

ภาพจาก Shutterstock

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

ขณะนี้ มีรายการกำลังถ่ายทอดสด คุณสนใจหรือไม่?

POP NEWS

POP NEWS

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ