สสน.คาด ปี 64 ภาคเหนือ-กลาง แล้งหนักต้นปี เหตุฝนน้อย น้ำในเขื่อนไม่พอ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สสน.หนุนทำเกษตรวิถีใหม่ ลดการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง ฝ่าวิกฤตภัยแล้ง 2564

กรมชลประทาน ปล่อยคาราวานเครื่องจักรช่วยเหลือประชาชนช่วงภัยแล้ง

พระเกจิดังทำพิธีสูตรถอดขับไล่ภัยแล้ง

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เปิดห้องบัญชาการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งปี 2564

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพายากรน้ำ กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมามีความแปรปรวน ไม่แน่นอน โดย 2 ปีล่าสุดปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2562 ภาคเหนือมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 20 ภาคกลางฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 20 ส่วนในปี 2563 ภาคเหนือฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 17 ภาคกลางฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 8

สองภูมิภาคดังกล่าวเป็นที่ตั้งของเขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลายแห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้อยตามไปด้วย

ปัจจุบัน เขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้การได้ร้อยละ 10 เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำใช้การได้ร้อยละ 19 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีน้ำใช้การได้ร้อยละ 34 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำใช้การได้ร้อยละ 46 ทั้งหมดอยู่ในสถานการณ์ “น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย”

ดร.สุทัศน์เสริมว่า ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำต่อปีอยู่ที่ 153,578 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 25 ใน 20 ปีข้างหน้า แต่ปัจจุบันมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยปีละ 42,620 ล้านลูกบาศก์เมตร

ข้อมูลจาก US Infrastructure เมื่อปี 2553 ระบุว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศมีอัตราการใช้น้ำต่อประชากร 1 คนสูงที่สุดในโลก เป็นรองเพียงสหรัฐฯ กรีซ มาเลเซีย และอิตาลี โดยระบุว่าไทยใช้น้ำไปกับภาคการเกษตรมากที่สุด ทั้งโดยตรงและตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร

ดร.สุทัศน์วิเคราะห์ว่า “ภาวะแล้งอาจอยู่ถึงช่วงเดือนมีนาคม เพราะคาดการณ์ว่า ปีนี้ฝนจะมาเร็วตั้งแต่เดือนเมษายน จากการวิเคราะห์อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นบริเวณที่ส่งผลต่อสภาพอากาศและฝนในประเทศไทย”

โดยผลวิเคราะห์พบว่า สถานการณ์ฝนปี 2564 จะคล้ายคลึงกับเมื่อปี 2539 ประมาณร้อยละ 80 คือจะมีฝนตั้งแต่เดือนเมษายน อาจเกิดพายุฤดูร้อน จึงอาจบรรเทาภัยแล้งได้ประมาณหนึ่ง เพราะโดยเฉลี่ยฝนในไทยไหลลงเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำไม่มาก หากเกษตรกรไม่ได้สร้างอ่างเก็บน้ำหรือระบบน้ำไว้ก็อาจไม่สามารถสำรองน้ำไว้ใช้ได้

“จากนั้นฝนจะเว้นว่างไปในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. และกลับมาตกมากอีกครั้งช่วงเดือนกันยายน อาจมีบางพื้นที่เกิดอุทกภัยในภาคเหนือ กลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ” ดร.สุทัศน์กล่าว

ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เผยว่า ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.พ. 64 ระบุว่า มีปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพียง 3,884 ล้านลูกบาศก์เมตร

ดร.รอยลคาดการณ์ว่า ฤดูแล้งปี 2563/2564 อาจมีน้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตร ซึ่งภาครัฐพยายามประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดทำนาปรัง ซึ่งใช้น้ำปริมาณมาก โดยให้เหตุผลว่า ต้องมีการสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

“แต่ปัจจุบันสสน.พบว่า มีเกษตรกรทำนาปรังไปแล้วกว่า 2.8 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองชลประทานจนน้ำในหลายพื้นที่เริ่มไม่เพียงพอ” ดร.รอยลกล่าว

เขาเสริมว่า ในการรับมือกับภัยแล้งนั้น นอกจากความพยายามในส่วนของภาครัฐแล้ว ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคชุมชนด้วย โดยควรงดการทำเกษตรที่สิ้นเปลืองน้ำ หันมาทำเกษตรวิถีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการทำวนเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ ทำร่องสวน สร้างระบบเวียนน้ำ เพื่อให้ไม่มีน้ำที่ถูกใช้อย่างสูญเปล่า

ดร.สุทัศน์เห็นด้วย และบอกว่า ไทยมีพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานเพียงร้อยละ 20 ที่เหลืออีกร้อยละ 80 อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งพื้นที่นอกเขตถ้าสามารถสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก ปลูกพืชที่ไม่ต้องใช้น้ำเยอะ พืชที่โตง่ายขายคล่อง ไม่ใช่พืชรอนานอย่างข้าว การเสริมให้เกิดแหล่งน้ำชุมชน เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และคนที่ได้ประโยชน์ก็คือตัวเกษตรกรเอง

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ