“DTI7” ส่อง! สมรรถนะ คุณสมบัติ ปืนเล็กสัญชาติไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การผลิตอาวุธปืนของไทยในช่วงที่ผ่านมา เรามักจะซื้อลิขสิทธิ์จากบริษัทต่างประเทศเพื่อนำมาผลิตใช้เองในกองทัพ เช่น ปืนเล็กยาวแบบ HK 33 หรือ ปลย.11 (ปืนเล็กยาว 11) โดยการผลิตปืนชนิดนี้ก็ได้มาตรฐานตามที่กำหนด

วิเคราะห์บอล !! บิ๊กแมตช์ พรีเมียร์ลีก ลิเวอร์พูล พบ เชลซี 4 มี.ค. 64

3 ปัจจัยหลักพาเศรษฐกิจไทยทยอยปรับตัวดีขึ้นหลังโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย

แต่ข้อเสีย คือ ไลเซนส์ ที่จำกัดจำนวนการผลิต วัสดุที่ใช้ในการผลิตจะต้องซื้อจากบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ อีกทั้งไม่สามารถตกแต่ง หรือ ปรับเปลี่ยนปืนให้เหมาะกับกำลังพลในกองทัพ เพราะไม่ตรงมาตรฐาน

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) จึงร่วมกับ บริษัท เคเอชที ไฟร์อาร์มส์ จำกัดออกแบบและผลิตปืนเล็ก DTI7 ขึ้นมา เป็นปืนสัญชาติไทย ที่ออกแบบ และ ผลิตจากฝีมือคนไทย และ สู่กระบวนการเชิงพาณิชย์ ผลิตส่งออกขายเพื่อนำรายได้เข้าประเทศในอนาคตด้วย

DTI7 จัดเป็นอาวุธปืนเล็ก ถูกออกแบบให้มีความแข็งแรงโดยทดสอบตกจากที่สูง10เมตรได้ไม่มีปัญหา ทนทานด้วยวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง ผ่านการทดสอบในสภาวะต่างๆไม่ว่า จะนำไปจุ่มลงน้ำ จุ่มโคลน คลุกดิน และ คลุกทราย ก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ มีขนาดเล็กเหมาะสมกับสรีระบุคคลากรไทย เหมาะสำหรับปฏิบัติการณ์ในระยะประชิด การรบในพื้นที่จำกัด และภารกิจของหน่วยรบพิเศษ

คุณสมบัติของ DTI7

-ระบบปฏิบัติการ Shot-Stroke Gas Piston

-ความยาวปืน 657 มม.

-ความกว้างปืน 59 มม.

-ความสูงปืน 240 มม.

-ขนาดลำกล้อง 5.56 มม.

-ความยาวลำกล้อง 7.5 นิ้ว

-น้ำหนัก (ตัวเปล่า)  2.93 กก.

-น้ำหนัก (รวมซองกระสุน) 3.4   กก.

-อัตราการยิง 750 – 900  นัด/นาที

-ระยะยิงหวังผล 0-200 ม.

-ศูนย์เล็ง ศูนย์เปิดแบบพับเก็บ/ถอดได้ (Detachable)

-ระบบป้อนกระสุน ซองกระสุน STANAG (NATO Magazine)

-ซองกระสุน 10, 20, 30, 40 หรือ 60 นัด

ส่วนคุณสมบัติอื่น ๆ

-รางติดตั้งอุปกรณ์เสริม (Picatinny Rail)

-ชุดดัดแปลงใช้กระสุน .22LR (อุปกรณ์เสริม)

(ปืนชนิดนี้สามารถใช้กระสุนขนาด 5.56 มม. กับกระสุนขนาด .22LR โดยไม่ต้องเปลี่ยนลำกล้อง โดยใช้ชุดดัดแปลง (Conversion Kit) ปรับขนาด)

นายธนรัฐ ธนะสมบูรณ์ นักวิเคราะห์ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) เผยว่า การออกแบบปืนDTI7 ที่เราคิดค้นขึ้นมาเพราะสนามรบในปัจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ได้รบในป่า หรือ รบในทะเลทรายเหมือนในอดีต แต่จะรบในเมืองมากขึ้น รบในพื้นที่จำกัดหรือ รบร่วมกับยานพาหนะ

จุดหนึ่งที่ทำให้เรามีความคิดออกแบบปืนให้มีขนาดสั้นเหมาะกับสรีระทหารไทย คือ เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“เหตุการณ์ในสามจังหวัดใต้ ทหารถือปืน M16 A1 ที่มีลำกล้องยาวประมาณ 20 นิ้ว พกกระสุน200 นัด หรือ แมกกาซีน 7 แม็ก นั่งอยู่ข้างในรถ ต่อมารถของเขาถูกระเบิด IED ของกลุ่มก่อความไม่สงบ จนรถพลิกคว่ำ ทหารนายนั้นพยายามคลานออกมาจากช่องหน้าต่างของรถ แต่เมื่อคลานออกมาจากรถได้สำเร็จเขาก็ถูกยิงเสียชีวิต โดยไม่ได้ยิงตอบโต้คนร้ายเลย ไม่ใช่ปืนไม่ดี ปืนดี แต่มันไม่เหมาะกับภารกิจ เราเลยเลือกที่จะทำปืนที่เหมาะกับภารกิจประเภทนี้ขึ้นมา สาเหตุแรก คือ ทำปืนให้เหมาะกับภารกิจของคนไทยจริงๆ”

นักวิเคราะห์สทป. ระบุอีกว่า ปืนเล็กยาวที่ลำกล้องสั้นทำได้ยากที่สุด โดยยากในเรื่องตัวลำกล้อง ลูกกระสุน กระสุน 5.56 มม.ส่วนใหญ่ ถูกออกแบบมาสำหรับปืนลำกล้องยาว 20 นิ้ว แต่การตัดลำกล้องสั้นแปลว่า พลังงานกระสุนขับออกไปไม่หมด ถูกจูนได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น จึงต้องมาคำนวนใหม่ หากคำนวนได้ไม่ดี พลังงานกระสุนขับออกไป มันจะเคว้งคว้างบานเป็นจานกระด้ง

ต้องคำนวนใหม่รูแก๊สต้องเท่าไหร่ แก๊สอัตราความดันเท่าไหร่ จะใช้กระสุนประเภทไหนได้บ้าง อย่างเราเลือก คือ กระสุน M193 ที่เป็นมาตราฐานกองทัพทั่วไป เพราะง่ายต่อการส่งกำลังบำรุง เราจึงต้องดีไซส์ ปืนเล็กสั้น และมันเป็นการทดสอบขีดความสามารถด้านวิศวกรรม  

ด้าน พล.อ.อ.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า การดำเนินการตามนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการร่วมทุนของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศร่วมกับบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพภายในประเทศ ถือเป็นจุดสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศของไทยให้เจริญรุดหน้าต่อไปในอนาคต 

สทป. ได้ริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนและกระสุน (อาวุธปืนเล็กรุ่น DTI7) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนเล็ก โครงการแรกของ สทป. ที่ดำเนินการร่วมกับ บริษัท เคเอชที ไฟร์อาร์มส์ จำกัด โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนไทย สอดคล้องกับเป้าหมายงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ สนับสนุนความมั่นคงในการพึ่งพาตนเอง และส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย อีกทั้งยังมีคุณภาพสูงทัดเทียมกับปืนมาตรฐานสากลยุคปัจจุบัน เป็นการแสดงศักยภาพของประเทศที่สามารถมีปืนประจำชาติไทยที่ผลิตโดยคนไทยเอง ทัดเทียมนานาประเทศ

จากความสำเร็จในการทดสอบสมรรถนะการใช้งานของปืน ตามมาตรฐานทางทหาร ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนและกระสุน (อาวุธปืนเล็กรุ่น DTI7) ครั้งนี้ จึงเป็นหลักประกันสำคัญด้านความมั่นคงให้กับประเทศถึงขีดความสามารถในการผลิตและออกแบบอาวุธปืน เพื่อการใช้งานภายในประเทศอีกด้วย

พล.อ.อ.ปรีชา ยังระบุด้วยว่า สทป. ยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของบริษัทเอกชนของไทยอื่น ๆ ที่มีองค์ความรู้และความสามารถในการผลิตอาวุธปืนอีกจำนวนมากในประเทศ ที่ยังขาดในเรื่องของการสนับสนุนการทดสอบสมรรถนะการใช้งานของปืน ตามมาตรฐานทางทหาร เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการเชิงพาณิชย์ ผ่านการร่วมทุนในแบบต่าง ๆ หรือจัดตั้งนิติบุคลเพื่อประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อการพึ่งพาตนเองด้านความมั่นคงภายในประเทศ อีกทั้งยังสามารถส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานในสายการผลิตของชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น สปริง ลำกล้อง ชิ้นส่วนงานโลหะอื่นใดโดยเฉพาะเอกชนไทยที่มีองค์ความรู้ขีดความสามารถและเครื่องจักรอยู่แล้ว รวมทั้งยังเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านโลหะวิทยาการและศาสตร์ของการผลิตอาวุธที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไป เช่น อาวุธปืนขนาดใหญ่ อุปกรณ์เสริมสนับสนุน รวมถึงกระบวนการฝึกและซ่อมบำรุง ซึ่งในกระบวนการวิจัยจะมีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศ ที่มีองค์ความรู้ทางวิศวกรรมเพื่อช่วยดำเนินการในการคำนวณและทดสอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมเตรียมการตอบโจทย์ต่อการรับรองผลการทดสอบทางวิชาการอย่างเป็นระบบต่อไป

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ