"You Are What You Eat" เด็กกินอาหารกลางวันอย่างไร ชาติก็ได้อย่างนั้น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“อาหารกลางวัน” เป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบกับเด็กและเยาวชนในด้านของการเติบโตและการศึกษาโดยตรง

แจงดราม่าอาหารกลางวันในโรงเรียนน้อย

ค่าอาหารกลางวันนักเรียนเพิ่ม 1 บาท หรือถึงเวลาสะสางปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็ง

ครม.ปรับค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน 21บ.ต่อคน

“หนูชอบกินขนมจีนค่ะ” “ชอบหมูทอดกระเทียมค่ะ” “ชอบทานก๋วยเตี๋ยวครับ” “ชอบถั่วเขียวต้มน้ำตาลค่ะ”

รายการข้างต้นคือตัวอย่างส่วนหนึ่งจากเมนู “อาหารกลางวันโรงเรียน” หนึ่งในประสบการณ์วัยเรียนที่หลายคนต้องเคยสัมผัส นักเรียนบางโรงเรียนได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์ อร่อย แต่ในขณะเดียวกันก็มีเด็กจากหลายโรงเรียนที่ไม่ได้รับในสิ่งเขาสมควรได้รับ

“อาหาร” เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่จะขาดไปไม่ได้ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ไม่นับว่า “เด็ก” เป็นกลุ่มที่ต้องการประโยชน์จากสารอาหารมากที่สุดอีกด้วย ทั้งเพื่อการเจริญเติบโต และเพื่อให้มีแรงในการศึกษาเล่าเรียน

ปัจจุบัน เด็ก ๆ อนาคตของชาติบางส่วนไม่ได้รับความใส่ใจดูแลเท่าที่ควร ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านสภาพของอาหารกลางวันที่ปรากฏตามหน้าสื่อให้เห็นเป็นประจำทุกปี คำถามคือ “ถ้าเด็ก ๆ คืออนาคตของชาติ แล้วทำไมอาหารกลางของเด็ก ๆ เหล่านี้จึงไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแล”

ประเด็นอาหารกลางวันมักเกิดขึ้นได้ง่ายเป็นพิเศษกับโรงเรียนรัฐบาลภายใต้สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งได้รับงบประมาณอาหารกลางวันเด็กนักเรียน 20 บาทต่อหัวคน

อาหารกลางวันสำคัญอย่างไร?

คุณอิทธิพล ด่วนกลิ่นคง นักศึกษาคณะการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับอาหารกลางวันเด็ก เล่าว่า ในบางครอบครัว อาหารกลางวันเป็นมื้อสำคัญมากกว่ามื้อเช้า เพราะสังคมไทยไม่ใช่สังคมที่มีชนชั้นนำครอบคลุมทุกพื้นที่ มีคนที่ต้องรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ พ่อแม่ต้องทำงานโอที ไม่มีเวลาดูแลลูก ดังนั้นมื้อเช้า พ่อแม่บางคนไม่มีเวลาทำกับข้าวให้ลูกได้รับประทาน

“ดังนั้น ความหวังของเด็กคืออาหารกลางวัน เป็นสิ่งที่โรงเรียนจะตอบสนองความต้องการของเขาได้ แต่มันไม่ตอบโจทย์ขนาดนั้น กลายเป็นปัญหาที่มันเกิดขึ้นซ้ำซาก” คุณอิทธิพลบอก

นอกจากนี้ สำหรับบางครอบครัว โรงเรียนเป็นสถานที่เดียวที่เด็กจะได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบสมบูรณ์ เพราะอาจไม่ได้มีปัจจัยที่จะซื้ออาหารได้ครบทั้ง 5 หมู่

ด้าน ผอ.อรัญญา พิสุทธากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนแรพกษาวิเทศศึกษา สมุทรปราการ หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบด้านการจัดการอาหารกลางวัน เห็นด้วยว่า ในปัจจุบัน ผู้ปกครองต้องรีบไปทำงานแต่เช้า ฉะนั้นในเรื่องของการดูแลทำให้เมนูอาหารครบสูตรให้เด็กได้รับโภชนาการครบถ้วนเป็นไปได้ยาก เท่าที่โรงเรียนเคยประเมิน พบว่ามีผู้ปกครองไม่ถึง 20% ที่สามารถทำอาหารครบตามหลักโภชนาการให้ลูกได้

“ถ้าโรงเรียนสามารถจัดอาหารกลางวันได้ถูกต้องตามหลักโภชนาการแล้วเด็กได้คุณค่าจริง ๆ มันจะช่วยให้เด็กเจริญเติบโตในเรื่องของสมอง เป็นกลไกที่จะช่วยผลักดันการรับรู้ การเรียนรู้” เธอกล่าว

ขณะที่ คุณจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้จัดการโครงการเด็กไทยแก้มใส เสริมว่า สังคมมักมองว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ แต่ในความเป็นจริงเด็กบางคนกลับถูกละเลย

คุณจงกลนีบอกว่า “ถ้าไปคาดหวังว่า เด็กจะสอบได้คะแนนสูง ๆ เรียนได้คะแนนดี ๆ นั้นเป็นไปไม่ได้ ในเมื่ออาหารและโภชนาการไม่ถึง เด็กจะเอาสติปัญญาที่ไหน สมาธิไม่มี ท้องปวดเพราะว่าหิว แล้วก็ไม่มีอาหารไปเสริมสมอง”

ปัญหาอาหารกลางวันทำให้เด็กขาดสารอาหาร

คุณจงกลนีเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันเด็กนักเรียนไทยราว 30-40% มีปัญหาขาดสารอาหาร 4 ชนิด คือ ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี และแคลเซียม

“ช่วงนี้ เด็กขาดสารอาหารเยอะมาก ยิ่งช่วงโควิด-19 ด้วย เพราะว่าเด็กไม่ได้มาโรงเรียน แล้วก็อยู่ที่บ้าน ถ้าพ่อแม่ที่ค่อนข้างจะลำบากเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งขาดสารอาหารได้ง่าย”

คุณอิทธิพลเสริมว่า จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นในโรงเรียน ก็จะเห็นว่าแม่ครัวทำกับข้าวอะไรให้เด็กบ้าง ซึ่งที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง พบเมนูที่เป็นปัญหา คือ “แกงเขียวหวานไก่” ซึ่งเป็นเมนูยอดฮิตที่หลายโรงเรียนทำกัน

“ที่เด็ก ๆ ฟีดแบ็กกลับมาจากการเก็บข้อมูล เขาบอกว่า มันเหมือนกินต้มมะเขือใส่กะทิ พอนึกภาพตามเราก็จะเห็นว่า เฮ้ย เรากินข้าวกับมะเขือ แล้วก็มีเศษไก่ประปรายอยู่ในจานอาหาร ในมุมมองคนที่ทานเราเองก็รู้สึกว่าไม่อยากทาน” เขาบอก

ผอ.อรัญญาชี้ว่า ปัจจัยหลัก 3 ประการที่ทำให้การจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียนไทยมีปัญหาคือ นโยบาย งบประมาณ และการบริหารจัดการของแต่ละโรงเรียน

นโยบายไม่มีการบังคับใช้

คุณจงกลนีบอกว่า ในความเป็นจริง ประเทศไทยมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดูแลอาหารโรงเรียน เช่น นักเรียนไทยสุขภาพดี โรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวัน โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ แต่มักไม่มีการบังคับใช้

“อนาคตถ้าสามารถทำได้ อยากให้มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยเรื่อง พระราชบัญญัติอาหารโรงเรียน ซึ่งมันจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการบริหารจัดการ เรื่องคุณภาพอาหารกลางวัน” ผู้จัดการโครงการเด็กไทยแก้มใสบอก

ผอ.อรัญญาเสริมว่า “ต้องเป็นระเบียบชัดเจนว่า อาหารกลางวันต้องมีคุณค่าอาหารเท่านี้ ปัจจุบัน มันไม่ได้เป็นระเบียบที่มีตัวบทกฎหมายลงโทษ มันทำให้เขารู้สึกว่า เขาไม่ทำก็ได้ จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ หรือว่าทำแล้วไม่มีการตรวจสอบก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะว่าทำไปแล้วถ้าไม่มีการตรวจสอบเขาก็รู้สึกว่า บางวันอาจจะหย่อน บางวันอาจจะเต็มที่ ก็ไม่มีหน่วยงานใด ๆ ตรวจสอบหรือกำกับติดตาม มันก็ไม่ได้เกิดคุณภาพเป็นไปตามที่กำหนดไว้”

นอกจากนี้ ผู้กำหนดนโยบายในประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาหารกลางวันเด็กอย่างจริงจัง ทั้งที่พร่ำบอกว่าเด็กคืออนาคตของชาติ ดังจะเห็นได้จากงบประมาณอาหารกลางวันซึ่งอยู่ที่ 20 บาทต่อเด็ก 1 คน และมีมติปรับเพิ่มเป็น 21 บาทต่อหัวคนในปี 2565 ที่จะถึงนี้

งบประมาณไม่เพียงพอ

ผอ.อรัญญาเล่าว่า เธอเคยเป็นผู้อำนวยการของโรงเรียน 2 แห่งก่อนหน้านี้ ซึ่งบางโรงเรียนที่เคยอยู่ก็ประสบปัญหางบประมาณน้อย “งบประมาณที่ได้รับจัดสรรหัวละ 20 บาท ต้องนำไปจัดการค่าแม่ครัว ค่าวัสดุที่ต้องใช้ในการปรุงอาหาร ค่าจ้างต่าง ๆ ค่าแก๊ส ด้วยระเบียบพัสดุต่าง ๆ ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก เราไม่สามารถดำเนินการให้เด็กทานได้ครบคุณค่าโภชนาการ หรือถูกต้องตามหลักอาหาร 5 หมู่ ไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนั้นได้ เพราะว่ามีปัญหาเรื่องงบประมาณ เนื่องจากงบประมาณน้อยมันต้องจัดสรร พอหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วมันเหลือค่าวัตถุดิบอาหารจริง ๆ แค่สิบกว่าบาท ในสิบกว่าบาทการที่จะจัดให้เด็ก ๆ ได้ครบถ้วนเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

คุณจงกลนีแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “ในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีเด็ก 35-40 คน ถ้าเดิมได้หัวละ 20 บาท ก็ได้วันละ 700 เพิ่มมา 1 บาทก็ 735 บาท ไม่พอแน่นอน เพราะมีค่าแม่ครัว ค่าบริหารจัดการ”

การจัดการถ้าไม่พังก็ต้องพึ่งตัวเอง

เมื่องบประมาณไม่เพียงพอ ก็ทำให้การจัดการของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกันออกไป บางโรงเรียนขาดความพร้อมแทบจะทุกด้าน ก็จะปรากฏออกมาเป็นอาหารกลางวันที่เสมือนว่ามีแต่วิญญาณของสารอาหาร

บางโรงเรียนมีพื้นที่ ก็สามารถสร้างแปลงปลูกพืชผักเพื่อนำมาประกอบอาหารได้เองเพื่อลดต้นทุนส่วนหนึ่ง บางโรงเรียนพ่อแม่ผู้ปกครองมีศักยภาพในการสนับสนุนก็ให้ความช่วยเหลือโรงเรียนโดยการจัดหาอาหารมาให้

ผอ. “การนำผักที่เราปลูกด้วยมือของเราเอง ให้เด็ก ๆ เอาใจใส่ลงไปในแปลงผักที่เขารับผิดชอบ เราปลูกฝังตั้งแต่เด็กเล็กอนุบลจนถึงชั้นโต ให้เขารู้จักการปลูก แล้วก็เห็นการเจริญเติบโต สอนถึงคุณค่า ประโยชน์ การเจริญเติบโตต่าง ๆ ซึ่งมันบูรณาการอยู่แล้ว สุดท้ายให้เขามีความรู้ว่า ผักที่เขาปลูกมันมามีประโยชน์กับเขาในช่วงที่เขาได้รับประทานเอง นี่เป็นหนึ่งในวิธีจัดการ”

อย่างไรก็ตาม หากนโยบายหรืองบประมาณเพียงพอและดีพอ ก็ไม่มีความจำเป็นที่โรงเรียนจะต้องดิ้นรนหาทางออกให้กับตัวเอง

“จริง ๆ แล้วควรแก้ตั้งแต่ระดับนโยบายเบื้องบน อย่างโรงเรียนของเราเรายกตัวอย่างได้ โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษาได้รับการสนับสนุนโดยผู้บริหารเทศบาล ตรงนี้ต้องบอกเลยว่า เป็นการสนับสนุนเชิงนโยบายเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มการจัดตั้งโรงเรียนจนถึงเวลานี้ ทำให้การบริหารจัดการต่าง ๆ สามารถดำเนินการไปได้สมบูรณ์แบบ เด็กเราค่าอาหาร 20 บาทได้รับเงินสนับสนุนเท่ากับโรงเรียนทั่วไปในประเทศไทย แต่เราได้รับการสนับสนุนเรื่องของแม่ครัว ช่วยดำเนินการในการจัดอาหารกลางวัน ได้รับการสนับสนุนเรื่องของวัสดุต่าง ๆ ในการประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเตาแก๊ส กระทะ หม้อหุงข้าว เราไม่ต้องดำเนินการจัดซื้อเอง จึงมีงบพอซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพให้เด็ก ๆ” ผอ.อรัญญาบอก

หรือต้นตอทั้งหมดคือ “ความไม่ใส่ใจของผู้บริหาร”

เชฟมนต์เทพ กมลศิลป์ เจ้าของร้านอาหาร “ธาน (Taan)” ซึ่งได้มีโอกาสพูดคุยกับเหล่าผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการอาหารกลางวันโรงเรียนภายในโครงการอาหารกลางวันของสื่อ The Potential ได้บอกเล่ามุมมองในฐานะคนทำอาหารคนหนึ่งว่า ปัญหาอาหารกลางวันเกิดจากความไม่สม่ำเสมอ ความขาดแคลนมากกว่า ไม่ว่าจะบุคลากร เงินทุน นโยบาย

“ความเหลื่อมล้ำมันเกิดขึ้น และทุกอย่างมันหยุดนิ่ง เราคุยกันบนโจทย์เดิม ๆ หมดเลยว่าเรามีงบ 20 บาท เราคุยกันบนเงื่อนไขเดิม ๆ ทั้งหมด เราอยู่บนข้อจำกัด แต่เราไม่ได้พยายามหาทางออกใหม่ให้กับเรื่องนั้น ๆ เพราะฉะนั้นมันเลยกลายเป็นว่าเราก็ถกเถียงกันเรื่องเดิม ทะเลาะกันผ่านกฎกระทรวง นี่นั่นนู่น การรับฟังมันน้อย มันเลยกลายเป็นการถ่ายทอดนโยบายผ่านส่วนกลางลงไปเสียเยอะ จนคนที่อยู่ในส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีทรัพยากรแตกต่างกันกับส่วนกลาง และแต่ละท้องถิ่นก็มีความหลากหลายของตัวเอง เลยทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายได้”

เชฟบอกว่า เคยได้ยินเสียงจากบุคลากรระดับผู้ปฏิบัติการว่า ผู้บริหารอาจจะยังไม่เคยได้ลงไปดูเลยด้วยซ้ำ ผู้บริหารในด้านนโยบายอาจจะคิดแค่ว่ามันเป็นเงินก้อนหนึ่ง รีบบริหารจัดการให้มันจบ ไม่ได้คิดถึงเด็กจริง ๆ

โครงการอาหารกลางวันของสื่อ The Potential ยังได้ให้เชฟมนต์เทพลองทำอาหาร 4 จานให้กับสปีกเกอร์ในโครงการได้รับประทาน

หนึ่งในนั้นคืออาหารจานแรก ซึ่งประกอบด้วยข้าว ไข่ต้ม 1 ฟอง ปลานิลทอด 1 ชิ้น แอปเปิล 1 ชิ้น และนม 1 กล่อง สะท้อนภาพปัญหาอาหารกลางวันเด็กนักเรียนไทยที่เคยเกิดขึ้นแบบนี้จริง

คำถามหนึ่งที่ทีมข่าว พีพีทีวี คิดขึ้นมาเมื่อได้เห็นอาหารจานนี้และภาพอาหารกลางวันเด็กที่ผ่านหูผ่านตาตามสื่อคือ “น่าสนใจว่า ถ้าให้ชนชั้นผู้บริหารได้ลองรับประทานอาหารแบบเดียวกันนี้บ้าง พวกท่านจะรู้สึกอย่างไร?”

ผอ.อรัญญาเสริมว่า ผู้บริหารที่กำหนดนโยบายเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหานี้ เพราะจะส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมเป็นลำดับขั้นลงมา เมื่อนโยบายดีก็จะมีงบประมาณเพียงพอ เมื่องบเพียงพอการที่โรงเรียนต้องพึ่งตัวเองหรือปล่อยเด็กไปตามมีตามเกิดก็จะลดน้อยลง

“สิ่งที่อยากฝากถึงผู้บริหารเรื่องการกำหนดนโยบายคือเรื่องของนโยบาย ของโรงเรียนเราที่ได้รับ 20 บาทเพียงพอยังรู้สึกว่าต้นทุนปัจจุบันกำลังสูงขึ้นโดยที่งบไม่เปลี่ยนแปลง เนื้อหมูเดิม 130 บาท ปีนี้ขยับขึ้นเป็น 170-180 บาท ถ้าอยากให้เด็กได้คุณค่าหรือได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์จริง ๆ อาจต้องเพิ่มงบประมาณตรงนี้ เพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินการหรือจัดการให้ได้คุณภาพ และได้วัตถุดิบที่ดีมาปรุงอาหารให้เด็ก ๆ”

ขณะที่คุณจงกลนีเน้นย้ำว่า “อาหารกลางวันที่โรงเรียนสำคัญมาก อยากจะให้ทุกคน ตั้งแต่ผู้บริหาร รัฐบาล อยากฝากไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี ถ้าท่านเห็นว่าประชากรไทยที่จะเติบโตในอนาคตต่อไป เป็นอนาคตของชาติที่มีประสิทธิภาพสูง ควรจะมาส่งเสริมเด็ก ๆ โดยเฉพาะอาหารและโภชนาการของเด็ก ลงทุนให้มากหน่อย เพราะลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ เพื่อไปสร้างงาน สร้างรายได้ ที่จะเก็บมาเป็นภาษีของรัฐบาล”

เมื่อเด็กคืออนาคตของชาติ อาหารกลางวันก็เป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ขาด ชาติอยากให้เด็กฉลาด อาหารในถาดก็ต้องดี ถ้าได้กินของดี สมองก็ดี ถ้าได้กินของไม่ดี ศักยภาพก็ไม่ดี ดังคำที่ว่า “You Are What You Eat (กินอย่างไรได้อย่างนั้น)”

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ