วัดระยะห่างเสาไฟกินรี พบ ไม่ตรงค่ามาตรฐาน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ที่ซอยกิ่งแก้ว 9ก ทีมข่าว พบมีการติดตั้งเสาไฟกินรีตลอดทั้งซอย สภาพพื้นถนนขรุขระ โดยการติดตั้งเสาไฟ ตั้งเรียงรายกันอยู่ฝั่งซ้ายของถนน มีเพียง 2 ต้นที่ตั้งอยู่ฝั่งขวา โดยฐานเสาอยู่ในรั้วบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ที่เปิดเป็นร้านกาแฟสด และหันหลอดไฟเข้าร้าน ลักษณะของเสา 2 ต้นนี้เหมือนกับเสาที่ตั้งเรียงรายริมถนน และมีป้ายบอกเลขลำดับเสาสีเขียวติด มีตัวเลข 4 ตัว ขึ้นต้นด้วยเลข 14 เช่นเดียวกับเสาด้านนอก โดยขณะที่ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจ บ้านหลังนี้ปิดเงียบ

ส่วนที่ ซอยกิ่งแก้ว 1 พบสะพานข้ามคลอง มีทางลาดเล็ก ๆ ลงไปเป็นถนนริมคลองแคบ ๆ ที่รถ จยย. 2 คันสวนกันลำบาก  ถนนไม่มีราวกั้น แต่มีเสาไฟกินรี  มีการเชื่อมเหล็กยึดต่อเสริมยื่นออกมาจากพื้นปูนเป็นฐานเสา ลักษณะใหม่ ที่เสายังมีความเงาวับ  ขณะที่สภาพโดยรอบเป็นคลอง มีขยะและกลิ่นเหม็นโชย  จากการสังเกตเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ พบมีประชาชนขี่รถ จยย.  รถจักรยาน  และเดินผ่านถนนเส้นนี้อย่างไม่ขาดสาย

 

พบชัยนาท เสาไฟเรือสุวรรณหงส์ ต้นละ 80,000 ยินดีให้ตรวจสอบ  

ชาวบ้าน จี้ สอบ เสาไฟมโนราห์แพง

ทีมข่าวสอบถามชาวบ้าน มีทั้งคนที่มองว่า เสาไฟกินรี ทำให้ถนนสว่างขึ้น เกิดอุบัติเหตุน้อยลง  รวมถึงมีข้อมูลว่า ช่วงพายุพัดแรงๆ มีเสาโค่นล้ม 1 ต้น แต่เมื่อแจ้งทาง อบต. เพียง 2-3 วันก็มีการเข้ามาปรับปรุงแก้ไข

ขณะที่ ชาวบ้านบางคน มองว่าเสาไฟกินรีให้ความสว่างน้อยกว่าเสาไฟปกติ  ต้องอาศัยไฟหน้ารถจักรยานยนต์ให้แสงสว่างเวลาขี่ผ่าน หลังติดตั้งก็ยังมีอุบัติเหตุผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ตกคลองบ่อยครั้ง มองว่าการทำเสาไฟเป็นรูปกินรี เป็นการใช้งบประมาณสิ้นเปลืองที่ชาวบ้านไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่

ทีมข่าวทดลองนำตลับเมตรไปวัดความห่างของเสาไฟ บนถนนลูกรัง ซึ่งมีเสาไฟประติมากรรมกินรี อยู่ พบว่า ความกว้างของถนนลูกรัง กว้าง 3.3-3.5 เมตร ตามมาตรฐานการติดตั้งเสาไฟ ที่กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด ถนนกว้างไม่เกิน 6 เมตร จะต้องติดตั้งเสาไฟแบบสลับฟันปลา  แต่จุดนี้ มีเสาไฟ 2 ฝั่งถนนแบบตั้งคู่ขนานกัน  รวมถึงบางช่วงของถนน ระยะห่างเสาไฟ ฝั่งเดียวกัน ห่าง 5 เมตร  6 เมตร  7 เมตร ไม่เท่ากัน

ส่วนที่ทางเข้าบ้านคลองบัวเกราะ ซอย6  พบว่า ถนนคอนกรีตซอยนี้ กว้าง 5 เมตร ตามมาตรฐานการติดตั้งเสาไฟ ที่กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด ถนนกว้างไม่เกิน 6 เมตร จะต้องติดตั้งเสาไฟแบบสลับฟันปลา  แต่การจากสำรวจ พบว่า ช่วงต้นซอย มีการตั้งเสาไฟ ฝั่งเดียวกัน 3 ต้น   ถัดมา มีการสลับเสาไฟไปติดตั้งอีกฝั่งถนน 3 ต้น และสลับมาอีกฝั่ง ส่วนระยะห่างระหว่างเสาไฟแต่ละต้น วัดได้ 7.7 เมตร

ที่แปลกสุด คือท้ายซอย เป็นพงหญ้า ไม่มีถนนที่จะเดินต่อไปได้  มีแต่หญ้าสูงเกือบถึงเอว แต่เมื่อมองเข้าไปพบว่ามีการติดตั้งเสาไฟ 7  ต้น ลึกเข้าไปในป่าหญ้า   ด้านในไม่มีถนน ไม่มีบ้านคน ไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้ ตามหลักการตั้งเสาไฟ หากอยู่ในถนนเล็กๆในซอย หรือ ทางเท้า การติดตั้งเสาไฟ จะต้องติดแค่ฝั่งเดียวของถนน  หรือ หาก ถนนกว้างกว่าทางเท้า แต่ไม่เกิน 6 เมตร จะต้องติด สลับไปมา 2 ฝั่งถนน

หาก ถนนกว้าง 8 เมตร ขึ้นไป จะสามารถติดติด เสาไฟ 2 ฝั่งแบบตรงข้ามกันได้  ส่วนระยะห่างของเสาไฟแต่ละต้น ตามหลักจะอยู่ที่ 20 เมตร 40 เมตร และ 80 เมตร  โดยค่าเฉลี่ยของ เขตทางจะอยู่ที่ 30-40 เมตร  แต่จากที่ทีมข่าวลงพื้นที่ไปวัดดู พบว่า เสาไฟแต่ละต้นห่างกันไม่ถึง 10 เมตร

สำหรับ การก่อสร้างเสาไฟประติมากรรมกินรี  บริษัทที่ได้ก่อสร้าง ชื่อ บริษัทบางกอกไฟถนน จำกัด  สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในรอบ 8 ปี บริษัทนี้ชนะการประกวดโครงการจัดทำเสาไฟกินรีที่อบต.ราชาเทวะ รวม 10 สัญญา รวมวงเงินทั้งหมด 734 ล้านบาท

พีพีทีวี ตรวจสอบเพิ่มเติม ข้อมูลเว็บไซต์องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)  ยกตัวอย่างให้ดู 2 สัญญา  สัญญาแรก คือ ปี 2563 เป็นโครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรี 1,235 ต้น ราคากลางของโครงการ 117,168,278.50บาท

มีบริษัท ยื่นประกวดราคา 3 บริษัท คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สารคามการไฟฟ้า ยื่นประมูล 117,165,000 บาท  บริษัทบางกอกไฟถนน จำกัด ยื่น 117,150,000 บาท  และ บริษัททรัพย์เจริญยิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง ยื่นต่ำที่สุด คือ 72,644,000 บาท ถูกกว่าราคากลางกว่า 44 ล้านบาท แต่ตรวจสอบแล้วบริษัทไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ทำให้ตกไป ส่วน บางกอกไฟถนน ชนะการประมูล โดยราคาที่ยื่น ต่ำว่า ราคากลาง 18,000 บาท  ส่วน บริษัทสารคามการไฟฟ้า ยื่นต่ำกว่า ราคากลาง แค่ 3,200 บาท ทำให้แพ้ไป

จากการตรวจสอบ พบว่า มีหลายสัญญา ที่มีลักษณะเช่นนี้ คือ บริษัทบางกอกไฟถนน ชนะ ด้วยราคาถูกกว่าราคากลาง และ ราคาคู่แข่งเพียงเล็กน้อง

ถ้าดูข้อมูล ตั้งแต่ปี 2562 – 2564 การแข่งประกวดราคางานเสาไฟประติมากรรมกินรี ของ อบต.ราชาเทวะ  พบว่า บริษัท บางกอกเสาไฟ แข่งกับบริษัทหน้าเดิมๆ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สารคามการไฟฟ้า บริษัท สุราษฎร์แสงทอง จำกัด  บริษัททรัพย์เจริญยิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง  และ บริษัท โฮม จัง กึม จำกัด โดย สารคามการไฟฟ้า และ สุราษฎร์แสงทอง เป็น 2 บริษัท ที่มักแพ้การประกวดราคา ในราคาใกล้เคียงกับ บางกอกไฟถนน

ส่วนบริษัททรัพย์เจริญยิ่ง ลงแข่งขันด้วยแต่คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์การแข่งขัน  ขณะที่ บริษัทโฮม จัง กึม จำกัด ก็ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเช่นกัน และจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่พอข้อมูลบริษัทโฮม จัง กึม  แต่ถ้าเอาชื่อบริษัทไปค้นหาในกูเกิ้ล จะขึ้นว่าเป็นบริษัทที่ขายสินค้าและนำเข้าเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน ที่ตั้งบริษัทอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร

ข้อมูลทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งแต่ละบริษัทมีโอกาสยื่นซองราคา เพียง 1 ครั้ง เพื่อแข่งขันกัน  แต่กลับพบว่า การแข่งขันยื่นซองราคาต่ำกว่าราคากลางแค่เล็กน้อย ทั้งที่ตามหลักความน่าจะเป็น หากอยากได้งาน จะต้องกดราคาให้ต่ำเพื่อแข่งขันกัน

ด้านแอดมินเพจเฟซบุ๊ก ชมรม สตรอง ต้านทุจริตประเทศไทย เปิดใจกับทีมข่าวว่า เสนอให้กรมบัญชีกลาง บรรจุวัสดุทำเสาไฟและประติมากรรม เข้าไปในรายการราชพัสดุ เพื่ออุดช่องโหว่ทางกฎหมาย ไม่ให้เอกชนกำหนดราคาสูงเกินไป พร้อมย้ำว่าช่องว่างของกฎหมายที่สามารถกำหนดราคาประติมากรรมขึ้นมาเอง  ทำให้ที่ผ่านมาท้องถิ่นหลายแห่งใช้เป็นช่องทางหาผลประโยชน์ การตรวจสอบเอาผิดไม่ได้

ส่วนการตรวจสอบ มองว่าหาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน อาจต้องปรับไปดูเรื่องการติดตั้งเสาไฟในพื้นที่เอกชนด้วย เพราะ หากตรวจสอบเรื่องความคุ้มค่า อาจไม่สามารถเอาผิดท้องถิ่นได้  เพื่อการมองว่าคุ้มค่าหรือไม่เป็นเรื่องดุลยพินิจ โดยจากข้อมูลที่สตง.เคยตรวจสอบ พบว่า เสาไฟฟ้าโซล่าเซลล์ แบบธรรมดา ส่วนใหญ่อยู่ที่ราคาประมาณ 31,000 บาท ต่อ ต้น ส่วนเสาไฟโซล่าเซลล์ประติมากรรมกินรีของ อบต.ราชาเทวะ ราคาเฉลี่ยต้นละ 95,000 บาท

ขณะที่ความคืบหน้าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จ.สมุทรปราการ พนักงานแจ้งว่าผู้อำนวยการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดสมุทรปราการ เดินทางไปประชุมกับ สตง.ภูมิภาคที่3 นครปฐม เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นการตรวจสอบกรณีเสาไฟกินรี  และภายในสัปดาห์นี้จะแถลงข่าวพร้อมกับ สตง.ส่วนกลาง

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ