แม่ค้า เผยประสบการณ์ถูกล่อซื้อน้ำส้ม 500 ขวด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โซเชียลมีการเป็นโพสต์ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ระบุว่าเป็นแม่ค้าขายน้ำส้ม แชร์ประสบการณ์ถูกล่อซื้อ น้ำส้ม 500 ขวด แถมโดนปรับอีกนับหมื่นบาท ประเด็นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ อย่างกว้างขวาง มีทั้งนักกฎหมาย และนักวิชาการตั้งคำถามสงสัย แจ้งจับแม่ค้าน้ำข้อหาอะไร ล่าสุดกรมสรรพสามิต ชี้แจง แม่ค้าน้ำส้มไม่เสียภาษีและถูกร้องเรียนเข้ามา

แม่ค้าสุดดีใจ รับออเดอร์น้ำส้ม 500 ขวด กลับโดนล่อซื้อ ถูกจับปรับ 12,000 บาท

สรรพสามิต แจง "ล่อซื้อน้ำส้มแต่ไม่ได้ปรับ"

แม่ค้าในเฟสบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ ถูกคนแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่รัฐ สั่งน้ำส้มจำนวนมาก เพื่อล่อซื้อ อ้างว่าแม่ค้าทำผิดกฎหมาย ขณะที่ชาวเน็ตแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมาก

โดยโพสต์ดังกล่าว ระบุว่า “เมื่อวานมีออเดอร์น้ำส้ม 500 ขวด เราดีใจแทบตาย มารับที่ร้าน จ่ายเงินสด เป็นใครก่อดีใจเศรษฐกิจแบบนี้ เร่งกันแทบตาย จ้างคนทั้งทำเช้า ทำเย็น พอใกล้ถึงเวลานัด มี ลูกค้าเข้ามา ทานสเต็กที่ร้าน สักพักก่อขอเข้าไปข้างใน

ดูว่าเรามีขายอะไรบ้างน้ำอะไร เข้าไปห้องทำน้ำ ตามหาน้ำส้ม 500 ขวด สักพัก ถามหาใบอนุญาต ขายน้ำ เราก็งง เราไม่ได้เป็นโรงงาน ต้องใช้เหรอ แต่เราก็ไม่ได้อะไร เลยให้น้องที่ร้านถามว่าขออนุญาตทำยังไง เค้าก็นับน้ำในร้าน ว่ามีเท่าไหร่ จะต้องมีค่าปรับ ค่าใช้จ่าย สุดท้าย มา 5 คน จบที่ 12,000 เราก็ยังรอลูกค้าที่สั่งมารับอยู่ สุดท้ายและท้ายสุด บล๊อคเพจไปเรียบร้อย เค้าคือพวกเดียวกัน ไปดูเฟส มีรูปหมู่ครบทั้งคนสั่ง คนมา…เข้าใจความรู้สึกเหมือนในข่าว”

 

ทีมข่าวลงพื้นที่ไปตรวจสอบร้านแม่ค้าขายน้ำส้ม ที่เป็นข่าว พบว่าบริเวณหน้าร้านเปิดเป็นร้านขายสเต็ก แต่ไม่เห็นมีน้ำส้มวางขายหน้าร้าน มีเพียงป้ายเป็นรูปส้มระบุว่ารับบรรจุ จำหน่าย ทั้งแบบปลีกและแบบส่ง โดยสามารถทำเป็นแบรนด์ของตัวเองได้

จากการสอบถามพนักงานในร้านไม่สามารถให้ข้อมูลได้ทีมข่าวจึงพยามติดต่อไปยังเจ้าของร้าน ในช่วงแกเจ้าของร้านยินดีให้ข้อมูลหลังเลิกงานช่วง 15:00 น. แต่เมื่อทีมข่าวติดต่อกลับไปอีกครั้งตามเวลานัดหมาย เจ้าของร้านกับบอกว่าไม่ยินดีให้สัมภาษณ์แล้ว เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของลูกน้อง และไม่สะดวกให้คลิปวิดีโอหลักฐานจากกล้องวงจรปิดวันที่เกิดเหตุด้วย

หลังจากมีข่าวเจ้าหน้าที่ล่อซื้อน้ำส้มแล้วเรียกเก็บค่าปรับ ก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งเป็นแม่ค้าขายน้ำส้มเช่นเดียวกัน ออกมาโพสต์ข้อความสนทนากับลูกค้า ที่เคยติดต่อมาสั่งซื้อน้ำส้มกับเธอ ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่ล่อซื้อ กับแม่ค้าเที่เป็นข่าว แต่โชคดีที่ยังไม่ได้ทำการซื้อขายกัน เธอจึงนำเรื่องราวมาโพสต์เตือน

 

แม่ค้าคนนี้ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า เธอเริ่มขายน้ำส้มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วหลังตกงานจากช่วงโควิด-19 ซึ่งปกติทางร้านจะขายน้ำส้มตามออเดอร์ลูกค้าที่สั่งเข้ามา ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีลูกค้าทักมาจะสั่งซื้อน้ำส้มที่เพจเฟซบุ๊กของเธอ แต่บังเอิญว่าทางเพจใช้การตอบข้อความอัตโนมัติจึงไม่ได้มีการพูดคุยโดยตรงกับลูกค้าคนนี้ จากนั้นลูกค้าคนนี้ได้สอบถามที่ตั้งโรงงาน เมื่อทางเพจต่อไปลูกค้าก็สอบถามราคาเพิ่มเติมแต่เพื่อส่งรายละเอียดราคาและภาพถ่ายสินค้ากลับไปให้ปรากฏว่าลูกค้าคนนี้ไม่ได้มีการสั่งซื้อต่อ และปิดกั้นเฟซบุ๊กไป

แม่ค้าคนนี้บอกว่า เธอไม่รู้ว่าการขายน้ำส้มจะต้องมีการขออนุญาตหน่วยงานใดหรือไม่ เพราะมองว่าเป็นเพียงการค้าขายขนาดเล็ก ซึ่งเมื่อเห็นข่าวก็ทำให้วันนี้หยุดขายน้ำส้มเพราะกลัวว่าหากถูกจับ แล้วไม่มีเงินเสียค่าปรับ

 

จากข้อมูลของแม่ค้าน้ำส้มพบว่า ชายที่ติดต่อเข้ามาขอซื้อน้ำส้ม เป็นบุคคลเดียวกัน  ทีมข่าวจึงได้ติดต่อไปสอบถาม  ชายบุคคลดังกล่าว ยืนยันว่าตนเองเป็นเจ้าหน้าที่กรรมสรรพสามิตจริง และได้เข้าไปตรวจสอบแจ้งความผิดกับแม่ค้าน้ำส้มจริง  เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนเข้ามา แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่มีการเรียกรับเงิน 12,000บาท  ตามที่มีการระบุ ทีมข่าวจึงได้สอบถามว่า แม่ค้าน้ำส้มรายนี้ กระทำผิดอย่างไร เจ้าหน้าที่ ชี้แจงว่า ผิด พ.ร.บ.สรรพสามิตปี 2560 ผิดที่ไม่จดทะเบียน และมีความหวานเกิน 5 % 

 

ล่าสุด นายณัฐกร อุเทนสุต ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต ชี้แจ้งกรณีนี้ว่า เคสนี้เป็น 1 ใน 5 ที่ถูกร้องเรียนมาว่า เป็นโรงงานอุตสาหกรม ที่ผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐานและยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต จึงมอบหมายเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตเข้ามาให้คำแนะนำ เพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้องยืนยันเจ้าหน้าที่ไม่ได้เรียกค่าปรับเงิน จำนวน 12,000 บาท ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด โดยเคสนี้ถือเป็นเคส ที่ 5 ที่ได้ดำเนินการตรวจสอบและแนะนำให้เสียภาษีอย่างถูกต้อง

 

หลังจากโพสต์ดังกล่าว มีผู้แชร์และเข้ามาแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก ทั้งประชาชน นักกฎหมาย  เช่นทนายเกิดผล แก้วเกิด ให้ความเห็นเรื่องนี้ ระบุว่า กรณีนี้มองได้ 2 ประเด็น  ประเด็นแรกคือ หากแม่ค้ามีความผิดจริง จากการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิต ซึ่งกฎหมายระบุว่าผู้ที่ผลิตน้ำผลไม้ หรือน้ำผัก จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 3 ตามที่กฏหมายกำหนด ยกเว้นยื่นของดเว้นภาษีไว้แล้ว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2562 ก็ จะถือว่ามีความผิดตามกฏหมาย

ส่วนแม่ค้าที่ขายน้ำส้มคั้นหรือน้ำผักผลไม้ ตามตลาดนัด ทนายเกิดผล ระบุว่า ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีได้ หากเข้าเงื่อนไขที่จัดว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ต่อเมื่อ มี บรรจุภัณฑ์ชัดเจน มีเครื่องหมายการค้าหรือชื่อร้าน  ทำการขายส่งร่วมด้วย และมีส่วนผสม ที่จะต้องเสียภาษี เช่นน้ำตาลเป็นต้น แต่ทั้งนี้ต้องดูพยานหลักฐานอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่นหน้าร้าน หรือเคยมีประวัติขายส่งในปริมาณมาก ๆ หรือไม่

ส่วนอีกประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่กรณีที่เจ้าหน้าที่ทำการล่อซื้อ ถึง 500 ขวด กรณีนี้ ทนายเกิดผล มองว่า ต้องให้เจ้าหน้าที่ ที่เข้าไปจับกุมออกมาชี้แจงว่า ก่อนหน้าที่จะทำการล่อซื้อ มีข้อมูลหลักฐานอะไรที่บ่งบอกว่าแม่ค้าคนนี้เป็นผู้ผลิตน้ำผลไม้รายใหญ่ ถ้าหากไม่มีหลักฐาน อาจเข้าข่ายหลอกล่อให้กระทำความผิด

ด้าน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการ ทุจริตภาค 9 ตั้งข้อสังเกตต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงว่าจับคนขายน้ำส้มขวด ด้วยข้อหาอะไร เพราะแม้จะมีกฎหมายควบคุมการผลิตอาหาร แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าเป็นจับในข้อหาอะไร และเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานใด ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงว่าอะไรทำได้ หรือไม่ได้ และหากจะขายน้ำผลไม้ต้องทำอย่างไร เพราะสภาพเศษฐกิจ ที่อยู่ในภาวะต้องดิ้นรนทำมาหากิน มีคนขายน้ำส้ม อยู่เกือบทุกพื้นที่ ซึ่งปกติความผิดเล็กน้อย สามารถตักเตือนก่อนได้

สำหรับคดีลักษณะนี้ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการ ทุจริตภาค 9  บอกว่า ส่วนตัวไม่เคยพบ แต่อาจมีคดีนี้ในพื้นที่อื่น ๆ ได้พร้อมอธิบายว่าพฤติการณ์ล่อซื้อ มักใช้กับสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว เช่น ยาเสพติด ส่วนการจ้างวานให้ผลิตน้ำส้มขวด แล้วแสดงตัวจับกุม เป็นการจ้างวานใช้ หรือการจ้างให้กระทำความผิด ซึ่งผู้จ้างถือว่ามีความผิดด้วย เสมือนเป็นตัวการ

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ