"หมอสันต์" แจง ถอนต้นฉบับวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด "ไม่ได้หมายความว่าใช้รักษาไม่ได้ผล"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"หมอสันต์" ชี้แจง วิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด "ไม่ได้หมายความว่าใช้รักษาไม่ได้ผล" แต่ จำเป็นต้องมีการ "วิจัยซ้ำ" ด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้น

จากประเด็นที่ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า คณะผู้วิจัยชาวไทย ที่ทำวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดได้ขอถอนต้นฉบับของตัวเองกลับออกมาจากเว็บไซท์งานวิจัยรอตีพิมพ์ ( medRxiv) เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในการคำนวณเชิงสถิติในประเด็นการคิดค่านัยสำคัญทางสถิติ (p-value) ซึ่งการขอถอนต้นฉบับนี้ ไม่ได้หมายความว่า ยาฟ้าทะลายโจรใช้ไม่ได้ผล

ราชทัณฑ์ ลุยปลูก “ฟ้าทะลายโจร” & “โกฐจุฬาลัมพา” หวังเป็นคลังยาช่วยต้านโควิด

ระวัง ยาปลอม ซื้อฟ้าทะลายโจร ได้บอระเพ็ด

 

 

 

ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรสักแอะเดียวที่จะบ่งชี้ว่าการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโรคโควิด19ไม่ได้ผล ฟังให้ดีนะ “ยังไม่มั่นใจว่ามันได้ผลจริงหรือเปล่า” ไม่เหมือนกับ “ใช้แล้วไม่ได้ผล” นพ.สันต์  ระบุ 

นพ.สันต์ อธิบายว่า เมื่อมีโรคโควิด-19 มา ได้มีการทำวิจัยในห้องทดลองที่ไต้หวันและในเมืองไทย แล้วสรุปผลได้ตรงกันว่าฟ้าทะลายโจรระงับยับยั้งเชื้อไวรัสซาร์สโควี2ซึ่งเป็นเชื้อต้นเหตุของโรคโควิด19ทั้งนอกเซลและในเซลได้

ต่อมาก็ได้มีการทดลองใช้ ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด19 ในคนกลุ่มเล็ก (case series) จำนวน 6 คน ซึ่งสรุปผลได้ว่า ฟ้าทะลายโจรในขนาดที่ใช้ (180 มก.ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อวันนาน 5 วัน) สัมพันธ์กับการที่ไวรัสลดจำนวนลงและหมดไปจากตัว (viral shedding) ได้ โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงที่มีนัยสำคัญ งานวิจัยนี้ไม่ได้ตีพิมพ์ แต่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 

ต่อมา พัฒนาการทางวิชาการในเรื่องนี้ก็แยกกันทำไป 2 ทาง

ทางหนึ่ง คือ ได้มีการทำวิจัยแบบย้อนหลังตามดู (retrospective cohort study) กลุ่มคนไข้โควิด19 ที่ได้รับการรักษาต่างกันสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งใช้ฟ้าทลายโจร 309 คน อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ใช้ฟ้าทลายโจร 526 คน แล้วพบว่า กลุ่มที่ได้ฟ้าทลายโจรเป็นปอดบวม 3 คน (0.9%) กลุ่มที่ไม่ได้ฟ้าทลายโจรเป็นปอดบวม 77 คน (14.64%) ซึ่งเป็นความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.001) งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในรูปของรายงานสรุป (short communication) ในวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 

อีกด้านหนึ่งก็มีการทำวิจัยการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิด19 ในรูปของการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งถือว่าเป็นระดับหลักฐานชั้นสูงสุดของการวิจัยทางการแพทย์ รายละเอียดของงานวิจัยมีอยู่ว่าผู้วิจัยได้ใช้ผู้ป่วย 57 คน สุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่ง 29 คน ให้กินฟ้าทะลายโจรซึ่งมีเนื้อยาแอนโดรกราฟโฟไลด์ 180 มก.ต่อวันกินนาน 5 วัน อีกกลุ่มหนึ่ง 28 คน ให้กินยาหลอก โดยใช้การเกิดปอดอักเสบ (pneumonia) เป็นตัวชี้วัด พบว่า

กลุ่มที่กินยาหลอกเกิดปอดอักเสบ 3 คน (10.7%) ขณะที่กลุ่มที่กินฟ้าทะลายโจรไม่เกิดปอดอักเสบเลย (0 คน) เป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.039) ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ส่งผลไปตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ โดยเผยแพร่นิพนธ์ต้นฉบับล่วงหน้าในเว็บไซท์งานวิจัยรอการตีพิมพ์ (medRxiv)[5] แต่ต่อมาคณะผู้วิจัยพบความผิดพลาดในการคำนวณค่า p-value ว่าที่คำนวณได้ p = 0.039 นั้นผิดไป ที่ถูกต้องเป็น p = 0.1 จึงได้ขอถอนนิพนธ์ต้นฉบับกลับมาแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าว

เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนให้ใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโรคโควิด19ในคนยังมีไม่มากพอ (เพราะยังขาดงานวิจัยระดับ RCT) จึงต้องทำวิจัยซ้ำโดยการขยายกลุ่มตัวอย่างให้ใหญ่ขึ้น

 

เพราะการที่กลุ่มตัวอย่างเล็กได้ค่า p มากกว่า 0.05 ก็บอกได้แค่ว่ายังบอกไม่ได้ว่าความแตกต่างในผลการรักษา (คือการเกิดปอดบวม) ในทั้งสองกลุ่มมันต่างกันจริงหรือไม่ การจะรู้ได้ก็ต้องมีกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่กว่านี้

ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรสักแอะเดียวที่จะบ่งชี้ว่าการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโรคโควิด19ไม่ได้ผล ฟังให้ดีนะ “ยังไม่มั่นใจว่ามันได้ผลจริงหรือเปล่า” ไม่เหมือนกับ “ใช้แล้วไม่ได้ผล”

ซึ่งยาคู่แข่งกันที่ใช้ในเมืองไทยอีกตัวคือ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ก็มีข้อมูลน้อยประมาณเดียวกัน คือทุกอย่างติดอยู่ที่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือนับถึงวันนี้การใช้ ฟาวิพิราเวียร์  (Favipiravir) แล้วจะทำให้ไวรัสโควิด19 หายไปจากตัวเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ..รึก็เปล่า จะทำให้ใช้ออกซิเจนน้อยลง..รึก็เปล่า จะทำให้ต้องเข้าไอซียู.น้อยลง..รึก็เปล่า และที่สำคัญจะทำให้คนป่วยตายน้อยลง..รึก็เปล่า 

แต่ ฟ้าทะลายโจรมันมีความพิเศษกว่า ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ตรงที่แค่ทำวิจัยซ้ำขยายกลุ่มตัวอย่างให้ใหญ่ขึ้นอีกนิดเดียว ก็จะเห็นดำเห็นแดงแล้วว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลต่างจากยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เท่าที่ผู้รู้ทางสถิติคำนวณให้คร่าวๆ หากพิจารณาจากอัตราการเป็นปอดบวมของผู้ใช้และผู้ไม่ใช้ฟ้าทะลายโจรในงานวิจัย retrospective cohort ที่ได้รายงานไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แค่ขยายกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย RCT ไปให้ได้กลุ่มละ 40 คน คือขยายอีกกลุ่มละ 10 คน ก็จะเห็นดำเห็นแดงกันแล้ว

ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชสามัญในท้องถิ่น หาง่ายกว่า ราคาถูกกว่า มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติมากกว่าไปซื้อยาเขามาทั้งๆที่ผลการรักษาก็แปะเอี้ย ในแง่การค้าขายระดับนานาชาติ หากจะขายฟ้าทลายโจร ก็ต้องมีงานวิจัยระดับ RCT สนับสนุน ตัวหมอสันต์จึงลุ้นตัวโก่งให้ทำงานวิจัยนี้ต่อให้เบ็ดเสร็จสะเด็ดน้ำโดยยินดีช่วยทุกอย่างเท่าที่หมอแก่คนหนึ่งจะช่วยได้

ที่มา :  เฟซบุ๊ก นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ