องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน แนะทุกภาคส่วนหนุน “คบเด็กสร้างชาติ” ดึงคนรุ่นใหม่ร่วมตรวจสอบโกง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ แนะอย่ามองข้าม “คนรุ่นใหม่” พร้อมขอทุกภาคส่วนหนุน “คบเด็กสร้างชาติ” ดึงคนรุ่นใหม่ผสานพลังสังคม ร่วมยกระดับเครื่องมือตรวจสอบโกง 5 องค์กรเทคภาครัฐพร้อมหนุนผลักดันเครื่องมือปราบโกง ใช้งานได้จริง

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2564 ภายใต้แนวคิด “คบเด็กสร้างชาติ” ในรูปแบบ Virtual Event

ปลุกคนไทยลุกขึ้นต้านคอร์รัปชัน“ตื่นรู้ สู้โกง” ชี้ต้องกล้าเปิดเผยข้อมูล

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ร่อนจม.เปิดผนึก จี้ หน่วยงานรัฐ “ไม่รับ-ไม่ให้ “ของขวัญปีใหม่

โดยเชิญชวนหน่วยงาน องค์กรทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ร่วมแสดงพลังต่อต้านคอร์รัปชัน ด้วยการแชร์ Live พร้อมติด hashtag #ชื่อหน่วยงาน #วันต่อต้านคอร์รัปชัน2564 #คบเด็กสร้างชาติ  มีหลายหน่วยงาน หลายองค์กรให้ความสนใจร่วมทำกิจกรรมอย่างคึกคัก

นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ร่วมกับองค์กรสมาชิกและเครือข่าย ได้จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันในวันที่ 6 กันยายน เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เพื่อเป็นเวทีแสดงออกถึงพลังของทุกภาคส่วนในการร่วมแก้ปัญหาการโกงกินที่กัดกร่อนประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ในปีนี้องค์กรฯ ได้จัดกิจกรรม ACTkathon 2021 ชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมแข่งขันออกไอเดียสร้างเครื่องมือต้านโกงพัฒนาต่อยอดการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี เพิ่มความโปร่งใส สร้างการมีส่วนร่วม อยากเรียกร้องหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ หรือภาคประชาสังคม ร่วมทำงานกับคนรุ่นใหม่ทั้งในองค์กร หรือในสังคมภายนอก โดยองค์ประกอบความเป็นเด็กสร้างชาติ มี 3 ข้อ คือ

1. ออกแบบอย่างเป็นระบบ จากการเริ่มตั้งคำถามเชิงลึกของเหตุการณ์ที่ไม่ปกติที่เกิดขึ้นในสังคมรอบตัว

2. เข้าถึงและประมวลผลจากฐานข้อมูลที่เป็นความจริง เพื่อวิเคราะห์และค้นหาคำตอบโดยใช้ฐานข้อมูล อย่างโปร่งใส

3. สามารถขยายผล “ขนาดใหญ่” จากที่คนจำนวนมากสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่ปกติในสังคม

“คนรุ่นใหม่” เผยเบื้องหลังสุดล้ำปล่อยพลังพัฒนาเทคโนโลยีจับทุจริต

ในงานได้มีเปิดไอเดียของ “เด็ก” ในการคิดค้นเครื่องมือ “สร้างชาติ” โดยนำ 3 ทีมที่ชนะเลิศการนำเสนอไอเดีย ACTkatron 2021 คือ “ทีมกินยกแก๊ง” Corruption Analysis ที่มาของโครงการคือ ความพยายามจัดการกับข้อมูลของรัฐที่กระจัดกระจาย มีข้อมูลจำนวนมาก ขาดการเชื่อมโยงกัน โดยได้สร้างเครื่องมือเพื่อวิเคราะห์ ว่าโครงการไหนมีโอกาสจะเกิดคอร์รัปชันบ้าง บริษัทที่ได้งบประมาณไปมีเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือไม่ และโครงการที่เราสนใจมีโอกาสที่จะเกิดการฮั้วประมูลหรือไม่

“ทีมขิงบ้านเรา” สนใจงบประมาณของท้องถิ่นที่คนมักจะมองข้าม การนำฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้วบน ACT Ai มาออกแบบใหม่และนำเสนอให้เข้าใจง่ายขึ้น เลือกเฉพาะข้อมูลในส่วนของการบริหารส่วนท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การ “ให้คนในชุมชนรู้จักชุมชนของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น” 

ทีม "PICA" เรดาร์จับโกง แอปพลิเคชันร้องเรียนที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของโครงการ โดยผู้ที่ต้องการร้องเรียนลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนและเก็บข้อมูลไว้ในบล็อกเชน PICA สามารถทำงานได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ข้อมูลที่ได้จะส่งต่อให้ภาคีต่อต้านการคอร์รัปชัน

5 องค์กรเทคภาครัฐพร้อมสนับสนุนผลักดัน เครื่องมือปราบโกง ให้ใช้งานได้จริง

ทางองค์กรต้านคอร์รัปชันฯ ยังได้เชิญ 5 องค์กรเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพูดคุยในหัวข้อ Mentors Perspective:แผนการต่อยอดเครื่องมือ-What's Next for ACTkathon เพื่อมาพูดคุยถึงการทำให้ไอเดียของคนรุ่นใหม่ใช้งานได้จริง  โดย รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) กล่าวว่า จีบีดีไอเป็นหน่วยงานที่ดูเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับบิ๊กดาต้าภาครัฐ ดังนั้น ถ้าทีมใดต้องการข้อมูลในการต่อยอด สิ่งที่ให้ความช่วยเหลือได้ คือ การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญสาย AI ที่สามารถเข้ามาช่วยแนะนำได้ หรือกลุ่มที่ต้องการเชื่อมโยงประวัติของนักการเมือง  จีบีดีไอพอจะมีคนช่วยให้คำแนะนำ รวมทั้งการสนับสนุนในส่วนของเทคโนโลยี

ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า รู้สึกชื่นชมกับเครื่องมือที่คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาขึ้นมา และอยากเป็นพื้นที่ต่อยอดให้ประเด็นที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมและความยุติธรรมของสังคมได้ถูกนำไปแก้ไข โดยได้ตั้งสำนักนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมขึ้น เพื่อมุ่งหวังให้เกิดระบบนิเวศน์และความคิดนอกกรอบ ซึ่งได้เปิดพื้นที่เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน รวมถึงนักคิดนักสังคม และในปลายปีหน้าจะเปิดพื้นที่ สำหรับประชาชนทุกช่วงวัยได้เข้ามาเรียนรู้ถึงการนวัตกรรมเพื่อสังคม

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยกาสำนังานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) กล่าวว่า ข้อมูลจะทำให้เราเห็นและตั้งคำถามได้ บทบาทของดีจีเอ คือการทำให้หน่วยงานรัฐสบายใจที่จะเปิดเผยข้อมูล โดยจะขับเคลื่อนประสานกับหน่วยราชการให้นำข้อมูลเปิด (Open  Data)ไปต่อยอดได้ โดยมุ่งไปที่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือข้อมูลพื้นฐาน 6 ด้าน คือ เกษตร เอสเอ็มอี การศึกษา สวัสดิการประชาชน ความโปร่งใส และสุขภาพ โดยบูรณาการทำให้ข้อมูลเปิดมีมากขึ้น

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า การเอาเด็กรุ่นใหม่มาทำเรื่องทุจริตเป็นเรื่องที่ดีมาก การจะทำให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้ได้จริงคงต้องเริ่มจากเจ้าของข้อมูลที่ยินยอมให้นำข้อมูลมาใช้ได้ ดีป้า พร้อมให้การสนับสนุน การนำเครื่องมือไปพัฒนาต่อทั้งด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและหาช่องทางที่จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาเครื่องมือให้ใช้งานได้จริง

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กล่าวว่า NIA พร้อมสนับสนุนทุนเพื่อทำให้นวัตกรรมนำไปใช้งานได้จริง เราหวังว่าจะทำให้เกิดนวัตกรรมสังคม คือ เกิดนวัตกรรมของภาครัฐ นวัตกรรมของภาคสังคม เป็นการสร้างประชาธิปไตยทางนวัตกรรม

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ทุกหน่วยงานการสนับสนุนเครื่องมือต้านโกง เรื่องเงินและเทคโนโลยีไม่ใช่หัวใจสำคัญ การสนับสนุนด้วยการเปิดเผยข้อมูลและการนำเครื่องมือไปใช้จะเกิดประโยชน์มากกว่าในการทำให้เครื่องมือมีความสมบรูณ์มากมากขึ้น หากทุกหน่วยงานมาร่วมกันพัฒนาเครื่องมือให้เข้มแข็งและทรงพลังมากขึ้นคือการสนับสนุนที่เราต้องการ คนรุ่นใหม่ได้มาให้ไอเดียแล้วถึงเวลาที่คนรุ่นใหญ่จะช่วยสนับสนุนเพื่อให้การสร้างเครื่องมือต่อต้านการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้จริง

 

ทีมพัฒนา  ACT Ai ต่อยอดพัฒนาตัวตรวจงบโควิด-19 โครงการก่อสร้างภาครัฐ พร้อมตั้งเป้าสร้างระบบนิเวศน์ปราบโกงเชื่อมโยงเครื่องมือไฮเทคตรวจทุจริต

ในงานยังมีการนำเสนอแนวทางพัฒนาเครื่องมือ ACT Ai ให้รองรับ-เชื่อมต่อเครื่องมือต้านโกง โดย ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค และ นายณัฐภัทร เนียวกุล  ผู้ดูแลโปรเจ็กต์ ACT Ai 

นายณัฐภัทร กล่าวว่า ACT Ai  คือ ทำให้มีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน การเอาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความโปร่งใสและการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน โดยเริ่มจากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และข้อมูลนิติบุคคลที่มีความสำคัญมาก จากนั้นจึงพัฒนาต่อจน ACT Ai ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพความสำเร็จของ ACT Ai  คือการมีประชาชนเข้ามาใช้เครื่องมือ 40,000 - 50,000 ราย การตรวจสอบเสาไฟฟ้ากินรี ก็เป็นสิ่งที่ค้นพบด้วย ACT Ai ยังได้พัฒนาตัวจับโกงงบโควิด-19 เพราะการแก้ไขปัญหาโควิด -19 เกี่ยวกับโครงการเงินกู้ 4 แสนล้านบาท และยังได้พัฒนาเครื่องมือตรวจสอบงบประมาณก่อสร้างร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อนำข้อมูลมาเป็นส่วนเชื่อมและส่วนขยายของ ACT Ai ตัว ACT Ai จึงเป็นเครื่องมือที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการตรวจสอบการคอร์รัปชันรอให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับเครื่องมือใหม่ๆ สำหรับระบบนิเวศน์ของ ACT Ai ในภาพใหญ่ ตัว ACT Ai ชุดข้อมูลที่เราเตรียมไว้สามารถนำไปใช้ได้กับไอเดียที่เกิดขึ้นใหม่สามารถเชื่อมโยงกับ ACT Ai ได้ทันที โดยเอาข้อมูลที่เราเตรียมไว้ไปใช้ได้ทันที

ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค กล่าวว่า ACT Ai  เป็นจุดเริ่มต้น ของระบบนิเวศน์ของการต้านโกง เมื่อเราทำให้การเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้นได้แล้ว จึงต้องมีระบบนิเวศน์เชื่อมต่อข้อมูลมีเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาใช้งานจะทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันเกิดขึ้น Open Data เป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้ข้อมูลมีความง่ายสามารถติดตามได้ เครื่องมือที่ได้จากทีมที่มาเสนอไอเดียทำให้เกิดระบบนิเวศน์ที่ชัดเจนที่จะช่วยสนับสนุนให้เครื่องมือเกิดประสิทธิภาพที่แท้จริง

 

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ