น้องเจ้าอาวาสท่าพุฯ รับไม่มีเงินสร้างอาคารใหม่ ตีผู้บำบัดฯ เพราะบางคนคุมสติไม่ได้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วัดท่าพุราษฎร์บำรุง ศูนย์บำบัดยาเสพติด ถูกกล่าวหาว่า เจ้าอาวาสวัดนำเงินไปใช้จ่ายส่วนตัวจนร่ำรวย แต่ให้ผู้บำบัดอยู่รวมกันแบบแออัด คุณภาพชีวิต ล่าสุดทีมข่าวเปิดใจ น้องชายของเจ้าอาวาสวัด เผยก่อนมรณภาพ เจ้าอาวาสวัดใช้ชีวิตสมถะ ไม่ได้ใช้ชีวิตร่ำรวยตามที่ถูกโจมตี ขณะที่วันนี้ ลูกศิษย์เดินทางมารดน้ำศพเจ้าอาวาสที่เพิ่งมรณภาพเมื่อวานนี้( 20 ก.ย.)

ลูกศิษย์แจงขังผู้บำบัด เพราะก่อปัญหา

ผู้ปกครอง แห่รับลูก ปมดราม่าศูนย์บำบัด วัดท่าพุฯ กาญจนบุรี

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศพิธีรดน้ำศพ พระครูปลัดประสิทธิ์ รตินธโร เจ้าอาวาสวัดท่าพุราษฎร์บำรุง อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เป็นไปอย่างเรียบง่าย มีบรรดาศิษย์ยานุศิษย์เข้าร่วมรดน้ำศพเป็นจำนวนมาก  พระครูปลัดประสิทธิ์ มรณภาพเมื่อวานนี้ (20ก.ย.) ช่วงก่อนที่ ทีมงานของทนายไพศาล จะเดินทางมาถึงวัดได้ราว 15 นาที โดยเจ้าอาวาสสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงอยู่แล้ว ประกอบกับเครียดต่อเรื่องราวดังกล่าว อาการทรุดลง จนลูกศิษย์นำตัวส่งโรงพยาบาล แต่สุดท้ายมรณภาพ

นายทวัธ ภูมิผิว น้องชายเจ้าอาวาส เปิดใจกับทีมข่าว PPTV ว่า ตอนนี้วัดยุติการทำศูนย์บำบัดยาเสพติดแล้ว เพราะ คงไม่มีใครสานงานต่อ เนื่องจากเจ้าอาวาสมรณภาพแล้ว ที่ผ่านมายอมรับว่าสถานที่คับแคบจริง ตอนแรกมีแนวทางจะสร้างอาคารหลังใหม่ แต่ติดปัญหาช่วงโควิดทำให้ไม่มีเงินพอ ประกอบกับชาวบ้าน ขอร้องให้รับคนติดยาเสพติดมาช่วยบำบัดให้ จนในที่สุดมีมากถึง 216 คน จนแออัด

ส่วนการทุบตี ยอมรับว่าอาจมีบ้าง เพราะผู้ติดยาเสพติดบางคนควบคุมตัวเองไม่ได้ จำเป็นต้องตี ส่วนตัวมองว่า เหมือนพ่อแม่ตีลูก ยืนยันว่าไม่ได้ใช้ความรุนแรงเกินเหตุ  ส่วนตัวเชื่อว่า การที่ผู้บำบัดให้ข้อมูลด้านเดียว เป็นเพราะ หลายคน ปลุกระดมกัน และ หลายคน เพิ่งเข้ามาบำบัดได้เพียงไม่กี่เดือน อาการยังไม่ดีขึ้น แต่ต้องกลับออกไปอยู่โลกภายนอก

นายทวัธ พาทีมข่าวเดินไปดูกุฏิของพระครูปลัดประสิทธิ์ เจ้าอาวาสวัด ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ก่อนจะมณภาพ กุฏิมีลักษณะคล้ายกระต๊อบ ความกว้าง ประมาณ 2 เมตร พื้นยกสูงกั้นด้วยแผ่นยิปซัม มุงกระเบื้อง ด้านในมีเพียงที่นอนและข้าวของที่จำเป็นเล็กน้อย รอบกุฏิมีโต๊ะฉันข้าวและมีโรงครัวเล็ก ๆ ไว้ใช้ทำกับข้าว

นายทวัธ ยืนยันว่า เจ้าอาวาสไม่ได้ร่ำรวยตามที่หลายคนกล่าวหา ก่อนมรณภาพใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย เริ่มจัดตั้งศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดเมื่อประมาณ 20 ปี ที่แล้วเพราะอยากช่วยเหลือคน โดยมีค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการบำบัดคนละ 12,000 บาท โดย 10,000 บาท เป็นค่าอาหารเช้า-กลางวัน ตกเดือนละ 800 บาท ซึ่งบางเดือนก็ไม่เพียงพอต้องขอรับบริจาคข้าวสาร อาหารสดมาเสริม ส่วน 2,000 ที่เก็บเป็นรายเดือน ก็แบ่งจ่ายให้ผู้บำบัดคนละ 60 บาท ต่อวันเพื่อใช้ซื้ออาหาร-ขนมในมื้อเย็น

นายทวัธ ระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้ทางวัดก็ปล่อยให้ผู้บำบัดออกมาอยู่ภายในบริเวณวัดตามปกติ แต่ในช่วงที่โควิดระบาดระลอก3 กังวลว่าจะมีผู้บำบัดลักลอบหนีออกไปจากวัดจนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเพราะที่ผ่านมาก็เคยมี จึงตัดปัญหาด้วยกันจำกัดบริเวณกับผู้บำบัดทุกคน นอกจากผู้บำบัดที่หายแล้วและบวชเป็นพระหรือเณร จะสามารถออกมาอยู่ในบริเวณวัดได้

สำหรับกิจวัตรของผู้บำบัดยาเสพติดภายในอาคารตลอดระยะเวลาบำบัด ตั้งแต่วันจันทร์-อาทิตย์ เริ่มตั้งแต่ 03.00 น. ตื่นนอน สวดมนต์ 05.00 น. พักเบรค รอประทานอาหาร 06.00 น. รับประทานอาหาร 07.00 น. สวดมนต์ 12.30 น. อาบน้ำ 13.00 น. หัวหน้ากลุ่ม เป็นตัวแทนออกมาซื้ออาหาร ขนม 15.00 น. ทำวัตรเย็น 18.00 น. พักเบรก 19.00 น. สวดมนต์  และ 20.30 น. เข้านอน

ขณะที่ลูกศิษย์วัด ท่าพุราษฏร์บำรุง คนหนึ่งโพสต์ข้อความลงในกลุ่ม คนเมืองกาญจน์ รีเทิร์น ชี้แจง ว่าเป็นลูกศิษย์เจ้าอาวาสวัดท่าพุราษฏร์บำรุง มา 7 ปี ยืนยันว่า ศูนย์บำบัดยาเสพติดที่นี่เปิดมาเกือบ 20 ปี เพิ่งกักบริเวณผู้บำบัดได้ 4 เดือน โดยสาเหตุที่กักบริเวณ เพราะ พบปัญหา บางคนออกไปก่อความวุ่นวายกับชาวบ้าน ยอมรับว่ามีการตีผู้บำบัดจริง แต่ไม่ใช่ทุบตีให้ตาย ส่วนที่มีข่าวว่าให้กินข้าวบูด ชายคนนี้ยืนยันว่า ที่วัดให้ผู้บำบัดกินข้าว 2 มื้อ คือ เช้า เที่ยง หากใครเอาไว้กินตอนเย็น ก็อาจทำให้ข้าวบูดได้ ชายคนนี้ยังย้ำว่า การไปถามข้อมูลจากผู้บำบัดฝ่ายเดียวก็ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน เพราะ คนถูกพามาบำบัดก็ต้องอยากกลับบ้าน จึงอยากให้ลองถามญาติดูว่า อยากให้คนเหล่านี้กลับไปหรือไม่

ด้าน นางเล็ก หนึ่งในชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัด บอกว่า ตั้งแต่เจ้าอาวาสตั้งศูนย์บำบัดชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยและค่าใช้จ่ายที่วัดจะต้องแบกรับแต่ก็ไม่มีใครกล้าขัดเจ้าอาวาส ช่วงแรกผู้บำบัด มีไม่มาก แต่ช่วงหลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนควบคุมไม่ได้ มักจะหนีออกจากวัดอยู่เป็นประจำ บางคนไปขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน บางคนขโมยรถจักรยานยนต์ชาวบ้าน บางคนก็โทรศัพท์นัดแนะให้เพื่อนมารับหนีออกไป

นางเล็ก กล่าวต่อว่า ช่วงหลังไม่ค่อยมีคนมาทำบุญที่วัด เพราะก่อนหน้านี้เคยมีคนมาทำบุญทอดกฐินให้หลายแสน แต่วัดก็ไม่สามารถนำไปสร้างอะไรได้ เพราะต้องนำเงินไปดูแลผู้บำบัด จนช่วงหลังเจ้าอาวาสเริ่มเครียดจนอาพาธ

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ