“ภาคเอกชน” อีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของไทยและทั่วโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทั่วโลกจับตาความชัดเจนหลังจากนี้จากไทย ทำอย่างไรจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามที่ลั่นวาจาไว้ หนึ่งในผู้เล่นสำคัญ อาจเป็น “ภาคเอกชน”

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UNFCCC COP) (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร

พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานของประเทศไทยในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก โดยมีเป้าหมายคือ มีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เหลือศูนย์ภายในปี 2065

COP26 เห็นชอบยุติการทำลายป่าในปี 2030

นายกฯ แสดงทัศนะในเวทีโลก COP26 ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายใน 2065

“บิ๊กตู่” บินเมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ร่วมถก COP 26

สำหรับ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)” คือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ด้วยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้ หรืออีกทางหนึ่งคือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้น

ส่วน “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)” คือเมื่อก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์มีภาวะสมดุลกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก

ซึ่งการจะทำงานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนได้ออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกนั้น ต้องได้รับแนวทางนโยบายจากภาครัฐ และการปฏิบัติของทุกภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือภาคเอกชน และในปัจจุบัน ก็มีภาคเอกชนหลายฝ่ายทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องของปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก

ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ UNFCCC ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์กรธุรกิจต่าง ๆ หลายแห่งจากทั่วโลก ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “Race to Zero” หรือ “ปฏิบัติการแข่งขันเพื่อลดคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิ” โดยปัจจุบันมีพันธมิตรร่วมในปฏิบัติการนี้ครอบคลุมถึง 31 ภูมิภาคทั่วโลก 733 เมือง องค์กรธุรกิจ 3,067 แห่ง มหาวิทยาลัยกว่า 622 แห่ง และนักลงทุนรายใหญ่ 173 ราย ซึ่งหลายรายในนี้ก็มีองค์กรธุรกิจในประเทศไทยด้วย เช่น

ดำเนินการแล้วในปี 2020 คือบริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) ปัจจุบันกระบวนการขนส่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์

ภายในปี 2025 บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย)

ภายในปี 2030 เครือเจริญโภคภัณฑ์, PwC ประเทศไทย, กลุ่มทรู, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), แอปเปิล, ไมโครซอฟต์, บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)

ภายในปี 2039 ยูนิลิเวอร์

ภายในปี 2040 วิวาลดี้ อินทิเกรเต็ด พับลิค รีเลชั่น (วอลโว่ คาร์)

ภายในปี 2050 เนสท์เล่ ประเทศไทย, เชลล์ ประเทศไทย, ดาวเคมิคอล, นิสสัน, บริติชปิโตรเลียม และ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ก็มีโครงการลดก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง ที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ไปซื้อขายได้

อบก. และกรมสรรพากร ยังเคยมีการออกนโยบายส่งเสริมให้เกิดการลงทุนพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โดยจะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ธุรกรรมการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต

หรือก่อนหน้านี้ก็เคยมีอีกหนึ่งโครงการของกรมสรรพากร ที่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วน สำหรับโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดังนั้นจึงนับได้ว่า รัฐบาลมีความพยายามในการผลักดันให้ภาคเอกชนปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน ให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก แต่จะเพียงพอต่อการยกระดับการจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ทันตามเป้าหรือไม่นั้น อาจเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม

ทั้งนี้ ในรายงานความก้าวหน้าของการลดก๊าซเรือนกระจกฉบับล่าสุดที่สำนักงานนโยบายธรรมชาติและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ส่งถึงสำนักเลขาธิการ UNFCCC ระบุว่า ในปี 2559 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

ขณะที่ป่าไม้และการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ราว 91 ล้านตันคาร์บอนฯ ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยอยู่ที่ 263 ล้านตันคาร์บอนฯ

จากการจัดลำดับขององค์กร Climate Watch ในปี 2561 ไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก หรือประมาณ 0.8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ส่วนประเทศที่ปล่อยมากเป็นอันดับ 1 ของโลกคือจีน19.19% รองลงมาคือสหรัฐฯ 18.13%

สื่อต่างชาติจับผิด "ไบเดน" นั่งหลับระหว่างร่วมประชุม COP26

สื่อนอกจวก ผู้นำโลกประชุม COP26 แก้ปัญหาโลกร้อน แต่นั่งเจ็ตส่วนตัวมาเพียบ

ข้อมูลจาก อบก. ระบุว่า แหล่งที่มาของก๊าซเรือนกระจกของไทย 4 อันดับแรก คือ ภาคพลังงาน 253 ล้านตันคาร์บอนฯ ต่อปี (70%) ภาคเกษตรกรรม 52 ล้านตันคาร์บอนฯ (14%) ภาคอุตสาหกรรม 31 ล้านตันคาร์บอนฯ (8%) และภาคของเสีย 17 ล้านตันคาร์บอนฯ (4%)

 

เรียบเรียงจาก BBC / อบก.

ภาพจาก AFP

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ