ประชาชนใจหาย เตรียมปิดตำนานสถานีรถไฟ “หัวลำโพง” 105 ปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เป็นเวลา 105 ปีแล้ว ที่รถไฟหลากหลายขบวนจะต้องเข้ามาเริ่มต้นแล้วก็สิ้นสุดที่สถานีรถไฟหัวลำโพง แต่ว่าภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งเหลือเวลาอยู่อีกเพียง 1 เดือนเศษเท่านั้น ที่นี่จะยุติบทบาท ย้ายขบวนรถทั้งหมดไปจบที่สถานีกลางบางซื่อแทน

อวดแผน "หัวลำโพง" โฉมใหม่ ใครบอกจะเหลือเพียงตำนาน!

ผู้โดยสารหัวลำโพงใจหาย หวั่นเดินทางลำบาก

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2459 สถานีกรุงเทพ หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ “หัวลำโพง” ถูกใช้เป็นศูนย์กลางการเดินทางโดยรถไฟ แต่ละวันจะรองรับขบวนรถไฟเข้า-ออก ประมาณ 200 ขบวน ผู้โดยสารนับหมื่นคน ทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางระหว่างย่านเมืองเก่าและศูนย์กลางธุรกิจ ทำให้ที่นี่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่กระทรวงคมนาคมเตรียมปรับโฉมให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ใช้ประโยชน์สาธารณะและสร้างรายได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หลังย้ายศูนย์กลางการเดินทางระบบรางทั้งหมดไปที่สถานีกลางบางซื่อ

น.ส.จินตนา เนียนกระโทก แม่ค้าในสถานีรถไฟ กล่าวว่า “มันก็ใจหายเพราะเราอยู่ที่นี่มานานเนาะ ที่นี่ก็เหมือนบ้าน บ้านหลังที่สองของเรา เป็นทั้งบ้าน เป็นทั้งแหล่งทำมาหากินของเรา”

ด้าน นายวุฒิศักดิ์ อินทวัฒน์ คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ระบุว่า “ก็เป็นที่ทำมาหากินนะ พูดง่าย ๆ ว่าเป็นที่ทำมาหากินก็ว่าได้ ถ้าปิดตัว ปิดไม่ให้รถไฟเข้ามาก็ใจหายเหมือนกันครับผม รู้สึกใจหายเหมือนกัน”

ความเห็นของคนที่ใช้ชีวิต ประกอบอาชีพที่นี่  เมื่อรู้ว่า “หัวลำโพง” จะมีการปรับโฉม โดยที่ยังไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัดว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ก็ทำให้รู้สึกใจหาย และอดเป็นกังวลไม่ได้ เพราะสำหรับพวกเขา ที่นี่ไม่ใช่แค่ “สถานีรถไฟ” แต่เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้พวกเขาใช้หาเลี้ยงชีพมาตลอดหลายสิบปี

นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่คนต่างจังหวัดนึกถึงเวลาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพราะมาง่าย ราคาถูก ทำให้ผู้โดยสารส่วนหนึ่งก็อยากให้คงเหลือขบวนรถไฟบางส่วนที่ยังเดินทางเข้าสถานีนี้

“มันเป็นส่วนหนึ่งของคนต่างจังหวัด เพราะว่าคนต่างจังหวัดเขาเข้ากรุงเทพ เขาจะรู้จักอันดับแรกคือหัวลำโพง นัดให้ญาติมารับหรืออะไรมารับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหัวลำโพง เพราะว่าหัวลำโพงคือมันมาง่ายที่สุด หาง่ายที่สุด เหมือนมันเป็นจุดศูนย์กลางของกรุงเทพ” แม่ค้าในสถานีรถไฟ กล่าว

วีถีชีวิตคนจำนวนมากที่ผูกพันกับสถานีรถไฟหัวลำโพง ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนหลังการปรับปรุงพื้นที่ สิ่งที่หลายคนคาดหวังคือความชัดเจนจากภาครัฐ ในการประชาสัมพันธ์รายละเอียดการปรับปรุงพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อให้พวกเขาได้มีเวลาเตรียมตัววางแผนชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไป

 

ณัฐพล ศิลาคำ ถ่ายภาพ

นงนภัส พัฒน์แช่ม พีพีทีวี รายงาน

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ