สิ้นเสียงระฆัง "วรรณวิทย์" เตรียมปิดตำนานโรงเรียนเก่าแก่ในซอกหลืบย่านสุขุมวิท เมื่อไปต่อไม่ไหวก็จำใจต้องปิด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เตรียมปิดฉาก 76 ปี โรงเรียนวรรณวิทย์ โรงเรียนเก่าแก่ใจกลางสุขุมวิท จะเหลือเพียงตำนานเล่าขาน อุดมการณ์ของครูผู้มีแต่ให้ ผู้บริหาร เผย วินาทีบีบหัวใจ ที่ต้องบอกครูใหญ่ ว่าโรงเรียนไปต่อไม่ไหวแล้ว

"ระฆัง" ทองเหลืองใบเล็ก ๆ ใบเก่ายังคงแขวนที่เดิม ที่หน้าห้องครูใหญ่ ชั้นล่างของอาคารเรียนไม้ 2 ชั้น ในรั้ว โรงเรียนวรรณวิทย์ โรงเรียนเอกชนเก่าแก่ อายุ 76 ปี ย่านใจกลางสุขุมวิท กรุงเทพฯ จะถูกตีก้องกังวานเป็นครั้งสุดท้าย ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ที่จะถึงนี้ เนื่องจากคณะกรรมการและคุณครูทุกท่านมีความเห็นตรงกันว่า "เมื่อโรงเรียนไปต่อไม่ได้ ก็จำใจต้องยุติไว้เท่านี้"

ไทม์ไลน์ไขข้อข้องใจ ยึดหมูแช่แข็ง 2 แสนกก.

สธ.พบหลังปีใหม่ 87 %โควิด-19ในไทย เป็นสายพันธุ์โอมิครอน

"ธรรมนัส"ย้ำจบคือจบ ปัดเป็นละครฉากหนึ่ง

คุณครูพิศมัย ชื่นอังกูร ในวัย 88 ปี ผู้จัดการโรงเรียน เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนประสบปัญหาภาวะขาดทุนมานาน 2-3 ปีแล้ว เนื่องจากจำนวนนักเรียนลดน้อยลงต่อเนื่อง ประกอบกับพิษโควิด 19 ผู้ปกครองบางคนที่ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย วินจักรยานยนต์ ผู้มีทุนทรัพย์น้อย จ่ายค่าเทอมไม่ตรงเวลา บางรายค้างชำระเป็นปี บางรายแม้จะขอผ่อนจ่ายรายวันแต่ก็ได้ไม่ครบ แต่โรงเรียนก็ยังคงสอนเด็กตามอุดมการณ์ผู้ก่อตั้ง แม้จะมีผู้ใหญ่ใจดีมอบทุนสนับสนุน รวมถึงกลุ่มศิษย์เก่าบริจาคกำลังทรัพย์มาให้ แต่ก็พอช่วยต่อลมหายใจได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

"สมัยก่อนผู้ปกครองไม่มีจ่าย คุณหญิงคุณครูใหญ่ บอกว่าไม่มีเหรอ เธอเรียนฟรีไป ก็ให้เรียนฟรีไป สมัยเด็กเยอะ ๆ ยังช่วยมีเงินเหลือ มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นรายหัวให้เด็ก แต่พอมาตอนหลังไม่ไหว เพราะเด็กมีน้อย แต่ยังดีบางปีมีผู้ใหญ่ใจดีมาบริจาค ช่วยเหลือการศึกษาบ้าง เราก็ได้จากตรงนี้ ค่าเทอมแต่ก่อนเราเก็บน้อยมากนะ เราเพิ่งมาเพิ่มทีหลัง ของประถม 2,000 ของมัธยม 1,600 แล้วรวมค่าเรียนคอมพิวเตอร์อีกคนละ 600 ก็ถูกแล้ว แต่บางคนก็ยังไม่มีให้อยู่ เราก็จนใจ เขาบอกเขาไม่มีแล้วเราจะทำยังไง เราก็เข้าใจเศรษฐกิจตอนนี้มันก็แย่" คุณครูพิศมัย กล่าว

“หมวย สุภาภรณ์” เปิดชีวิตพลิกผันจากลูกคุณหนู ดาราตัวท็อป สู่จุดดิ่งสุด มีหนี้ ไร้งาน

ขณะที่ คุณครูวราพร พงษ์รูป ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่เพิ่งรับตำแหน่งได้เพียง 6 เดือน เล่าย้อนให้ฟังว่า ผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด เข้ามาทำงานลูกจ้าง ค้าขาย ย่านธุรกิจ สุขุมวิท คลองเตย เมื่อบริษัทห้างร้านไปต่อไม่ไหวเพราะพิษเศรษฐกิจ จากการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ต้องตกงาน เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีรายได้ บางรายก็พาบุตรหลานมาลาออกกลับต่างจังหวัด บางคนมาขอลาออกกลางคัน ทำให้จำนวนนักเรียนเริ่มหดหายไป ปัจจุบันเหลือเพียง 146 คน ส่วนคุณครูเหลือแค่ 16 ท่าน เพราะบางท่านจำต้องลาออกเพื่อช่วยลดรายจ่ายโรงเรียน

"เขาไม่มีจริง ๆ ขนาดตอนรัฐบาลให้ 2 พันบาท ที่ช่วยโควิด ครูบอกเลยว่าให้เขาไป อย่าไปดึงไว้เหมือนโรงเรียนอื่น ผมเป็นโควิด เอาไปเลยคุณพ่อ เอาไปเลย ๆ แต่ถึงตอนที่จ่ายค่าเทอมคุณพ่อต้องช่วยเหลือโรงเรียนด้วยนะ อย่างห้องครูไม่กล้าทวงเลย คือมองหน้าเด็กแล้วเศร้า คนไม่มีคือคนไม่มีจริง ๆ" คุณครูวราพร ระบุ

คุณครูวราพร เปิดใจเล่าให้ฟังอีกว่า เดือน ๆ หนึ่งค่าใช้จ่ายของโรงเรียนติดลบ เงินเดือนของคุณครูต้องจ่าย 2.9 แสนบาท ในส่วนที่รัฐบาลช่วยเหลือเงินอุดหนุนจ่ายเป็นรายหัวเด็ก ซึ่งได้รับมาเดือนละ 1.3 แสนบาท ไม่พอค่าใช้จายรายเดือน ที่ยังต้องหามาให้ได้อีก 1.6 แสนบาท ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เหนื่อย แม้แต่เงินจากการขายอาหารในโรงอาหารก็ไม่พอ เพราะเด็กนักเรียนก็ไม่ค่อยมี กำลังซื้อก็น้อย ที่ผ่านมาโรงเรียนไปขอหยิบยืมจากผู้ใหญ่ใจดี แต่ท้ายที่สุดก็ต้องหามาคืนให้เขาไป

คุณครูวราพร ยังเล่าต่อถึงความผูกพันที่มีต่อโรงเรียนวรรณวิทย์ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ เมื่อพูดถึงทีไรน้ำตาก็ไหล ซึ่งได้รับโอกาสจาก ครูใหญ่ ม.ร.ว.รุจีสมร สุขสวัสดิ์ ให้เล่าเรียนที่นี่ตั้งแต่เล็ก ๆ จนได้เติบโต ให้ทุนไปเรียนต่อ กลับมาสอนบ้านหลังเดิม จนวาระสุดท้ายของโรงเรียนที่จะมาถึงในภาคการศึกษานี้

"ครูก็มาจากศูนย์ แล้วคุณครูใหญ่ท่านก็ให้โอกาส แล้วท่านก็ส่งครูเรียน แล้วท่านก็ถ่ายทอดทุกอย่าง มีหลายคนถามว่าที่นี่ให้เท่าไหร่ ไปอยูกับฉันไหม ครูบอก ไปไม่ได้ เพราะครูใหญ่เขาให้โอกาสฉัน แล้วถึงวันนี้ฉันจะไปได้ยังไง พูดแล้วอยากร้องไห้ มันเหมือนกับเป็นบ้านของเรา เราอยู่ที่นี่แล้วอยู่ ๆ วันหนึ่ง...ใจหายนะ เท่ากับครูอยู่ที่นี่มา 60 ปี ตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียน...ทุกวันนี้ยังนึกเลยนะ ครูใหญ่เคยพูดกับครูว่า วราพร ครูจะเลิกทำโรงเรียนก็ต่อเมื่อไม่มีเด็กสักคนเดียว แล้วเราก็มานั่งนึก...เสียใจนะ ทำตามอุดมการณ์ของท่านไม่ได้ มันเหมือนเป็นบาปในใจเรา เหมือนกันว่าฉันส่งให้ถึงเธอแล้ว แต่เธอทำไม่ได้"

เมื่อถามถึงข่าวคราวอาการของ ม.ร.ว.รุจีสมร สุขสวัสดิ์ หรือที่เรียกติดปากว่า ครูใหญ่ ในปีนี้ครูใหญ่จะมีอายุครบ 102 ปี สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน โดยคุณครูพิศมัย เปิดเผยว่า ครูใหญ่ไม่ได้กลับบ้านมา 2 ปีแล้ว เพราะต้องรักษาอาการป่วยเนื่องจากท่านชรามาก ไม่สามารถพูดคุยสื่อสารได้เหมือนเดิม พักรักษาตัวโดยมีคนดูแลที่โรงพยาบาล

"คุณหญิงท่านมุ่งมั่นมากเลย ท่านเคยพูดว่า ต่อให้มีเด็กคนเดียวฉันก็จะสอน แต่แล้วท่านก็มาป่วย ท่านหายใจเหมือนหอบ แล้วท่านปิดตาตลอด ก็เลยบอกกับเด็กว่าเธอเอาโทรศัพท์แนบหูคุณหญิงหน่อยสิ ครูจะพูดด้วย ก็บอกว่าให้ท่านไม่ต้องเป็นห่วงนะ โรงเรียนก็ไม่ต้องเป็นห่วง ท่านห่วงโรงเรียนมาก ท่านห่วงมากเลย ก็เลยบอกให้คุณหญิงนอนพักให้สบายเถอะ"

แน่นอนว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นทำเลทอง หน้าโรงเรียนคือสุขุมวิท ซอย 8 ด้านหลังติดสุขุมวิท ซอย 4 แวดล้อมไปด้วยตึกอาคารสำนักงาน คอนโดสูงตระหง่าน เคยมีนายทุนต่างชาติมาติดต่อยื่นข้อเสนอกับครูใหญ่นับไม่ถ้วน เพื่อขอซื้อที่ผืนนี้ ไม่ว่าจะให้สักกี่ล้าน ครูใหญ่ ก็ตอบปฏิเสธไปทุกราย เพราะหากขายแล้ว คำตอบเดียวที่ได้คือ แล้วเด็กจะไปอยู่ที่ไหน?

เมื่อถามถึงว่าหากสิ้นปีการศึกษา 2564 นี้ไปแล้ว โรงเรียนจะเป็นอย่างไรต่อไป คุณครูวราพร บอกว่า ครูใหญ่ ม.ร.ว.รุจีสมร ได้ยกที่ดินผืนนี้เนื้อที่ราว 3 ไร่ ให้แก่ทายาท (หลาน) ไปตั้งแต่ปี 2542 แล้ว ซึ่งทายาทก็ได้ให้สิทธิอิสระตรงนี้ โดยให้ครูใหญ่บริหารจัดการโรงเรียนตามปณิธานความตั้งใจ แต่ด้วยปัจจุบันอยู่ในภาวะที่โรงเรียนขาดทุน ศิษย์เก่าจึงอยากจัดงานเพื่อระดมทุนช่วยกันปลดหนี้ให้โรงเรียนอันเป็นที่รัก ก่อนที่โรงเรียนแห่งนี้จะปิดลง เมื่อโรงเรียนยุติกิจการแล้ว ก็จะได้คืนที่ดินตรงนี้ให้แก่ทายาทของครูใหญ่ต่อไป

ทั้งนี้ โรงเรียนวรรณวิทย์ ก่อตั้งโดย หม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา เมื่อปี 2489 แรกเริ่มปลูกเรือนไม้ชั้นเดียว ภายในซอยสุขุมวิท 4 โดยหม่อมผิว ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่ อบรมสั่งสอนนักเรียน ให้ทั้งวิชา ความรู้ อบรมเรื่องศีลธรรม บ่มเพาะให้เด็กเป็นคนดี จากนั้นโรงเรียนก็เติบโตจนต้องขยายกิจการขึ้นเรื่อย ๆ จึงให้ธิดาคนเล็กคือ ม.ร.ว. รุจีสมร สุขสวัสดิ์ มาช่วยงานโดยตั้งเป็นผู้จัดการ และครูใหญ่แทน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2497 และในปีเดียวกันนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้รับรองวิทยฐานะให้เทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล จากนั้นได้ซื้อที่ดินด้านหน้า ซอยสุขุมวิท 8 และได้ขยายอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีก จากอาคารเรือนไม้ชั้นเดียวมาเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น และพัฒนาเพิ่มเติม ก่อสร้างอาคารปูน 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นโรงอาหาร ต่อมาได้สร้างอาคารใต้ถุนสูงขึ้นอีก 1 หลัง ด้านหน้าโรงเรียนที่อยู่ติดฝั่งสุขุมวิทยซอย 8 ชั้นล่างเปิดเป็นใต้ถุนโล่ง

ปัจจุบัน โรงเรียนมีพื้นที่ 3 ไร่ เปิดการศึกษาระดับชั้นเตรียมประถม (อนุบาล) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนเคยมีนักเรียนมาเข้าเรียนเกือบถึง 1,000 คน แต่ปัจจุบันเหลือนักเรียนเพียง 146 คน จากนี้ทางโรงเรียนวรรณวิทย์ จะส่งนักเรียนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ตอบรับมาแล้ว และวางแผนส่งนักเรียนอีกส่วนไปเรียนโรงเรียนพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างติดต่อประสาน

ทั้งนี้ โรงเรียนวรรณวิทย์ กำหนดจัดงาน "สิ้นเสียงระฆังวรรณวิทย์" ในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.  เพื่อให้บรรดาศิษย์เก่าได้มารวมตัวแสดงกตัญญุตาต่อโรงเรียน คุณครูในอดีตและปัจจุบัน และจะได้พร้อมใจกันลั่นระฆังเป็นครั้งสุดท้าย

โอกาสนี้ ขอเรียนเชิญซื้อบัตรเข้าร่วมงาน "สิ้นเสียงระฆังวรรณวิทย์" และสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนช่วยเหลือโรงเรียนวรรณวิทย์ ได้ที่ ธนาคารกรุงไทย (สาขาสำนักนานาเหนือ) เลขที่บัญชี 000-0-50588-9 ชื่อบัญชีคุณครูนิตยา ตัญยงค์ และคุณครูพิศมัย ชื่นอังกูร

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ