ย้อนหลักฐาน “กูเกิลเอิร์ธ” พบบ่อขุดมานานแล้ว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณีดินสไลด์ที่ จ.สมุทรปราการ ล่าสุดทีมข่าวสอบถามไปยังวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ให้ข้อสันนิษฐานกับทีมข่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะน้ำแห้ง และเตือนชาวบ้านที่ยังอยู่ในรัศมีใกล้ขอบบ่อ ให้ระวังการทรุดตัวเพิ่มอีก

ทีมข่าวได้เข้าพูดคุยกับ รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรม​สถาน​แห่ง​ประเทศไทย​ หรือ วสท. ถึงสาเหตุของเรื่องนี้

รศ.สิริวัฒน์ วิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้ที่การทรุดตัวหรือสไลด์นั้น เกิดจากการที่น้ำในบ่อแห้งลง ทำให้ตัวช่วยที่พยุงขอบบ่อเอาไว้ไม่มี ดินที่มีลักษณะเป็นรูพรุนก็เลยเกิดช่องว่าง

เมื่อมาเจอกับน้ำหนักด้านบนขอบบ่อ อาจจะเป็นบ้านเรือนที่ปลูกอยู่ใกล้ๆ หรือรถที่วิ่งไปมาเกิดแรงสั่นสะเทือน จึงทำให้ขอบบ่อเกิดการทรุดตัวลง

ดินสไลด์ลงบ่อขุดดิน ลากบ้านไปไกลกว่า 50 ม.

พ่อยื่นคำร้องคัดค้าน หลังถูกลูกฟ้องไล่ที่

ซึ่งตามหลักวิชาการนั้น บ่อขุดลงไปลึกเท่าไหร่ รัศมีที่มีโอกาสทรุดตัวลงไปก็ไกลเท่านั้น เช่น บ่อลึก 100 เมตร ก็มีโอกาสที่ขอบบ่อทรุดตัวในรัศมี 100 เมตร ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะมีสัญญานเตือนมาก่อน เช่นรอยแตก รอยแยกของดิน ประชาชนต้องหมั่นสังเกต

อุปนายกวิศวกรรม​สถาน​แห่ง​ประเทศไทย ยังบอกด้วยว่า กรณีที่บ่อขุดเสร็จแล้ว ปล่อยทิ้งร้างไว้ ทางที่ดีควรจะใส่น้ำ หรือหาวัสดุอื่นมาถมเพื่อช่วยพยุงไม่ให้ขอบบ่อยุบตัวลงมา ส่วนประชาชนที่อยู่ใกล้บ่อ ยกตัวอย่างบ่อที่เกิดเหตุ ต้องดูว่าบ่อมาก่อน หรือบ้านเรือนมาก่อน ถ้าบ้านเรือนมาก่อนระยะของขอบบ่อก็ไม่ควรมาอยู่ใกล้บ้านเรือนมากนัก แต่หากบ้านเรือนมาทีหลัง ก็ต้องสังเกตไม่เข้าไปใกล้ และแจ้งท้องถิ่นให้มาตรวจสอบถึงความมั่นคงแข็งแรง

ล่าสุดทีมข่าวตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากภาพถ่ายดาวเทียมของกูเกิลเอิร์ท บริเวณจุดที่เกิดเหตุดินสไลด์ ปรากฎว่า เมื่อดูจากภาพถ่าย จะเห็นว่ามีการปรากฎภาพของบ่อขนาดใหญ่ขึ้นมาก่อน แต่บ้านเรือนเพิ่งจะตามมาในภายหลังเมื่อไม่กี่ปีมานี้

สำหรับการขุดบ่อดิน ถมดิน ท่านผู้ชมทราบไหมครับว่ามีกฎหมายควบคุมอยู่ เรียกว่าพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พุทธศักราช 2543 และกฎกระทรวงมาตรการป้องกันการพังทลายของดิน 2548 

เมื่อนำตัวบทกฎหมาย มาเทียบกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทปราการนี้  มีรายละเอียดที่น่าสนใจ คือ กรณีการขุดดิน จำเป็นต้องได้รับอนุญาติ และหากแจ้งว่าจะขุดใกล้แนวเขตที่ดินของผู้อื่น ในระยะน้อยกว่า 2 เท่าของความลึกบ่อดินที่จะขุด  จะต้องจัดการป้องกันการพังทลายของดิน หากฝ่าฝืนไม่ทำตาม จะมีโทษตั้งแต่จำคุกและปรับเงิน

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอีกฉบับที่สำคัญ คือกฎกระทรวง มาตรการป้องกันการพังทลายของดิน ปี 2548 ตามข้อ 5 ที่ระบุว่า การขุดดินที่มีความลึกเกิน 20 เมตร ต้องมีการป้องกันการพังทลายของดินหรือสิ่งปลูกสร้าง คำนวณโดยวิศวกร

ข้อ 7 การขุดดินที่มีความลึกจากระดับพื้นดินเกิน 3 เมตร หรือมีพื้นที่ปากบ่อดินเกิน 1 หมื่นตารางเมตร ปากบ่อดินจะต้องห่างจากแนวเขตที่่ดินบุคคลอื่น หรือที่สาธารณะเป็นระยะไม่น้อยกว่า 2 เท่าของความลึกของบ่อดินที่จะขุด

เว้นแต่จะได้จัดการป้องกันการพังทลายของดิน หรือสิ่งปลูกสร้าง โดยการรับของผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพวิศวกรควบคุม

และข้อ 9 ในระหว่างการขุดดินและภายหลังการขุดดินแล้วเสร็จ ผู้ขุดดิน หรือผู้ครอบครองที่ดินแล้วแต่กรณี ต้องตรวจสอบเสถียรภาพของบ่อดินและการดำเนินการ ให้มีความมั่นคงปลอดภัยอยู่เสมอ

ใครถูกใครผิด ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยฝ่ายปกครองจังหวัดสมุทรปราการ และผู้เกี่ยวข้อง

 

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ