กรณีรถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี ประสบเหตุไฟไหม้แถวอนุสรณ์สถานแห่งชาติ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดคำถามตามมา และยังคงเป็นคำถามเดิม ๆ เพราะเคยเกิดอุบัติเหตุทำนองนี้หลายครั้งแล้ว
แต่อีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือสภาพจิตใจของผู้รอดชีวิต ทั้งครูและเด็กนักเรียน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแน่นอน และต้องรักษาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
“PTSD” ภาวะที่ต้องจับตาใกล้ชิด
ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญวิทยาเชิงพฤติกรรมและจิตวิทยาอาชญากร คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในรายการ เข้มข่าวเย็น ช่วง Exclusive Talk ทางช่อง PPTV HD 36 วันที่ 1 ต.ค. 67 ว่า จากเรื่องนี้ สิ่งที่อันตรายมาก คือสภาวะ “PTSD” (Post-Traumatic Stress Disorder)
PTSD คือโรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ เกิดได้กับทั้งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมและไม่ได้อยู่ โดยเฉพาะกรณีที่เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ต่อหน้าอาจนำไปสู่การตัดสินใจจบชีวิตตัวเองได้ โดยมีโอกาสฆ่าตัวตายมากกว่าเด็กปกติถึง 2 ใน 3
ดร.ตฤณห์บอกว่า ภาวะนี้มี 2 ระยะ ระยะแรกคือ ภาวะเครียดเฉียบพลัน (ASD) จะอยู๋ในช่วง 1 เดือนแรกหลังเกิดเหตุการณ์ ซึ่งบางคนสามารถหายได้เอง แต่ถ้าผ่านไปแล้ว 1 เดือนยังไม่หาย ยังมีอาการหวาดผวา ร้องไห้ จะเข้าสู่ระยะที่สองคือ PTSD
“เด็กทุกคนในเหตุการณ์จะเกิดภาวะนี้แน่นอน แค่ว่าจะเป็นขั้น 1 หรือ 2 เท่านั้น เพราะทุกคนอยู่ในเหตุการณ์ ได้ยินเสียง ได้เห็นภาพ ได้สัมผัสความร้อน ประสาทสัมผัสทั้งหมดเจอกับความเลวร้าย” ดร.ตฤณห์บอก
อาจารย์เสริมว่า ในสภาวะแบบนี้ สื่อห้ามสัมภาษณ์เด็กหรือผู้ปกครอง เป็นเรื่องไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะการถามจะกระตุ้นภาพจำ จะยิ่งทำให้ความเจ็บปวดความกลัวฝังแน่น
ผู้ปกครองของเด็กที่รอดชีวิตเอง ดร.ตฤณห์ยำว่า อย่าถามเด็กจนกว่าเด็กจะเล่าเอง และต้องพาไปหานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อประเมินความหนักเบาของอาการ โดย PTSD ในเด็กจะอันตรายกว่ามาก เพราะผู้ใหญ่ยังแสดงอาการได้ชัดกว่าเด็ก เด็กอาจจะกลัวแต่อธิบายออกมาไม่ได้ ต้องดูแลใส่ใจเป็นพิเศษมากกว่าผู้ใหญ่
ด่วน! ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา มีรายงานผู้เสียชีวิตหลายราย
ตรวจผลรางวัลสลากออมสินพิเศษ 2 ปี งวด 221,224-256 วันที่ 1 ตุลาคม 2567
ตรวจหวยงวดนี้ - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ลอตเตอรี่ 1/10/67
“เด็กบางคนโตไปอาจจะลืม แต่ PTSD จะยังคงเป็นสาเหตุของปัญหาอื่น ๆ เช่น ความสัมพันธ์ในชีวิตล้มเหลวเมื่อโตขึ้น สมาธิสั้น อารมณ์รุนแรง ... เด็กมีเส้นใยประสาทที่ยังไม่ซับซ้อน เมื่อเกิดการกระทบกระเทือนจิตใจจึงสร้างบาดแผลใหญ่กว่าผู้ใหญ่” ดร.ตฤณห์กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งภาวะย่อยที่อาจเกิดจาก PTSD นั่นคือ “Survivor Guilt” หรือภาวะความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต เกิดจากการคิดว่าตัวเองไม่สมควรรอด บางคนอาจรู้สึกผิดจนฆ่าตัวตายในภายหลัง อาจจะเพราะรักเพื่อน หรือเพิ่งทะเลาะกับเพื่อนที่เสียชีวิตมา ทำให้เกิดความคิดว่า คนที่ตายน่าจะเป็นเรา
เพียงแต่เด็กเท่านั้น ดร.ตฤณห์เตือนว่า ครูที่รอดชีวิต 3 รายอาจมีโอกาสเป็น PTSD และ Survivor Guilty เช่นกัน จากความคิดที่ว่าทำไมถึงช่วยเด็ก ๆ ไม่ได้ ทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้
“ครูอาจจะเป็นหนักกว่าเด็ก เพราะคิดว่าตัวเองต้องรับผิดชอบชีวิตเด็กที่อยู่ในความดูแล อาจถูกหลอกหลอนซ้ำ ๆ หลายปี เกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจแน่นอน ต้องพบผู้เชี่ยวชาญ และขอย้ำว่าสื่อห้ามสัมภาษณ์ ห้ามถามว่าเกิดอะไรขึ้น หรือเห็นอะไรบ้าง เป็นคำถามที่ไม่ควรถาม ... ครูอาจหลีกเลี่ยงการโทษตัวเองไม่ได้ ยังไม่นับว่าอาจถูกสังคมตอกย้ำอีก พวกนักเลงคีย์บอร์ด” ดร.ตฤณห์ย้ำ
มาตรฐานยานพาหนะและการซักซ้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน
ในส่วนของสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ คุณคงศักดิ์ ชื่นไกรลาส ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค บอกว่า ปัญหาหลักคือกระบวนการเลือกรถ การจัดซ้อจัดจ้าง อาจจะเลือกรถที่ไม่มีข้อมูลความปลอดภัย ว่าผ่านการตรวจสอบล่วงหน้า 3 เดือนหรือไม่ มีประกันภัยหรือไม่ มีเข็มขัดนิรภัยหรือไม่ มีอุปกรณ์ดับเพลิงหรือไม่
“กระบวนการได้มาซึ่งรถเป็นเรื่องสำคัญมาก ในหลายกรณีที่เคยทำมา การเลือกอาจไม่ใช่กระบวนการคัดเลือกตามมาตรฐาน แต่อาจเลือกที่ราคาย่อมเยาเพื่อลดค่าใช้จ่าย ส่งผลต่อมาตรฐาน” คุณคงศักดิ์กล่าว
เขาเสริมว่า “มีตัวอย่างเยอะ บางโรงเรียนพาเด็กไปเข้าค่ายไปทัศนศึกษา ถ้าต้องการรถมีคุณภาพ ราคาก็สูงตาม บางแบรนด์ที่มีมาตรฐานราคาสูงมาก หรืออยู่ต่างจังหวัด หารถยาก ก็หารถในท้องถิ่นแทน”
คุณคงศักดิ์ยังบอกอีกว่า นอกจากเรื่องมาตรฐานรถ อีกประเด็นที่สำคัญคือการซักซ้อมและให้ความรู้ต่อครูและเด็ก เกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินขณะโดยสารรถบัส
“เราไม่มีมาตรการซักซ้อม เด็กจะรอดได้ยังไง ครูเองได้อบรมแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ เชื่อว่าครูคงทำหน้าที่เต็มที่แล้ว แต่มีกระบวนการแก้ไขหรือไม่ ขนาดบนเครื่องบินยังมีแอร์โฮศเตสสอนสิ่งที่ต้องทำเมื่อเผชิญเหตุฉุกเฉิน ทำไมบนรถบัสไม่มี อย่างเรื่องวิธีเอาค้อนทุบกระจก รู้กันหรือไม่ว่าต้องทุบเฉพาะบานนั้น” คุณคงศักดิ์กล่าว
ดร.ตฤณห์เห็นด้วยว่า การฝึกซ้อมเอตัวรอดควรมี เพราะเครื่องบินมีบังคับให้ดูทุกครั้ง ทำไมรถบัส รถเมล์ รถทัวร์ ถึงไม่มี “ไม่ได้พูดถึงรถบัสอย่างเดียวนะ รถเมล์เองได้มาตรฐานหรือยัง ยังไม่จอดตรงป้าย แซงซ้ายขวาขับหวาดเสียวอยู่เลย แล้วอุปกรณ์ครบหรือไม่ เราก็รู้อยู่ จะมาถอดบทเรียนเรื่องที่เกิดวันนี้เดี๋ยวก็เงียบ ต้องทำอะไรจริงจังได้แล้ว ... ถนนเกิดอุบัติเหตุบ่อยกว่าบนท้องฟ้าอีก ทำไม่มีมาตรการสอนเอาชีวิตรอด”
ชดเชยอย่างไรก็ไม่พอ
เมื่อถามว่า เด็กและผู้ปกครองสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้างจากเหตุการณ์นี้ คุณคงศักดิ์บอกว่า โดยทั่วไป ต้องได้รับการชดเชยจากผู้ให้บริการ คือเจ้าของรถ ซึ่งรถคนนั้นต้องทำประกันภัยตามกฎหมายด้วย จะได้ชดเชยตามภาคบังคับราว 1 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคุ้ม พ่อแม่มีสิทธิ์เรียกร้องเพิ่ม แต่ต้องฟ้องคดีในฐานะผู้บริโภคที่ใช้บริการรถ
“จะฟ้องเองหรือองค์กรช่วยฟ้องก็ได้ สภาผู้บริโภคก็ช่วยได้ แต่ทีนี้ ถ้าผู้ให้บริการเป็นนิติบุคคล อาจมีทรัพย์สินที่สามารถนำมาชดเชยได้ แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาจะเสี่ยงมาก เพราะเขาอาจไม่มีกำลังทรัพย์มาชดเชยเยียวยา” คุณคงศักดิ์กล่าว
ขณะเดียวกัน การต่อสู้คดีอาจทำให้ผู้สูญเสียต้องเจ็บปวดต่อเนื่อง เพราะการขึ้นศาลต้องพูดให้การซ้ำ ๆ
คุณคงศักดิ์ย้ำว่า ถ้าจะแก้เรื่องนี้ ก็คือเรื่องเดิม ๆ คือต้องทบทวนเรื่องมาตรฐานและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ซึ่งเคยเรียกร้องไปแล้ว แต่ยังไม่เห็นบทบาทความจริงจังจากภาครัฐ ขณะที่โรงเรียนเองไม่ได้มีหน้าที่แค่ติดต่อรถมารับแล้วไป แต่ต้องดูแลเหมือนพ่อแม่ เอาคุณภาพความปลอดภัยเป็นสำคัญ
ด้านผู้ประกอบการเองต้องพัฒนาตัวเอง ว่าถ้าไม่มีคุณภาพควรทำอย่างไร ให้มีมาตรฐานความปลอดภัย