อึ้ง! “ส้มไทย” สารเคมีตกค้าง 55 ชนิด เกินมาตรฐานความปลอดภัย จี้ห้างค้าปลีกติด “คิวอาร์โค้ด” แสดงข้อมูลแหล่งผลิต


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ภาคีเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผย ส้มไทยมีสารเคมีอันตรายตกค้างเกินค่ามาตรฐาน มากถึง 55 ชนิด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตติด QR Code แสดงข้อมูลแหล่งผลิตสินค้า และการใช้สารเคมี ให้กับผู้บริโภค เพื่อผลักดันผู้ผลิตลดใช้สารพิษ

อันตรายมาก!! พบอีกแล้ว"หมึกบลูริง"พิษร้ายกว่างูเห่า20เท่า ตายภายใน 2 นาที ปิ้งขายในตลาด

สธ.แนะโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันควรพบแพทย์ทันที

น.ส. กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด โดยเฉลี่ยถึง *0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยสารเคมีตกค้างเป็นชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด เช่น คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ส่งผลให้พิการแต่กำเนิดและภาวะเจริญพันธุ์เสื่อม, สารคาร์โบฟูราน (Carbofuran) เป็นพิษต่อเซลล์สมองและฮอร์โมนเพศ, สารอะเซตามิพริด (Acetamiprid) มีผลกระทบต่อสมองและระบบประสาท เป็นต้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงเรื่องสารพิษตกค้างมากมาย แต่จากการสุ่มตรวจส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่า 100% ของส้มที่นำมาตรวจมีการตกค้างของสารเคมีที่เกินกว่าปริมาณสูงสุดที่กฎหมายกำหนด แม้แต่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำที่อ้างว่ามีระบบตรวจสอบแล้วก็ตาม ทั้งที่เป็นสถานที่ค้าปลีกที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไว้วางใจในเรื่องของความสะอาดและปลอดภัย

 

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลับขอนแก่น ระบุว่า มีข้อมูลจากหลายหน่วยงานที่ชี้ให้เห็นว่าส้มที่จำหน่ายในท้องตลาดยังมีการปนเปื้อนอยู่  แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นภายหลังที่มีการรณรงค์จนเกิดการตื่นตัว อย่างไรก็ตาม ยังถือว่ามีการปนเปื้อนในระดับที่ยังน่าเป็นห่วง ซึ่งตนพยายามให้ข้อมูลแก่สาธารณะถึงอันตรายจากสารพิษ สารเคมี ทั้งนี้ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสารเคมีไม่ได้มีแค่มะเร็ง แต่มีสารพัดโรค โดยอาหารที่มีสารเคมีในระดับที่ปลอดภัยจนสามารถบริโภคได้นั้น อยากให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าปลอดภัยจริงหรือไม่ เพราะสารเคมีจำนวนมากเวลาตรวจทีละชนิดจะอยู่ในระดับที่ปลอดภัย แต่ถ้าหากเราได้รับสารเคมีหลายชนิดพร้อม ๆ กัน จะมีใครสามารถรับประกันได้ถึงวามปลอดภัย เพราะงานวิจัยจำนวนมากจะทดลองทีละสารเคมี ไม่มีการวิจัยที่เอาหลายตัวผสมกัน แต่ล่าสุดเริ่มมีงานวิจัยที่ชี้ว่า ถ้ามีสารเคมีหลาย ๆ ตัว นำมาผสมกัน แล้วให้กับสัตว์ทดลอง พบว่าเริ่มมีปฏิกริยาเพิ่มพูนทวี ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคเป็นที่สะสมสารเคมี แม้ว่าเด็กที่เกิดมาตั้งแต่อยู่ในท้องก็สามารถเจอสารเคมีได้จากในเลือดที่เจาะจากสายสะดือ หรือน้ำคร่ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นภัยคุกคาม และภัยเงียบ

สำหรับระบบการตรวจสอบย้อนหลังในผลผลิตอาหาร เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทำให้เกิดผลดีต่อภาพรวมทั้งประเทศ แต่ตนยังคิดว่า ยังมีอะไรที่ทำได้ดีกว่านี้ เช่น เวลาจะนำโทรศัพท์มือถือไปยิงบาร์ โค้ด ก็คาดหวังว่าจะได้ข้อมูลอะไรบ้าง ที่ไม่ใช่ระบุแค่มาผลิตมากจากที่ไหน การปนเปือน ได้รับการรับรองอะไร แต่อยากได้มากกว่านี้อีก เพราะว่านี่คือโอกาสที่ดีมากที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความรู้หลายอย่างจากบาร์โค้ด เช่น อยากรู้ว่าแปลงเกษตรที่ปลูกส้มแปลงนี้ ปีที่ผ่านซื้อสารเคมีจำนวนกี่บาท แล้วปีนี้ซื้อสารเคมีจำนวนกี่บาท ถ้าหากยังซื้อสารเคมีเยอะอยู่ แม้ผลการตรวจที่แล็ปต่าง ๆ จะระบุว่าผลผลิตปลอดภัย แต่ตนไม่เชื่อ เพราะในแปลงยังคงมีการใช้สารเคมี นอกจากนี้อยากจะให้มีข้อมูลความรู้ด้านโภชนาการด้วย

ด้าน นางสาวฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) กล่าวว่า กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” หรือ Orange Spike มีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักว่าส้มมีกระบวนการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการตกค้างของสารเคมีซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว และร่วมเรียกร้องให้หยุดส้มพิษตั้งแต่ต้นทาง โดยเน้นการใช้กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพของซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเปรียบเสมือนตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้ผลิต และใช้กลไกข้างต้นกระตุ้นให้ผู้ผลิตที่ปลูกส้มและผลิตอาหารอื่น ๆ มีกระบวนการในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยขึ้น โดยภาคี ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟมประเทศไทย  ร่วมแสดงสิทธิของผู้บริโภคเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นให้หยุดขายส้มอมพิษ ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงนามผ่านทาง  www.dearconsumers.com/th/petition เพื่อเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มที่นำมาจำหน่ายผ่าน QR Code และเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสวนส้ม วิธีปลูกส้ม รายการสารเคมีที่ใช้ และกระบวนการคัดกรองของซูเปอร์มาร์เก็ตต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์ส้มทุกประเภท

 

 

 

ขอบคุณภาพโดย manseok Kim จาก Pixabay

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ