“ฟันสึก” ปัญหาใหญ่ใกล้ตัว พฤติกรรมแบบนี้ต้องเลิกทำ!!


โดย BDMS Wellness Clinic

เผยแพร่




ฟันสึกคือชื่อเรียกสภาพผิวฟันที่หายไป ซึ่งเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากฟันผุหรือฟันบิ่น ฟันสึกเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปมากถึง 97% ของประชากร ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ โดยมากคนไข้มักไม่มีอาการ หรือหากมีอาการ จะเริ่มมีอาการเมื่อฟันสึกไปมากแล้ว

(ข่าวแนะนำ)

อย่ามองข้ามลูกเดือยไทย สารอาหารเพียบ ลดไขมันในเลือดได้

Check Up! ตรวจก่อนเสี่ยง เลี่ยงโรคร้ายง่ายนิดเดียว

จะสังเกตได้อย่างไรบ้างว่าเรากำลังมีปัญหาฟันสึก

หลายๆ คน อาจจะกำลังประสบปัญหาเรื่องการเสียวฟัน หรืออาจจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างของฟันตัวเอง เช่น ฟันลึกเป็นหลุม เป็นร่อง มีเศษอาหารเข้าไปติดได้บ่อยๆ หากมีฟันที่อุดด้วยวัสดุอมัลกัม จะมีการสูญเสียเนื้อฟันรอบๆ วัสดุ ทำให้วัสดุมีลักษณะยกตัวขึ้น หรือหากเป็นฟันหน้า บริเวณปลายฟันจะมีลักษณะโปร่งแสง อาการทั้งหมดนี้เรียกว่าฟันสึก

สาเหตุของฟันสึกคืออะไร 

สาเหตุของฟันสึกเกิดจากปัจจัยที่สามารถสรุปได้ง่ายๆ 3 ประการ

  1. ฟันสึกที่เกิดจากการบดเคี้ยว (attrition) โดยเกิดจากการถูกันของฟัน การเคี้ยวอาหารหยาบ หรือแข็ง โดยมากมักจะพบการสึกที่ด้านบดเคี้ยวของฟันหลังหรือปลายฟันหน้าที่มีความยาวสั้นลง
  2. ฟันสึกที่เกิดจากการเสียดสีหรือขัดถู ที่มาจากจากสาเหตุนอกเหนือจากฟัน (abrasion) ยกตัวอย่างเช่น การสึกที่เกิดจากการแปรงฟันที่รุนแรง หรือด้วยแปรงสีฟันที่แข็ง หรือแม้กระทั่งการใช้ยาสีฟันที่มีผงขัดหยาบขจัดคราบบุหรี่ กาแฟ หรือ ชา 
  3. ฟันสึกจากสารเคมี โดยมากเป็นสารที่มีคุณสมบัติเป็นกรด ที่มีฤทธิ์กัดกร่อน โดยสารเคมีที่มาสัมผัสผิวฟันมาจาก 2 แหล่งคือ จากภายในร่างกาย เช่น ภาวะกรดไหลย้อน ทานยาบางชนิดที่มีฤทธิ์เป็นกรด หรือการล้วงคอให้เกิดการอาเจียน และจากภายนอกร่างกาย เช่น การดื่มน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยวจัด ทำงานในสถานที่มีสิ่งแวดล้อมเป็นกรด หรือกิจกรรมบางอย่างที่ฟันสัมผัสกับสารเคมีปริมาณมาก เป็นระยะเวลานาน เช่น นักกีฬาว่ายน้ำ

มีวิธีการอะไรบ้างที่สามารถป้องกันภาวะฟันสึกกร่อนได้

ทุกคนสามารถทำได้ แต่อาจจะมีความยากบางอย่าง เช่น สำหรับภาวะฟันสึกกร่อนจากสารเคมี คุณสามารถป้องกันได้ด้วยการเลิกดื่มน้ำอัดลมหรือลดปริมาณอาหารที่มีรสเปรี้ยว สำหรับภาวะฟันสึกเหตุบดเคี้ยวนั้น จะค่อนข้างยากในการควบคุมตัวเอง ไม่ให้บดหรือขบเน้นที่ฟันแรงๆ หรือการควบคุมตัวเองไม่ให้นอนกัดฟันในตอนกลางคืนหรือตอนที่คุณหลับ ดังนั้น การพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิฉัยและใส่เครื่องมือกันการกัดฟันจึงเป็นแนวทางที่แนะนำ  แต่สำหรับภาวะฟันสึกจากการขัดถู จะป้องกันได้ง่ายกว่าหากคุณทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องโดยการใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่มมากๆ หรือนุ่มเป็นพิเศษ รวมถึงการแปรงฟันที่ถูกวิธีจะช่วยป้องกันได้

 

หากบางคนมีภาวะฟันสึกแล้ว และรู้สึกประหม่าเวลายิ้ม จะมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ควรพบทันตแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจและวินิจฉัย หาสาเหตุของฟันสึก เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง ในกรณีที่มีฟันสึกไม่มาก อาจทำการรักษาแบบประคับประคองหรืออุดบูรณะเพียงเล็กน้อย แต่หากปล่อยเอาไว้จนฟันสึก และมีการสูญเสียเนื้อฟันมาก อาจต้องได้รับการรักษาโดยการครอบฟันหรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของฟันสึกและเนื้อฟันที่เสียไป และในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เพื่อให้การสื่อสารระหว่างทันตแพทย์และคนไข้ และการรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีมาช่วยออกแบบรอยยิ้มให้เหมาะสมกับใบหน้าของแต่ละบุคคล (Personalized Smile Design) ในรูปแบบ 2 มิติ (2D Smile Design) และ3 มิติ (3D Smile Design) ทำให้คนไข้สามารถเห็นภาพรอยยิ้มใหม่ รูปร่างฟันใหม่ของตนเองก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษา อีกทั้งยังมีการออกแบบรอยยิ้มแบบ 4 มิติ (4D Smile Design) ทำให้คนไข้ได้ทดลองใส่แบบจำลองเสมือนจริง ได้เห็นลักษณะใบหน้าทั้งด้านตรงและด้านข้าง รวมถึงได้ลองยิ้ม ลองพูดและออกเสียงอีกด้วย

อย่า...! ใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ผสมเบกกิ้งโซดาฟอกฟันเองอาจส่งผลเสียกับสุขภาพปากและฟัน

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก BDMS Wellness Clinic

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ