ผู้ใช้แอปฯ “หมอชนะ” งง ประเมินความเสี่ยงโควิด-19 คลาดเคลื่อนหรือไม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” รายงานว่า งงกับการประเมินผลความเสี่ยงติดโควิด-19 หลังระบุมีอาการและประวัติเสี่ยง แต่ได้รับผลประเมินว่าความเสี่ยงต่ำ

อัปเดต สถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด 30 ธ.ค. 2563

ด่วน!! ประกาศตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ "ข้อห้าม -ยกเว้น" ติดเชื้อวันนี้พุ่ง 250 ศบค.ส่งสัญญาณล็อกดาวน์รอบ 2...

ส่อง แอปพลิเคชั่น ติดตามโควิด-19 ในต่างแดน

แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ให้บริการมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน และให้ประชาชนประเมินและตรวจสอบความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยตัวเอง พัฒนาโดยภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

อีกทั้งยังสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เสริมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ให้มีประสิทธิภาพและวัดผลได้ โดยคนไทยทุกคนสามารถลดการระบาดได้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยหลังจากมีการระบาดระลอกใหม่ของเคสที่เชื่อมโยงกับ จ.สมุทรสาคร นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้รณรงค์ให้ใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อให้การติดตามและสอบสวนโรคครอบคลุมทั่วถึงและแม่นยำมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เช้าวันนี้ (30 ธ.ค.) พบประชาชนบางส่วนรายงานว่า แบบประเมินในแอปพลิเคชันหมอชนะสำหรับให้ประชาชนประเมินความเสี่ยงของตนเองแสดงผลคลาดเคลื่อน

โดยปกติ แบบประเมินดังกล่าวจะประกอบด้วยหัวข้อดังนี้

  1. ประชาชนบอกอาการของตนเอง คือ มีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป / ไอ / เจ็บคอ / เหนื่อยหอบผิดปกติ / อาเจียน / หรือไม่มีอาการใด ๆ ข้างต้น
  2. บอกประวัติการเดินทาง คือ ได้ไปต่างประเทศ หรือไม่ได้ไปต่างประเทศ
  3. บอกความใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงของตัวคุณ คือ มีผู้ใกล้คิดป่วยเป็นไข้หวัดพร้อมกันมากกว่า 5 คน / มีบุคคลในบ้านเดินทางไปต่างประเทศ / อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ใกล้กว่า 1 เมตร นานเกิน 5 นาที / หรือไม่มีประวัติข้างต้น
  4. มีอาชีพที่ใกล้ชิดคนต่างชาติใช่หรือไม่

จากนั้นระบบจะประเมินความเสี่ยงให้ผู้ใช้งาน โดยมีระดับ ดังนี้

  • สีเขียว หมายถึง ความเสี่ยงต่ำมาก
  • สีเหลือง หมายถึง ความเสี่ยงต่ำ แต่ต้องทำตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
  • สีส้ม หมายถึง มีความเสี่ยงปานกลาง ต้องมีการกักตัว 14 วัน หากมีอาการควรรีบไป รพ. ทันที
  • สีแดง หมายถึง ความเสี่ยงสูงมาก เพราะมีอาการป่วย และมีประวัติเดินทางต่างประเทศหรือใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงให้รีบไป รพ. ทันที เพื่อทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ทันที

โดยผลคลาดเคลื่อนที่พบคือ ผู้ใช้งานรายหนึ่ง ระบุข้อมูลว่า มีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียส เหนื่อยหอบผิดปกติ มีประวัติไปต่างประเทศ ใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัด 5 คน ใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 เกิน 5 นาที และประกอบอาชีพใกล้ชิดคนต่างชาติ ผลประเมินกลับออกมาเป็นความเสี่ยงต่ำระดับสีเหลือง

ส่วนผู้ใช้อีกรายบอกว่า ผลประเมินออกมาเป็นความเสี่ยงต่ำระดับสีเหลืองเช่นกัน เมื่อใส่ข้อมูลว่ามีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียส ไอ เหนื่อยหอบผิดปกติ ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ แต่มีบุคคลใกล้ชิดไปต่างประเทศ และประกอบอาชีพใกล้ชิดคนต่างชาติ

ทีมข่าวเองได้ทดลองใช้งานแบบประเมินในแอปฯ หมอชนะ และพบว่า ต้องระบุข้อมูลว่าไม่มีอาการหรือประวัติเสี่ยงใดเลยเท่านั้น จึงจะได้รับการประเมินเป็นความเสี่ยงต่ำมากระดับสีเขียว และไม่พบรูปแบบการระบุข้อมูลที่จะทำให้ได้ระดับความเสี่ยงปานกลางสีส้มหรือเสี่ยงสูงมากสีแดง โดยแม้จะระบุข้อมูลว่า มีอาการเสี่ยงครบทุกข้อ มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงทุกรูปแบบ และประกอบอาชีพกับคนต่างชาติ กลับได้รับผลประเมินว่ามีความเสี่ยงต่ำระดับสีเหลืองเท่านั้น

เบื้องต้นยังไม่ทราบว่ามีผู้ใช้งานกี่รายที่เจอปัญหานี้ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามมาตรฐานการประเมินทางการแพทย์หรือไม่ โดยทางทีมข่าวได้สอบถามไปยังศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน แต่ได้รับคำตอบว่าให้ติดต่อไปยังผู้พัฒนาโดยตรง ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรอการตอบกลับ หากได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติม ทางทีมข่าวจะอัปเดตอย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ แอปฯ หมอชนะ มีความสำคัญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้เป็นอย่างมาก การใช้แอปฯ เป็นเรื่องที่ดี แต่หากแอปฯ ดังกล่าวมีปัญหาทางเทคนิคจริง ก็ควรได้รับการพัฒนาและแก้ไขให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจะทำให้การควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างง่ายดายและครอบคลุมยิ่งขึ้น

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ