ไม่ใช้คำว่า "ล็อกดาวน์" หวั่นกระทบเศรษฐกิจ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังมีการวิจารณ์ว่ามาตรการควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาลตอนนี้ ไม่ต่างจากการล็อกดาวน์ เมื่อช่วงต้นปี 2563 ทำให้ล่าสุด นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยสาเหตุที่ไม่ใช่คำว่า ล็อกดาวน์ ว่าเป็นเพราะจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

เปิดไทม์ไลน์ เชียงใหม่ พบ 2 ชายญี่ปุ่น ติดโควิด-19 ประวัติไปเที่ยวชลบุรี   

เจ้าของโกดังชาบู หลั่งน้ำตา วิตกโดนปิดหน้าร้าน

คำตอบของนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ที่ยอมรับสาเหตุที่ไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ ว่า เป็นเพราะ คำว่าล็อกดาวน์จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ คือ ประชาชนจะมีรายได้ลดลง ค้าขายไม่ได้ ซึ่งขั้นต่อไป คือ รัฐบาลต้องออกมาตรการเยียวยา และ อาจต้องกู้เงินเพิ่ม ซึ่งก็จะกลายเป็นภาระผูกพันกับประชาชน

นอกจากนี้ยังย้ำว่า ตอนนี้ทุกประเทศทั่วโลก ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หากออกมาตรการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ก็อาจทำให้ประชาชนลำบากเช่นกัน หมายความว่า มาตรการที่ภาครัฐดำเนินการตอนนี้ จะเน้น การกระจายความรับผิดชอบ การร่วมมือกัน เพื่อให้ประชาชนยังสามารถทำมาหากิน และ ใช้ชีวิตตามวิถีประจำวัน แต่ต้องปรับเรื่องการเว้นระยะห่างและการป้องกันตัวจากโควิด

อีกหนึ่งสาเหตุที่ครั้งนี้ไม่ใช้ยาแรงเมื่อต้นปี 2563 เพราะ รัฐบาลมีบทเรียนว่า เมื่อใช้มาตรการเข้มข้น ประชาชนส่วนใหญ่จะทำตาม แต่ก็มีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ทำตาม ซึ่งทำให้คนที่ทำดีได้รับผลกระทบไปด้วย “ครั้งนี้จึงไม่อยากให้ คนธรรมดาสามัญเจ็บปวดอีกแล้ว”

ขณะที่มาตรการที่เตรียมไว้ตอนนี้ มี 8 มาตรการที่รอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เซ็นลงนามเพื่อประกาศใช้ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในวันพรุ่งนี้ (4มกราคม) ประกอบไปด้วย

ห้ามใช้อาคารโรงเรียน ห้ามจัดการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก หรือ หากจะจัดต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อน เช่น แต่งงาน หากจะจัดต้องขออนุญาตและต้องมีมาตรการป้องกันโควิด-19

ส่วนการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดสามารถสั่งปิดได้ตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่

ส่วน ร้านอาหารยังสามารถเปิดดำเนินการได้แต่ต้องจัดระเบียบ เว้นระยะห่างและจำกัดจำนวนที่นั่งในร้าน หรือ หากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เห็นว่า สถานการณ์พื้นที่ใดควรงดทานอาหารที่ร้านก็สามารถสั่งการได้

ห้างสรรพสินค้าให้เปิดได้ปกติ โดยอำนาจในการสั่งปิดห้างสรรพสินค้า ศบค. มอบหมายให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแต่ละจังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสม

การเดินทางข้ามจังหวัด ยังสามารถทำได้ แต่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองเดินทาง และขอให้ประชาชนเดินทางเท่าที่จำเป็น

การทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home ขอความร่วมมือ ให้สลับวันเวลา และ เหลื่อมวันทำงานภายในองค์กร และ สุดท้าย ศบค. พิจารณา ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ สามารถพิจารณาผ่อนคลายหรือกระชับมาตรการในพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาให้ผ่อนคลายหรือบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้ง สามารถเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม โดยมาตรการในฉบับนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรขึ้นอยู่กับการอำนาจ และ ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี  

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ