รู้จัก “ ซิโนแวค” วัคซีนโควิด-19 ก่อนฉีดเข็มแรกให้คนไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นิวมีเดีย พีพีทีวี รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทซิโนแวค ซึ่งล็อตแรกเดินทางถึงเมืองไทยแล้ว

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขของไทยประมาณการว่า ไทยจะดำเนินการผลิตวัคซีนโควิด-19 จำนวน 26 ล้านโดสจากองค์ความรู้ของแอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และจะสั่งซื้อจากจีนอีก 2 ล้านโดส ซึ่งล็อตแรกจะมาถึงในเดือน ก.พ. 64

อย.ขึ้นทะเบียน วัคซีนซิโนแวคแล้ว ล็อตแรกถึงไทยพรุ่งนี้

วัคซีนมาแล้ว "อนุทิน" โชว์ภาพ "ซิโนแวค" ถึงไทย 24ก.พ.ย้อนแผนรับ -​ ฉีดวัคซีนโควิด

โดยวัคซีนที่จะซื้อจากจีนนั้น มีชื่อว่า “โคโรนาแวค (CoronaVac)” ของบริษัท ซิโนแวค (SinoVac) บริษัทด้านชีวเวชภัณฑ์ของจีน ไทยจะได้รับวัคซีนโคโรนาแวคเป็นช่วง ๆ แบ่งเป็นปลายเดือนกุมภาพันธ์ 200,000 โดส ปลายเดือนมีนาคม 800,000 โดสและปลายเดือนเมษายนอีก 1,000,000 โดส

ปริศนาประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 “ซิโนแวค”

ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ตัวนี้อยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกเฟสที่ 3 ในบราซิล ชิลี อินโดนีเซีย และตุรกี โดยเป็น “วัคซีนเชื้อตาย” หรือ Inactivated

วัคซีนเชื้อตายคืออะไร?

ไวรัสเชื้อตายเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ถูกใช้มานานกว่าศตวรรษ เป็นที่รู้จักมากจาก โจนัส ซัลก์ (Jonas Salk) ซึ่งใช้เทคโนโลยีวัคซีนเชื้อตายในการสร้างวัคซีนโปลิโอในปี 1955 และเป็นฐานสำหรับวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า และไวรัสตับอักเสบเอ

โดยโคโรนาแวคก็เป็นวัคซีนเชื้อตาย ทำงานโดยการเหนี่ยวนำระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ให้สร้างแอนติบอดีต้านโควิด-19 โดยแอนติบอดีจะยึดติดกับโปรตีนบางส่วนของไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย

ในการสร้างวัคซีนโควิด-19 โคโรนาแวค นักวิจัยซิโนแวคเริ่มต้นด้วยการหาตัวอย่างของเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยในจีน อังกฤษ อิตาลี สเปน และสวิตเซอร์แลนด์ โดยเลือกใช้ตัวอย่างเชื้อจากประเทศจีนเป็นพื้นฐานของวัคซีน

นักวิจัยได้ขยายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ในเซลล์ไตของลิง จากนั้นก็แช่ในสารเบตา-โพรพิโอแลกโตน (beta-propiolactone) ซึ่งทำให้เชื้อโควิด-19 ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ แต่โปรตีนและโครงสร้างต่าง ๆ ยังอยู่ครบถ้วน

จากนั้นนักวิจัยจะดึงไวรัสที่ตายมาผสมกับสารประกอบอลูมิเนียม ซึ่งสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้เพิ่มการตอบสนองต่อวัคซีน

เนื่องจากเชื้อโควิด-19 ในวัคซีนโคโรนาแวคเป็นเชื้อตาย จึงสามารถฉีดเข้าที่แขนของมนุษย์ได้โดยไม่ก่อให้เกิดโรค เมื่ออยู่ภายในร่างกาย ไวรัสเชื้อตายบางส่วนจะถูกกลืนเข้าไปโดยเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง แล้วระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะทำงานและคัดเลือกเซลล์ภูมิคุ้มกันขึ้นมาตอบสนองต่อวัคซีน เกิดการหลั่งแอนติบอดีที่มีรูปร่างเหมือนกับโปรตีนของโควิด-19 ขัดขวางป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายอื่น ๆ

แม้ว่าโคโรนาแวคจะสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าภูมิคุ้มกันนั้นจะอยู่ได้นานแค่ไหน เป็นไปได้ว่าระดับของแอนติบอดีจะลดลงในช่วงหลายเดือน แต่ระบบภูมิคุ้มกันของคนเราจะมีเซลล์พิเศษที่เรียกว่าเซลล์หน่วยความจำ B ซึ่งอาจเก็บข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ไว้ในร่างกายเป็นเวลาหลายปีหรือหลายทศวรรษได้

ไทม์ไลน์ซิโนแวค

มกราคม 2020 ซิโนแวคเริ่มพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีวัคซีนเชื้อตาย

พฤษภาคม 2020 เริ่มการทดลองทางคลินิกเฟส 1/2 ที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) เมืองซุยหนิง มณฑลเจียงซู ประเทศจีน

มิถุนายน 2020 ผลการทดสอบทางคลินิกเฟส 1/2 เบื้องต้นในอาสาสมัคร 743 คน ไม่พบผลเสียที่รุนแรง

กรกฎาคม 2020 เริ่มการทดสอบเฟส 3 ในบราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี ขณะที่รัฐบาลจีนอนุมัติให้ใช้วัคซีนโคโรนาแวคได้ในกรณีฉุกเฉิน ขณะที่ซิโนแวคเผยแพร่ผลการทดสอบเฟส 1/2 อย่างเป็นทางการในวารสาร The Lancet พบว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรก วัคซีนโควิด-19 โคโรนาแวคช่วยสร้างแอนติบอดีที่ทำให้เชื้อโควิด-19 เป็นกลางได้ในตัวอาสาสมัคร 109 คนจาก 118 คน หรือ 92% ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 3 ไมโครกรัม และสร้างแอนติบอดีในอาสาสมัคร 117 คนจาก 119 คน หรือ 98% ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 6 ไมโครกรัม

ตุลาคม 2020 หน่วยงานในเมืองเจียซิง (Jiaxing) ทางตะวันออกของจีน ประกาศว่า ได้ฉีดวัคซีนโคโรนาแวคให้กับบุคลากรที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ท่าเรือ และพนักงานบริการสาธารณะ

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2020 สถาบันบูตันตัน (Instituto Butantan) ผู้รับผิดชอบการทดสอบวัคซีนโคโรนาแวคทางคลินิกในบราซิล กล่าวว่า วัคซีน CoronaVac มีประสิทธิภาพระหว่าง 50% ในบราซิล แต่ซิโนแวคขอให้ระงับการแถลงผลการทดสอบ ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสและความปลอดภัยของวัคซีน

ขณะที่เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2020 ตุรกีเปิดเผยผลการทดสอบเฟสที่ 3 ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 91.25% ซึ่งห่างจากผลการทดสอบในบราซิลค่อนข้างมาก

บราซิล ยัน วัคซีนโควิด “ซิโนแวค” มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสกลายพันธุ์

วัคซีนของซิโนแวค น่าเชื่อถือหรือไม่?

แม้ผลการทดสอบยังไม่แน่ชัด แต่ซิโนแวคก็ได้ประกาศเตรียมผลิตวัคซีนโควิด-19 โคโรนาแวคเพื่อจำหน่ายทั่วโลก ปัจจุบันมี 10 ประเทศ/พื้นที่ ที่สั่งจองวัคซีนโคโรนาแวคไว้ คือ บราซิล ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ตุรกี และยูเครน โดยบางส่วนได้รับวัคซีนแล้ว ขณะที่บางส่วนจะได้รับภายใน 3 เดือนแรกของปี 2021 นี้ รวมถึงประเทศไทย โดยบริษัทคาดว่าในปี 2021 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 600 ล้านโดสต่อปี

ผู้ที่รับวัคซีนโคโรนาแวคต้องรับวัคซีน 2 โดส ห่างกันโดสละ 2 สัปดาห์ ราคาคร่าว ๆ ที่ต่างประเทศสั่งจองอยู่ที่ราวโดสละ 300-890 บาท สำหรับไทยกระทรวงสาธารณสุขเจรจาขอซื้อวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดสได้ในราคา 17 ดอลลาร์ต่อโดส (ราว 508 บาท) โดยเตรียมเสนอของบกลาง 1,170 ล้านบาท ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 ม.ค. 64

ดิมาส โควาส (Dimas Covas) ผู้อำนวยการสถาบันบูตันตัน ระบุว่า วัคซีนโคโรนาแวคมีข้อได้เปรียบวัคซีนโควิด-19 ตัวอื่นบางประการ เช่น ไม่จำเป็นต้องถูกเก็บรักษาด้วยการแช่แข็ง สามารถขนส่งและแช่เย็นได้ที่อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิตู้เย็นทั่วไป สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 3 ปี เป็นข้อได้เปรียบในการกระจายวัคซีนไปยังภูมิภาคที่ไม่มีการพัฒนาระบบลูกโซ่ความเย็น (Cold Chain System)

นอกจากนี้ โคโรนาแวคยังเป็นหนึ่งในวัคซีนที่มีผลการทดสอบทางคลินิกเฟส 1/2 ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ย่างเป็นทางการ ทำให้มีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง

แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีประเทศใดรายงานผลลัพธ์การทดสอบวัคซีนโคโรนาแวคเฟส 3 โดยละเอียด โดยคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนมกราคมนี้ ผลการศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ในเฟส 3 ของโคโรนาแวคเบื้องต้นถูกคาดการณ์ไว้กว้างมาก คือ 50-90% ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนก็ยังมองว่าโคโรนาแวคขาดความน่าเชื่อถืออยู่

เรียบเรียงจาก New York Times

ภาพจาก AFP / Shutterstock

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ