เทียบวัคซีนโควิด-19 สองชนิดเข้าไทย “แอสตราเซเนกา-ซิโนแวค”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เทียบวัคซีนโควิด-19 สองชนิด “แอสตราเซเนกา-ซิโนแวค” เดินทางถึงไทยวันนี้

วัคซีนโควิด-19 จากสองบริษัทคือ “แอสตราเซเนกา” และ “ซิโนแวค” กำลังจะเดินทางถึงประเทศวันนี้ (24 ก.พ.) นิวมีเดียพีพีทีวีจึงนำข้อมูลวัคซีนโควิด-19 ทั้งสองบริษัทมาเปรียบเทียบ

เซอร์ไพรส์ ! อนุทิน เผยวัคซีน “แอสตราเซเนกา” 117,000 โดส มาพร้อม “ซิโนแวค” 24 ก.พ. นี้

ทีจี 675 จากปักกิ่ง มุ่งหน้าสุวรรณภูมิแล้ว ส่งวัคซีนโควิด "ซิโนแวค" 2 แสน โดสแรก

เทียบ “วัคซีนโควิด-19” ทำไมไทยต้องจอง “แอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ด”

แอสตราเซเนกา

วัคซีนโควิด-19 AZD1222” พัฒนาโดยบริษัทสัญชาติอังกฤษ-สวีเดนแอสตราเซเนการ่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็นวัคซีนชนิดเวกเตอร์อะดีโนไวรัส หรือการนำไวรัสที่ทำให้อ่อนลงแล้วไม่ทำให้เกิดโรค โดยในที่นี้นำมาจากลิงชิมแปนซี มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของโควิด-19 ลงไป แล้วนำมาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน

อนามัยโลกไฟเขียววัคซีนแอสตราเซเนกา

วัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาปัจจุบันต้องฉีด 2 โดส ห่างกัน 4-12 สัปดาห์ โดยผลการทดลองทางคลินิกเฟส 3 เบื้องต้น พบว่า วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ดมีประสิทธิภาพเฉลี่ย 70% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ตัวเลขนี้อาจสูงถึง 90% หากปรับขนาดยา

วิจัยพบ ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มเดียว มีประสิทธิภาพสูงสุด 76%

กระนั้นผลการศึกษาโดยรวมแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ชนิดนี้ต่ำกว่าวัคซีนอื่น ๆ เล็กน้อย และเพิ่งมีผลการศึกษาที่น่าแปลกใจแต่ยังไม่แน่ชัดว่า ยิ่งฉีดวัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาห่างกันเท่าไหร่ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพ

แต่วัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกามีข้อได้เปรียบอยู่ นั่นคือสามารถจัดเก็บ ขนส่ง และจัดการได้ในสภาพแช่เย็นปกติที่ 2-8 องศาเซลเซียส เก็บได้นานอย่างน้อย 6 เดือน ทำให้ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีระบบลูกโซ่ความเย็น (Cold Chain System) ที่อาจมีต้นทุนสูง

วัคซีน AZD1222 ล็อตแรกที่ขนส่งมายังไทยวันนี้จะมีจำนวนทั้งสิ้น 117,000 โดส โดยไทยสั่งซื้อมาทั้งสิ้น 61 ล้านโดส

ซิโนแวค

“โคโรนาแวค (CoronaVac)” คือชื่อของวัคซีนโควิด-19 โดยบริษัท ซิโนแวค (SinoVac) บริษัทด้านชีวเวชภัณฑ์ของจีน เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated) หรือการเพาะเชื้อโควิด-19 ในเซลล์ไตของลิง จากนั้นก็แช่ในสารเบตา-โพรพิโอแลกโตน (beta-propiolactone) ให้เชื้อโควิด-19 ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ แต่โปรตีนและโครงสร้างต่าง ๆ ยังอยู่ครบถ้วน

รู้จัก “ ซิโนแวค” วัคซีนโควิด-19 ก่อนฉีดเข็มแรกให้คนไทย

จากนั้นนักวิจัยจะดึงไวรัสที่ตายมาผสมกับสารประกอบอลูมิเนียม ซึ่งสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้เพิ่มการตอบสนองต่อวัคซีน แล้วฉีดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ไวรัสเชื้อตายบางส่วนจะถูกกลืนเข้าไปโดยเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง แล้วระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะทำงานและคัดเลือกเซลล์ภูมิคุ้มกันขึ้นมาตอบสนองต่อวัคซีน เกิดการหลั่งแอนติบอดีที่มีรูปร่างเหมือนกับโปรตีนของโควิด-19 ขัดขวางป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคยังเป็นที่น่ากังขา เพราะสถาบันบูตันตัน (Instituto Butantan) ผู้รับผิดชอบการทดสอบวัคซีนซิโนแวคทางคลินิกในบราซิล กล่าวว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพราว 50% เท่านั้น แต่ตุรกีซึ่งเป็นสถานที่ทดลองทางคลิกเฟส 3 เช่นกันเปิดเผยว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 91.25% และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวคอย่างเป็นทางการตีพิมพ์ในวารสารสากล

กระนั้น วัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคก็มีข้อดีที่มองข้ามไปไม่ได้ นั่นคือสามารถขนส่งและแช่เย็นได้ที่อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิตู้เย็นทั่วไป จึงกระจายวัคซีนไปยังภูมิภาคที่ไม่มีการพัฒนาระบบลูกโซ่ความเย็นได้เช่นเดียวกับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา แต่ได้เปรียบกว่าตรงที่สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 3 ปี

ไทยจะได้รับวัคซีนโคโรนาแวคเป็นช่วง ๆ แบ่งเป็นล็อตแรก 24 ก.พ. 200,000 โดส ปลายเดือนมีนาคม 800,000 โดสและปลายเดือนเมษายนอีก 1,000,000 โดส

นอกจากไทย ใครอีกบ้างซื้อวัคซีนโควิด-19 “ซิโนแวค”

วัคซีนโควิด-19 ทั้งสองบริษัทนี้นับเป็นความหวังสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยขยับเข้าสู่ภาวะปกติและฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ โดยคาดว่าอาจเริ่มมีการฉีดวัคซีนอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม แต่จะฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น บุคลากรการแพทย์ ผู้ปะกอบอาชีพกลุ่มเสี่ยง และผู้สูงอายุ

เรียบเรียงจาก Biospace / New York Times / Business Insider

ภาพจาก AFP / Shutterstock

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ