เพจดังแฉ VIP ฉีดวัคซีนโควิด ก่อนกลุ่มแพทย์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เกิดดรามาขึ้นจนได้ เมื่อเฟซบุ๊กแฟนเพจ หมอ ซึ่งให้ข้อมูลด้านสาธารณสุข เพจหนึ่ง โพสต์ข้อความแฉว่า ในการฉีดวัคซีนล็อตแรกเมื่อวานที่ผ่านมา มีคนกลุ่มหนึ่ง ที่เป็น VIP ของจังหวัดลัดคิวแพทย์ เพื่อให้ได้ฉีดวัคซีนก่อนคนอื่นๆ ล่าสุดทั้งนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว ว่าไม่เป็นความจริง

กางแผนฉีดวัคซีน ซิโนแวคฉีดวันธรรมดา แอสตราฯฉีดเสาร์-อาทิตย์

“อนุทิน” ปัดตอบ กำหนดวันฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมนายกฯ แย้มล็อตสองมา มี.ค.

เฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีชื่อว่า Infectious ง่ายนิดเดียว ที่ได้โพสต์ข้อความเมื่อวานนี้ (1 มี.ค.64) ระบุว่า มีคนส่งรูปมา ในบางจังหวัดที่เริ่มมีการฉีดวัคซีน แต่กลับมี VIP บางรายที่ไม่ใช่บุคคลากรทางการแพทย์ แต่เป็น แขก VIP ของจังหวัดที่ได้ฉีดก่อน

เรื่องนี้ กลายเป็นดรามาร้อน ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ฉีดได้ยังไง แล้วทำไมถึงเกิดเรื่องเช่นนี้ได้  หลังจากนั้น เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว ก็ได้ลบข้อความดังกล่าวออก

วันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงออกมาพูดถึงเรื่องนี้ บอกว่า การฉีดวัคซีนให้ใครนั้น ไม่ได้เป็นคำสั่งจากรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข แต่คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดจะเป็นผู้กระจายวัคซีน ต้องไปดูว่าได้กำหนดการกระจายอย่างไร ทั้งนี้ จะต้องยึดหลัก เป็นธรรม และตามที่กำหนดไว้

ด้านกระทรวงสาธารณสุข จัดแถลงข่าวด่วนเมื่อ 11.00 น.ที่ผ่านมา โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ได้ออกมาบอกว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อมีข่าว จึงรีบไปตรวจสอบ พบว่า มีปัญหาระบบลงทะเบียนขัดข้อง ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลงทะเบียนได้ไม่ครบ ใครที่ลงทะเบียนได้ ก็สมารถฉีดได้ที่โรงพยาบาลต้นสังกัด

ส่วนโรงพยาบาลนครพิงค์นี้ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้กำหนดไว้ให้เป็นที่ฉีดวัคซีนของบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า สื่อมวลชน รวมถึง ตำรวจ และทหารในพื้นที่ด้วย ซึ่งไม่เพียงแต่ VIP แต่นายทหารสัญญาบัตรก็มาฉีดด้วย เพราะมีหน้าที่ป้องกันด่านหน้าด้านสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความมั่นใจจากพี่น้องประชาชนว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตามมาตรการทุกอย่าง อย่างตรงไปตรงมา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงสั่งให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมีความคืบหน้าจะนำเรียนในครั้งต่อไป หรือใครมีข้อมูลอะไรก็แจ้งมาได้

ล่าสุด มีความเคลื่อนไหว จากโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ โดย นายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ชี้แจงว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจคลาดเคลื่อน วัคซีนโควิด 19 ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับมา ฉีดได้ 1,750 คน โดยจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ 1,450 คน  ส่วนบุคลากรด่านหน้าอื่นๆ เช่น  อสม. ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และ หน่วยงานอื่น ๆ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค รวมทั้งตัวแทนจากภาคการท่องเที่ยว จะได้ฉีด 300 คน 

ส่วนที่เกิดเป็นประเด็นอาจเป็นเพราะการฉีดวัคซีนเมื่อวานนี้ ก่อนที่จะเริ่มฉีดได้มีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ในการแถลงข่าวมีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และตัวแทนจากหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรฉีดวัคซีนเข้าร่วม ซึ่งทุกคนก็จะแต่งชุดข้าราชการประจำหน่วยงานมาร่วมแถลงข่าว ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน 

ขณะที่หลายหน่วยงานอาจส่งผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชามาร่วมฉีดด้วย เพราะต้องการสร้างความเชื่อมั่น เนื่องจากการสำรวจก่อนหน้านี้พบว่ามีเจ้าหน้าที่หลายคนในหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือก ตัดสินใจที่จะยังไม่รับวัคซีนเพราะยังกังวลถึงประสิทธิภาพ  ขอยืนยันไม่มีบุคคลวีไอพีหรือบุคคลอื่นที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการฉีดวัคซีนแน่นอน 

ส่วนคนที่โพสต์เรื่องดังกล่าว เป็นบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอง จะมีการเรียกมาชี้แจงทำความเข้าใจ สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ได้รับวัคซีนล็อตแรก 3,500 โดส ในเดือนเมษายนจะได้รับอีก 32,000 โดส และเดือนพฤษภาคม จะได้รับ 48,000 โดส มีแผนกระจายให้ครอบคลุมมากที่สุด 

ทั้งนี้ สำหรับการกระจายวัคซีนโควิด19 ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกระจายไปแล้ว 13 จังหวัด จำนวน 116,520 โดส   ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี สุราษฎร์ธานี และภูเก็ตมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วรวม 3,021 คน แบ่งเป็น บุคลากรทางการแพทย์/สาธารณสุข รวม อสม. 2,781 คน เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 133 คน บุคคลที่มีโรคประจำตัว 21 คนและประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

ในจำนวนนี้ มีผู้ที่มีอาการข้างเคียง หลังจากได้รับวัคซีน เช่น อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด 4 คน คลื่นไส้อาเจียน 1 คน

ด้านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้  ได้อนุมัติงบประมาณ 6,387 ล้านบาท จัดหาวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทแอสตราเซเนกา เพิ่มเติม 35 ล้านโดส เพื่อมาฉีดให้คนไทยครอบคลุม 50% ของประชาชนทั้งหมด ภายในปี 2564 ค่าวัคซีนโควิดจะอยู่ที่ 5,302.50 ล้านบาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 371.17 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการวัคซีน 713.61 ล้านบาท โดยตามแผน ระยะที่ 1 เดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคมนี้ จะกระจายวัคซีนไป 18 จังหวัด 2 ล้านโดส และระยะที่ 2 เดือนมิถุนายน -ธันวาคม จะกระจายให้ทุกจังหวัด 61 ล้านโดส

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ