เปิดสาเหตุ สายด่วน 1668 หาเตียงโควิด “โทรติดยาก”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมข่าว PPTV พาไปติดตามภารกิจของเจ้าหน้าที่สายด่วน 1668 ประสานหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของกรมการแพทย์ ซึ่งหลายคนบอกว่า โทรติดยาก สายไม่ว่าง โดยจากการสังเกตของทีมข่าวพบระยะเวลาการคุยซักถามกับผู้ป่วยแต่ละคนใช้เวลาเฉลี่ย 10-15 นาทีต่อคู่สาย

สธ.จัด 20 คู่สาย 1668 จัดการเตียงรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19

เบื้องหลังรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 เจอปัญหา “เตียงไม่พอ”

สธ. เร่งจัดหาเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เปิดสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชม.

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บทสนทนาของ นาวสาวธารีพร ตติยบุญสูง เจ้าหน้าที่สายด่วน 1668 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ขณะโทรติดตามอาการกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งกักตัวอยู่ที่บ้าน ระหว่างรอเจ้าหน้าที่ประสานหาเตียง ส่งต่อไปยังโรงพยาบาล 

นาวสาวธารีพร เล่าว่า เมื่อรู้ว่าจะมีการตั้งศูนย์นี้ ตนอาสามาทำงาน เพราะเคยเป็นพยาบาลมาก่อน โดยแต่ละครั้งที่โทรคุยกับผู้ป่วย นอกจากจะถามไถ่อาการแล้ว ยังคอยให้คำแนะนำตั้งแต่การปฏิบัติตัว และรับฟังปลอบใจผู้ป่วยที่วิตกกังวล ทั้งจากการอาการป่วย และไม่สบายใจที่ยังไม่ได้เตียงรักษา ทำให้ในแต่ละคู่สายต้องใช้เวลานาน 15 – 20 นาที และในแต่ละวันจะรับเคสผู้ป่วยวันละ 40 – 50 คน  

โดยศูนย์แห่งนี้แบ่งการทำงานเป็น 3 ทีม ทั้งหมด 20 คู่สาย ทีมแรกทำหน้าที่คอลเซนเตอร์ รับเคสที่โทรเข้ามา ก่อนจะส่งต่อข้อมูลให้ทีมที่2 ตรวจสอบ จากนั้นจะส่งต่อให้ทีมที่ 3 ติดตามประเมินอาการของผู้ป่วยระหว่างรอเตียงอยู่ที่บ้าน ซึ่งจะแบ่งกลุ่มผู้ป่วยเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของอาการ สีแดง ผู้ป่วยติดเชื้ออาการวิกฤต สีเหลือง ผู้ป่วยติดเชื้อเริ่มมีอาการ และสีเขียว ผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ

คู่สายโทรศัพท์ที่จะคุยติดตามอาการกับผู้ป่วย มี แค่ 5 คู่สาย เพราะเจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อย การโทรติดตามอาการ จะพิจารณาจากความรุนแรง เช่น ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง แพทย์ประจำศูนย์ จะโทรหาทุก 4 ชั่วโมง  ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง โทรหาทุกวัน วันละ 1 ครั้ง และผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว โทรหาทุก 2 วัน ซึ่งระหว่างนี้เจ้าหน้าที่จะทำประสานกับโรงพยาบาล เพื่อส่งตัว เช่น กลุ่มสีเขียว จะถูกส่งไปโรงพยาบาลสนาม  กลุ่มสีเหลือง และกลุ่มสีแดง ส่งต่อไปยังศูนย์ส่งต่อโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อจัดหาโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ แต่หากเป็นเคสสีแดง ฉุกเฉินที่สุด จะติดต่อสายด่วน 1669 ศูนย์เอราวัณ รีบเข้าไปรับผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เพราะถือว่าเป็นกลุ่มสุ่มเสี่ยง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง พัชรินทร์ ปิงเมืองแก้ว แพทย์ประจำศูนย์ ให้ข้อมูลว่า  ตั้งแต่เปิดศูนย์ในวันที่ 10 เมษายน ถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยโทรมาที่สายด่วน 1668 เพื่อประสานขอเตียง 1,204 ครั้ง ในจำนวนนี้รับเข้าโรงพยาบาลไปแล้ว 627 คน ส่วนที่เหลือ 509 คน อยู่ระหว่างประสานงาน ในจำนวนนี้ กลุ่มผู้ป่วยสีเขียวมีบางส่วนปฏิเสธไม่ยอมไปโรงพยาบาลสนาม ให้เหตุผลว่า ไม่สะดวก และอยากได้ความเป็นส่วนตัว

 ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยโทรหาสายด่วน 1668 แล้วต้องรอสายนาน ต้องโทรหลายครั้งเจ้าหน้าที่ถึงจะรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง พัชรินทร์ ระบุว่า เป็นเพราะ เจ้าหน้าที่น้อย และเวลาคุยแต่ละเคสต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะ ต้องซักถามอาการ

ทั้งนี้ทางศูนย์สายด่วน 1668 กรมการแพทย์ มีความพยายามจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งทีมคอลเซนเตอร์ และทีมติดตามอาการ เพื่อให้อำนวยความสะดวกให้มากขึ้น และลดระยะเวลาการรอสาย แต่แพทย์ประจำศูนย์ระบุว่า ผู้ที่จะมาทำหน้าที่เหล่านี้ จะต้องผ่านการฝึกอบรม หรือ เป็นเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพที่มีองค์ความรู้อยู่แล้ว เพื่อให้การติดตาม และประเมินอาการของผู้ติดเชื้อที่กักตัวในบ้านระหว่างรอเตียงไม่ให้อาการทรุดเพิ่ม เพราะขณะนี้พบว่า อาการของผู้ป่วยเริ่มรุนแรงในเวลารวดเร็ว ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยบางคนวันนี้ไม่มีอาการ แต่ถัดมาอีกวันเริ่มมีอาการเข้าเณฑ์สีเหลือง

ขณะเดียวกัน แพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แนะนำข้อปฏิบัติของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องรอเตียงอยู่ที่บ้าน ว่า ต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างจากคนใกล้ชิด และทำบันทึกสุขภาพในไลน์ @Sabaideebot รวมถึง เตรียมเอกสารหลักฐานและโทรศัพท์แจ้งโรงพยาบาลที่ตรวจ หากโรงพยาบาลหาเตียงไม่ได้ภายใน 1-2 วัน ให้โทรศัพท์ไปที่ 1668 และ 1330 ขอคำปรึกษาในการปฏิบัติตัวระหว่างรอเตียงหากมีไข้สูง, หายใจเหนื่อย, ถ่ายเหลวหลายครั้ง ให้โทรศัพท์ไปที่ 1669 เพื่อประสานเข้ารับการรักษาตัวโดยเร็ว หรือเพิ่มเพื่อนใน Line Official Account @Sabaideebot เพื่อติดต่อความคืบหน้าเรื่องเตียงผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลจะมีการคัดแยกผู้ป่วยตามความรุนแรงของอาการ

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ