รายละเอียด 5 ตัวเลือกวัคซีนโควิด-19 “บิ๊กตู่” เล็งสั่งซื้อ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รวมรายละเอียดวัคซีน 5 ยี่ห้อที่นายกฯ กล่าวถึงว่า กำลังพิจารณาหาแนวทางในการจัดซื้อ

รพ.ลำปาง พบผลข้างเคียงเกือบ 40 รายหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคให้บุคลากร

กางปฏิทินครึ่งปีหลัง “ฉีดวัคซีนโควิด-19” รายเดือน รวม 61 ล้านโดส

นายกฯให้สั่งเพิ่มวัคซีน 35 ล้านโดสเร่งด่วน

ข้อมูล ณ วันที่ 22 เม.ย. ระบุว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วเกือบ 700,000 โดส ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วประมาณ 94,000 ราย หรือคิดเป็น 0.1% ของประชากรทั้งประเทศ

ประเด็นเรื่องความกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนที่สังคมรู้สึกว่าล่าช้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายหรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงไว้ในการแถลงสถานการณ์เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยนายกฯ บอกว่า ในอนาคตอันใกล้ช่วงเดือน มิ.ย. ประเทศไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 มากขึ้นอย่างแน่นอน

“ประเด็นคือขณะนี้วัคซีนโควิด-19 เป็นการใช้ในกรณีฉุกเฉิน จะเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐเท่านั้น การที่รัฐจะซื้อแล้วขายต่อเราทำไม่ได้ เป็นหลักการทางกฎหมาย เราจะให้องค์การเภสัชกรรมสั่งซื้อ เพื่อนำมาแจกจ่าย สมาคม โรงพยาบาล หรือใครก็ตามที่ต้องการและมีขีดความสามารถ” นายกฯ กล่าวถึงข้อจำกัดในการซื้อวัคซีนโควิด-19 จากต่างประเทศในขณะนี้

พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า ได้วางแผนงานในการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร 60% ของประเทศตามแผนงานที่วางไว้ โดยจัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ มาหารือร่วมกันว่าทำอย่างไรจึงจะได้รับวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้น รวมถึงการพิจารณาจัดชื้อวัคซีนยี่ห้ออื่นนอกเหนือไปจากแอสตราเซเนกาและซิโนแวคที่มีอยู่

“พูดคุยไปทางรัสเซีย ติดต่อไปทางรัสเซีย ผ่านกระทรวงต่างประเทศ Sputnik-V และวัคซีนของไฟเซอร์ ต้องดูว่าจะซื้อได้เท่าไหร่ แต่ต้องนำมาขึ้นทะเบียนก่อน ... เราติดต่อไปแล้ว อยู่ที่ว่าเขาจะขายหรือไม่ขาย” นายกฯ บอก

ในงานแถลงสถานการณ์วันดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดถึงวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด 5 ยี่ห้อ ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป ดังนี้

1. “Sputnik-V” โดยบริษัท กามาเลยา ของประเทศรัสเซีย เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดอะดีโนไวรัสเวกเตอร์ ต้องได้รับ 2 โดส ห่างกัน 3 สัปดาห์

วัคซีน Sputnik-V มีประสิทธิภาพทั่วไป 91-97% ส่วนการใช้กับสายพันธุ์อังกฤษยังไม่พบข้อมูลว่ามีการศึกษา และหากใช้กับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จะมีประสิทธิภาพลดลง 1.5 เท่า

การจัดการรักษาวัคซีนชนิดนี้ต้องจัดเก็บที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส มีประมาณ 60 ประเทศทั่วโลกที่ใช้วัคซีนโควิด-19 ของรัสเซียตัวนี้ และปัจจุบันยังไม่มีความว่ามีผลเสียร้ายแรงใด

2. “BNT162b2” โดยบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค หรือที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า “วัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์” เป็นวัคซีนชนิด mRNA ต้องได้รับ 2 โดส ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพป้องกันทั่วไป 95%

ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์เป็นวัคซีนไม่กี่ตัวที่มีการศึกษาประสิทธิภาพในสายพันธุ์อังกฤษและแอฟริกาใต้ ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์อังกฤษลดลง 0-2.5 เท่า ขณะที่สายพันธุ์แอฟริกาใต้ประสิทธิภาพลดลง 6-8 เท่า

วัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ต้องจัดเก็บที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส แต่สามารถเก็บไว้ที่ 2-8 องศาเซลเซียสได้เป็นเวลา 5 วัน แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีการจัดการ แต่ก็มีมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกที่มั่นใจในวัคซีนโควิด-19 ชนิดนี้

ล่าสุด ที่บริสเบน ออสเตรเลีย เกิดกรณีตำรวจวัย 40 ปีเกิดภาวะเลือดแข็งตัวหลังเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ได้ประมาณ 3 วัน เบื้องต้นยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ขณะที่บริษัทไฟเซอร์ปฏิเสธชัดเจนว่า ภาวะดังกล่าวไม่มีอยู่ในความเสี่ยงของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์

3. “Convidicea” โดยบริษัทแคนซิโน ประเทศจีน เป็นวัคซีนชนิดเวกเตอร์ ซึ่งใช้เพียง 1 โดสก็เกิดประสิทธิผล มีประสิทธิภาพทั่วไป 66% แต่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อเกิดอาการรุนแรงมากถึง 90%

สำหรับวัคซีนโควิด-19 ชนิดนี้สามารถเก็บรักษาไว้ได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ทำให้ง่ายต่อการจัดการ และเป็นข้อดีที่อาจเหนือกว่า Sputnik-V และวัคซีนของไฟเซอร์

อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้ยังไม่มีการศึกษาความสามารถในการรับมือโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จึงอาจกลายเป็นข้อเสีย เมื่อการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกนี้ส่วนมากเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ

4. “BBIBP-CorV” ของบริษัทจีนอีกหนึ่งเจ้า คือ ซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ต้องใช้ 2 โดส ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพทั่วไป 79-86%

เบื้องต้นไม่พบข้อมูลข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้ต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ ด้านประสิทธิภาพรับมือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ลดลง 1.6 เท่า ทั้งนี้ วัคซีนี้สามารถเก็บรักษาไว้ได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสเช่นกัน

5. “Covaxin” โดย ภารัตไบโอเทค ประเทศอินเดีย เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายเช่นกัน ต้องใช้ 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพทั่วไป 78-81% และยังกล่าวอ้างว่า ประสิทธิภาพวัคซีนไม่ลดลงแม้เจอกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษหรือแอฟริกาใต้

ซึ่งหากข้อมูลข้างต้นเป็นจริง ก็อาจทำให้ Covaxin เป็นวัคซีนม้ามืดที่น่าสนใจ เพราะนอกจากประสิทธิภาพจะน่าพึงพอใจแล้ว ยังมีข้อเด่นในเรื่องของการจัดการ โดยเก็บรักษาไว้ได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ทำให้ต้นทุนด้านการจัดการอาจไม่สูงมาก

ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ตัวต่อไปที่ประเทศไทยจะสั่งซื้อมาจะเป็นของผู้ผลิตรายใด และปริมาณวัคซีนจะเพิ่มขึ้นเพียงพอตามแผนงานตริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

แต่เบื้องต้น สำนักข่าว AP รายงานว่า ประเทศไทยได้อนุมัติรับรองวัคซีนโควิด-19 จากหลายยี่ห้อแล้ว เช่น ซิโนแวคและแอสตราเซเนกาที่ไทยได้รับและเริ่มฉีดแล้ว และยังมีจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา

จากรายชื่อวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติแล้วดังกล่าว ทำให้คาดว่า วัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์น่าจะเป็นตัวเลือกที่ไทยกำลังจับตามองเป็นหลักอยู่

“40 ซีอีโอ” ชี้ ไทยฉีดวัคซีนโควิดช้า เสนอช่วยรัฐ ควักเงินจ่ายค่าวัคซีนฉีดพนักงานเอกชนกว่า 1 ล้านราย

วิกฤตโควิด! “ศิริราช” เผยเลือดสำรองขาดแคลนหนัก ขอรับบริจาคทุกกรุ๊ป

เรียบเรียงจาก Bloomberg / EPR / Forbes / NIH / The Lancet / The Moscow Times / The New England Journal of Medicine / The New York Times

ภาพจาก AFP

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ