เปิดวงจร ปัญหาผู้ป่วยโควิด ตรวจแล็บ-หาโรงพยาบาลไม่ได้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมข่าว PPTV ได้ประมวลปัญหาแล้ว พบว่า การตรวจแล็บของเอกชน และการส่งต่อไปที่ สายด่วน 1668 เป็นจุดที่มีปัญหามากที่สุดในเวลานี้

สปสช. เปิดสายด่วน 1330 เพิ่มช่วยประสาน "จัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด"

ยอดผู้ติดเชื้อโควิดระดับ 1,000 คนต่อวัน มานับสัปดาห์ ทำให้กรุงเทพมหานคร ประสบปัญหา เตียงไม่พอ ผู้ป่วยต้องรออยู่บ้าน หาโรงพยาบาลรักษาไม่ได้ หนักข้อขึ้นทุกวัน แม้กระทรวงสาธารณสุขจะยืนยันว่า ปัญหานี้จะแก้ไขได้ภายใน 1-2 วัน แต่จนขณะนี้ ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้

ดูจากผังการรักษา ขณะนี้ เมื่อประชาชนเป็นกลุ่มเสี่ยง จะมีการเข้าตรวจเชื้อ ใน 4 ที่หลัก ได้แก่ สปคม. หรือ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง แล็บ โรงพยาบาลรัฐ แล็บโรงพยาบาลเอกชน และแล็บเอกชน

ประชาชนที่ไปตรวจหาเชื้อกับ สปคม. ปัจจุบันมีจำนวน 500-1,000 คนต่อวัน มีการไปรอคิวตั้งแต่ช่วง ตี 4-5 ก่อนจะรับบัตรคิวตอน 7 โมง เมื่อทราบว่า ผลพบติดเชื้อ จะมีเจ้าหน้าที่โทรหาผู้ป่วยคนนั้นๆ ก่อนจะแจ้งว่า ยินดีที่จะให้ไปรับและส่งตัวไป โรงพยาบาลในสังกัด กทม.เลยไหม โดย สปคม.เชื่อมโยงกับ ศูนย์เอราวัณ 1669 ส่วนนี้พบว่า ไม่ค่อยมีปัญหาการส่งต่อ แต่ปัญหาคือ คนส่วนหนึ่ง อยากไปโรงพยาบาลเอกชน หรืออยากรักษาที่บ้าน ซึ่งรัฐบาลยังไม่อนุญาต จึงทำให้มีผู้ป่วยติดค้างในระบบจุดนี้ จำนวนหนึ่ง

ประชาชนที่ไปตรวจแล็บโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน ตามหลักแล้ว หากผู้ป่วยไปตรวจที่ไหน โรงพยาบาลนั้นๆ ก็ต้องรับรักษา ทำให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน ในเวลานี้ รับเคสการตรวจจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากเตียงเต็ม ผู้ป่วยในส่วนนี้ต้องรออยู่ที่บ้านเพื่อรอเตียง หรือการส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนที่เป็นปัญหาที่สุดน่าจะเป็น แล็บของเอกชน เนื่องจากพบว่า แล็บเอกชน ไม่มีโรงพยาบาลคู่สัญญา ดังนั้น จึงต้องรอส่งต่อเคสไปที่ 1668 กรมการแพทย์เท่านั้น  แต่ขณะนี้ก็พบปัญหาคู่สายที่เปิดให้บริการทั้ง 20 คู่สาย ต้องรอสายนาน บางครั้งติดแต่ไม่มีคนรับ

ประเด็นดังกล่าว นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยอมรับว่า เป็นปัญหาจริง และพยายามแก้ไขอยู่ ตั้งแต่การเพิ่มคู่สาย และเปิดรับจิตอาสามารับสายเพิ่ม พร้อมชี้แจง จิตอาสาที่รับโทรศัพท์ขณะนี้ทั้งหมดเป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือบุคลากรทางสาธารณสุข มีงานประจำอยู่แล้ว ต้องใช้เวลาว่างมาทำหน้าที่ ทำให้ในช่วงเช้า ถึงกลางวัน สายด่วน 1668 จะสามารถใช้บริการได้ 10 คู่สาย

ส่วนช่วงบ่ายเป็นต้นมาถึงจะรับได้เต็มที่ 20 คู่สาย ขณะเดียวกันแต่ละสายใช้เวลาคุยนาน ไม่ใช่เพียงถามชื่อ หรือ เบอร์โทรศัพท์ แต่ต้องซักไปถึงอาการของโรค จิตอาสา 1 คน จะใช้เวลาคุยไม่ต่ำกว่า 15 – 20 นาที หรือบางสายใช้เวลานาน 30 นาที

เช็กคุณสมบัติ ผู้ประกันตน ได้สิทธิตรวจโควิดฟรี ดูแลครบวงจร ประกันสังคม เปิดพิเศษ 17 เม.ย.

นายแพทย์สมศักดิ์ ระบุว่า ขณะนี้กำลังพยายามแก้ไขปัญหาโดยจะเพิ่มคู่สายอีก และจะเปิดรับจิตอาสาเพิ่ม จากเดิมที่มี 100 คน ขณะนี้หาเพิ่มได้เป็น 230 คน แต่ขอย้ำว่า ผู้ที่จะมารับโทรศัพท์ไม่ใช่ใครก็ได้ ต้องมีความเข้าใจเรื่องการรักษา

ทั้งนี้ตั้งแต่เปิดให้บริการประสานหาเตียงให้ได้แล้ว 1,300 คน จากคนไข้ทั้งหมด 1,700 คน ส่วนที่เหลืออีก 400 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไปตรวจหาเชื้อในแล็บคลินิกเอกชน ที่ไม่ได้มีเตียงสำหรับผู้ป่วย แต่รับตรวจหาเชื้ออย่างเดียว กำลังอยู่ระหว่างการประสานหาเตียงให้ คาดว่าจะคลี่คลายใน 1-2 วันนี้

ด้าน นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์เฟซบุ๊ก อัพเดทสถานการณ์โควิดขณะนี้

นพ.ศุภโชค บอกว่า การที่รัฐบาลไม่ได้เลือก ล็อกดาวน์ และเปิดให้มีการเดินทางช่วงสงกรานต์ เป็นเหตุใน 1 สัปดาห์หลังจากนั้น หรือในขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และเป็นผู้ติดเชื้อในวงที่ 2 ได้แก่ ผู้สูงอายุ พ่อ แม่ ปู่ ยา ตายาย และหลายคนเป็นผู้ป่วยติดเตียง

ปัญหาคือ เมื่อพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ก็เริ่มทำให้เกิดวงจรปัญหาดังนี้

-เตียงไม่พอ

-admit ไม่ได้

-รออยู่บ้าน

-อาการหนักเพราะ delay ยา

-ต้องใช้ยาเยอะกว่าเดิมและใช้ ICU

-กินเตียงนาน

-เตียงเต็มเตียงไม่พอ

นพ.ศุภกิจ บอกอีกว่า ข้อมูลพบ คนไข้ที่นอนอยู่โรงพยาบาล เฉพาะคนที่แอดมิดได้เร็ว ยังพบ 50-60% มีอาการปอดติดเชื้อ และในนี้ 10-20 % เป็นผู้ป่วยอาการหนัก ต้องเข้าไอซียู และบางคนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แม้จะให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์อย่างรวดเร็ว แต่คนไข้ที่มีจำนวนมากก็เอาไม่อยู่ ดังนั้น ผู้ป่วยเดิม มีจำนวนไม่น้อย ที่ยังออกจากโรงพยาบาลไม่ได้

เมื่อคนไข้เก่าขยับไม่ออก คนไข้ใหม่ก็เข้ามาไม่ได้ เกิดปรากฎการคอขวด ขึ้นมาเลยในหลายๆที่ จากนั้น คนที่รอเตียงอยู่ที่บ้าน 40-50% ก็พบมีอาการปอดอักเสบแล้ว เมื่อแอดมิดได้ช้า ทำให้คนไข้มีอาการหนักมาตั้งแต่แรกรับ ต้องเข้าไอซียูมากกว่าเดิม ยาก็ต้องใช้มากกว่าเดิม แต่ตอนนี้ก็ได้รับการเตือนว่า ให้ใช้ฟาร์วิพิราเวียร์ เท่าที่จำเป็น ทำให้เกิดความกังวลว่ายาจะไม่พอ

โรงพยาบาลก็เกิดปรากฎการณ์ป้อมแตก เจ้าหน้าที่ติดเชื้อจากคนไข้ จากบ้าน จากสถานที่ชุมชน บุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องเข้ารักษา บางส่วนก็กักตัว ทำให้เกิดวงจรที่ไม่ควรเกิดเช่นนี้

เบื้องหลังรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 เจอปัญหา “เตียงไม่พอ”

 

 

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ