ชำแหละ ระบบคัดกรองโควิดพบมีปัญหาทุกขั้นตอน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากกรณีของอาม่า วัย 85 ปี ที่ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตที่บ้าน โดยมีน้องสาว 2 คน ที่ติดโควิด นั่งเฝ้าศพอยู่ และ กรณีของลูกชายที่ขับรถพาพ่อติดเชื้อโควิด-19 ไปส่งโรงพยาบาลโดยไม่รอกระบวนการ เพราะ เห็นว่า พ่ออาการทรุดลง รวมถึง ติดโควิด-19 อีกหลายร้อยคน ที่ยังไม่มีเตียงรักษา สถานการณ์ตอนนี้สะท้อนว่า ปัญหาจำนวน “เตียงรักษา” ไม่เพียงพอ สอดคล้องกับ ศบค. ที่ยอมรับว่า เตียงไอซียูในกทม.เพียงพออีกแค่ 8 วัน ตอนนี้เข้าข่ายสถานการณ์วิกฤตแล้ว

เช็ก 36 จังหวัด ออกคำสั่ง ให้ประชาชนสวมหน้ากาก ก่อนออกจากบ้าน

หดหู่!ติดโควิดยกครัว ทิ้ง 3 อาม่าติดเชื้อในบ้าน จนคนนึงตาย 2 คนเฝ้าศพ 6 ชม.พลังโซเชียลช่วย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ที่ได้รับรายงานว่า ในกทม. เหลือเตียงไอซียูที่พร้อมรองรับผู้ติดเชื้อโควิด อีก 69 เตียง เช่นเดียวกับ ห้องแยกความดันลบ ที่เหลือว่างอีก 69 เตียง

หากพบผู้ติดเชื้อวันละ 1,500 คน จะทำให้กทม. เหลือเตียงรองรับได้เพียง 6-8 วัน ส่วนภาพรวมทั้งประเทศ จะรับได้อีก 19 วันเท่านั้น

 แต่ก็ยังยืนยันว่าตอนนี้มีการสั่งการให้ กระทรวงสาธารณสุข วางแนวทางการบริหารจัดการหาเตียงเพิ่มแล้ว 3 แนวทาง คือ ขยายเตียงในพื้นที่เดิม ขยายพื้นที่ ไอซียูให้กว้างขึ้น เช่น อาจใช้หอดูแลผู้ป่วยแผนกอื่น รวมถึง อาจต้องวางแผนจัดทำ ไอซียูสนาม ซึ่งประเด็นนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกัน เพราะ การทำไอซียูสนามมีความยุ่งยากมากพอสมควร

ซึ่งภาพรวมผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังรอเตียงรักษา กรมการแพทย์ระบุว่า ตอนนี้มีทั้งหมด 1,423 คนดังนั้นปัญหาใหญ่ตอนนี้ คือ ไม่มีเตียง “สำหรับการรักษาอาการโควิด-19”แม้หลายหน่วยงานภาครัฐจะระบุว่า มีเตียงเพียงพอและกำลังเปิดโรงพยาบาลสนาม และ hospital เพิ่มเติม

แต่ตัวอย่างที่เห็นตอนนี้ คือ กลุ่มอาการหนักจำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล ไม่สามารถเข้ากักตัวที่ โรงพยาบาลสนาม หรือ hospitel ได้ซึ่งสถานการณ์เตียงรักษาที่โรงพยาบาล พบว่ามีจำนวนจำกัด ตัวเลขกลุ่มที่หายป่วยออกจากโรงพยาบาล กับ จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการเตียงไม่สัมพันธ์กัน ทำให้เตียงไม่พอ 

ตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กำหนดการจำแนกออกเป็น 3 สี คือ สีแดง อาการรุนแรง “หอบเหนื่อย” หายใจลำบาก เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวมกลุ่มนี้ต้องไปรับส่งโรงพยาบาลทันที

 สีเหลือง เริ่มมีอาการ “เหนื่อยหอบ” มีโรคประจำตัว และ ภาวะอ้วนเกิน 90 กิโลกรัม กลุ่มนี้ก็ต้องจัดหาเตียงโรงพยาบาลให้

ขณะที่ สีเขียว ไม่แสดงอาการ หรือ อาการไม่รุนแรง มีแค่ไข้วัด เป็นผื่น เล็กน้อง กลุ่มนี้ส่งไปกักตัวที่โรงพยาบาลสนาม หรือ hospitel หมายความว่า สีแดง และ สีเหลือง ต้องรักษาที่โรงพยาบาล แต่เตียงในโรงพยาบาลตอนนี้ มีจำกัด

ข้อมูลจากแหล่งข่าวด้านสาธารณสุข ระบุว่า สถานการณ์ของผู้ป่วยที่รอเตียงรักษา ตอนนี้กลุ่มสีเขียวที่ไม่แสดงอาการ กลายเป็นสีเหลือง คือ เริ่มแสดงอาการ  และกลุ่มสีเหลือง ก็พัฒนาเป็นสีแดง คือ อาการรุนแรงมากขึ้น

ขณะที่ แหล่งข่าวด่านหน้าที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลหลายคน พูดตรงกันว่า ตอนนี้เริ่มมีคนไข้ที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าติดเชื้อโควิด-19 ออกจากบ้านไปหาหมอ โดยแจ้งอาการว่า เป็นไข้หวัด ไม่บอกว่าติดเชื้อโควิด-19 ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อไปด้วย รวมถึงจำนวนมากกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง

ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อโควิดไปแล้ว 146 คน ในจำนวนนี้ 33 คน เกิดจากให้บริการคนไข้ที่ปกปิดข้อมูล ซึ่งตัวเลขนี้เป็นข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขเก็บบันทึกไว้ อัพเดตล่าสุดถึงแค่วันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา

แหล่งข่าวยังบอกอีกว่า ปัญหานี้ เกิดขึ้นเพราะ ผู้ป่วยคิดและหวังไปเองว่า หากมาตรวจซ้ำที่โรงพยาบาลจะได้เตียงรักษา  แต่ในความจริงแล้วจะทำให้ระบบการจัดการช้าลงทั้งระบบ เพราะ บุคลากรทางการแพทย์ ลดจำนวนลง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทำให้ภาพรวมการแก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้ประสิทธิภาพ

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ