ไทยอยู่ตรงไหน? เมื่อโลกฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 1 พันล้านโดส


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สำรวจความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย พบฉีดมากเป็นอันดับที่ 56 ของโลก แต่เมื่อเทียบจำนวนประชากรแล้วถือว่าน้อย

สหรัฐฯพร้อมแบ่งวัคซีนแอสตราฯให้ชาติอื่น

วิกฤตโควิดอินเดีย โรงงานวัคซีนโลกล่มสลาย ขาดสารตั้งต้น-วัตถุดิบ

“วัคซีนโควิด-19” ถือเป็นทางรอดสำคัญที่จะทำให้หลายประเทศสามารถกลับมาเปิดประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ด้วยจำนวนที่ยังจำกัด ก็ทำให้หลายพื้นที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 1,051 ล้านโดส มีประชากรได้รับวัคซีนแล้วมากกว่า 556 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 7.16 ของประชากรทั้งโลก

ณ วันที่ 26 เม.ย. ประเทศไทยมีจำนวนโดสการฉีดวัคซีนโควิด-19 อยู่ที่ราว 1,150,000 โดส สูงเป็นอันดับ 56 ของโลก

มีประชากรในไทยได้รับวัคซีนแล้วกว่า 972,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.39 ของประชากรทั้งประเทศ

คำถามสำคัญคือ “แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหนแล้วในการฉีดวัคซีนโควิด-19”

เมื่อลองมองไปยังประเทศที่โดดเด่นเรื่องการฉีดวัคซีน พบว่า สหรัฐอเมริกา ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปสูงที่สุด ราว 228.66 ล้านโดส ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 141.43 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 41.46 ของประชากรทั้งประเทศ

อินเดีย ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดอย่างหนักหน่วง ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 139 ล้านโดส ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 119.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 8.66 ของประชากรทั้งประเทศ

สหราชอาณาจักร ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 46.65 ล้านโดส ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 33.88 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 49.92 ของประชากรทั้งประเทศ

บราซิล ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 38 ล้านโดส ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 27.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12.84 ของประชากรทั้งประเทศ

ส่วน อิสราเอล ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 10.4 ล้านโดส ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 5.6 ล้านคน แม้จะดูน้อย แต่เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ คิดเป็นร้อยละ 62.12 หรือเกินครึ่งประเทศเข้าไปแล้ว ถือว่าสัดส่วนสูงที่สุดในโลกหากไม่นับประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ ที่มีประชาชนเพียงหลักแสน

ดังนั้น หากเทียบกับต่างประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนโดสการฉีดวัคซีนอยู่ในอันดับที่ 56 ของโลก แต่หากมองที่สัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีน ประเทศไทยกลับรั้งอยู่ในอันดับต่ำกว่า 100 เลยทีเดียว

แน่นอนว่าถ้ามองเฉพาะจำนวนโดสการฉีดวัคซีนแล้ว นับว่าไทยไม่ได้ด้อยไปกว่านานาประเทศสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ประชากรของประเทศไทยมีอยู่ 69-70 ล้านคน จำนวนโดสการฉีด 1 ล้านก็กลายเป็นว่าไม่ได้มากมายเท่าใดนัก

และเมื่อเทียบเฉพาะประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน พบว่า อินโดนีเซีย มีจำนวนโดสการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูงสุด ที่ราว 18.5 ล้านโดส ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 11.88 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 4.34 ของประชากรทั้งประเทศ

สิงคโปร์ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 2.2 ล้านโดส ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 1.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26 ของประชากรทั้งประเทศ

กัมพูชา ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 2 ล้านโดส ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 1.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 7.79 ของประชากรทั้งประเทศ

ฟิลิปปินส์ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 1.75 ล้านโดส ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 1.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 1.46 ของประชากรทั้งประเทศ

เมียนมา ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 1.36 ล้านโดส ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 1.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 2.39 ของประชากรทั้งประเทศ

มาเลเซีย ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 1.3 ล้านโดส ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 817,000 คน คิดเป็นร้อยละ 2.52 ของประชากรทั้งประเทศ

เวียดนาม ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 209,000 ได้รับวัคซีนแล้วกว่า โดส 212,000 คน คิดเป็นร้อยละ 0.22 ของประชากรทั้งประเทศ

ลาว ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 183,000 โดส ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 128,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1.77 ของประชากรทั้งประเทศ

บรูไน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 2,300 โดส ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 2,300 คน คิดเป็นร้อยละ 0.55 ของประชากรทั้งประเทศ

นั่นหมายความว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 7 จาก 10 ประเทศ ในแง่ของจำนวนโดสวัคซีนที่ฉีดไปแล้ว และอยู่ในอันดับที่ 7 เช่นกันหากพิจารณาที่สัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีน สูงกว่าเพียงเวียดนาม ลาว และบรูไนเท่านั้น

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า ประเทศไทยต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรในประเทศจากเดิม 70 ล้านโดสเพิ่มเป้าหมายเป็น 100 ล้านโดส ขณะนี้มีวัคซีนแล้วประมาณ 65 ล้านโดส ต้องจัดหาเพิ่มอีก 35 ล้านโดส ซึ่งมี 3 แนวทาง ดังนี้

ให้ทางภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรมเจรจาเพิ่มเติม ซึ่งมีความก้าวหน้าหลายบริษัท

ทางภาคเอกชน โดยหอการค้ายินดีบริจาคเงินให้รัฐบาลไปซื้อ และฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย คือ พนักงานในโรงงาน 10 ล้านโดส

รพ.เอกชน จะขอจัดซื้อเอง โดยจะฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เช่น คนที่มีโรคประจำตัวที่ไปรักษาที่รพ.เอกชน เป็นต้น

โดยทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้แนวปฏิบัติเดียวกัน ได้แก่ ต้องมีการดูแลเรื่องความปลอดภัยตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนด ต้องมีระบบรายงานที่เชื่อมต่อกัน ต้องทีระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการฉัดวัคซีน

สำหรับในช่วงที่มีวัคซีนโควิด-19 จำกัดนี้ ประเทศไทยมีกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนหลัก ๆ 5 กลุ่ม ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

“บิ๊กตู่” ตั้งเป้า ฉีดวัคซีนโควิด 30 ล้านคนใน 3 เดือน

12 ฟังก์ชัน "หมอพร้อม V.2" เปิดให้ประชาชนจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19

เรียบเรียงจาก CovidvaxOur World in Data

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ