เปิดเส้นทาง “ลำเลียง” วัคซีนป้องกันโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากกรณีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยวัคซีนเอาออกมาแล้วต้องฉีดให้หมด เก็บไว้ไม่ได้ ทีมข่าวพบว่า วัคซีนที่เก็บไม่ได้ คือ แอสตราเซนเนกา ขณะที่ ซิโนแวค เก็บรักษาง่ายกว่า แต่การเก็บจะต้องรักษาอุณหภูมิให้คงที่ตามมาตรฐาน

นายกฯหวั่นชุลมุน ยังไม่ให้วอล์กอิน

ด.ต.ร่อนหนังสือถึง ผกก.ขอไม่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 หลังภรรยาฉีดแล้วมีผลข้างเคียง

ขั้นตอนการเก็บรักษาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะต้องรักษาอุณหภูมิวัคซีนให้อยู่ที่ 2-8 องศาเซลเซียส จากต้นทางที่คลังเก็บวัคซีน จะถูกส่งต่อโดยรถขนส่ง ที่รักษาอุณหภูมิวัคซีนให้อยู่ที่ 2-8 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกัน (โดยวัคซีน 2 ชนิดที่ไทยมีจะต้องรักษาที่อุณหภูมิ นี้ แต่หากเป็นตัวอื่นก็จะต้องรักษาในอุณหภูมิที่ต่างออกไป)

เมื่อไปถึงปลายทาง จุดฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่จะนำกล่องวัคซีน ไปแช่ตู้เก็บรักษาอุณหภูมิไว้ ส่งวัคซีนที่จะนำไปฉีด จะถูกหยิบใส่กล่องเก็บความเย็น (สีฟ้า) ภายในมีเจลทำความเย็นช่วยรักษาอุณหภูมิ

จากนั้นเจ้าหน้าที่แต่ละโต๊ะที่ให้บริการฉีดวัคซีน จะหยิบวัคซีนออกเป็นขวด ๆ ไปใส่ในถังเล็ก(คล้ายกระติก)ที่ด้านในอัดน้ำแข็งเพื่อรักษาอุณหภูมิวัคซีน  ก่อนที่เมื่อมีคนมาฉีดก็จะหยิบขึ้นมาฉีดตามขั้นตอน 

ข้อมูลนี้ทีมข่าวได้รับจาก นายธนานันต์ สุวรรณโพธิ์รุ่ง ผู้จัดการทั่วไป บริษัทธนวรรณ เครื่องเย็น จำกัด หนึ่งในบริษัทที่ให้บริการตู้แช่วัคซีน ซึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคอล เปิดเผยว่า ขั้นตอนการเก็บรักษาวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องรักษาอุณหภูมิ โดยทุกขั้นตอนจะมี ระบบไอโอที คอยตรวจเช็กอุณหภูมิ และรายงานกลับไปยังต้นทางแบบเรียลไทม์ ทุก ๆ 5 นาที ส่วนที่จุดฉีดวัคซีน เมื่อนำวัคซีนออกมาใส่กล่องเก็บความเย็น(สีฟ้า) จะต้องใช้เวลาฉีดวัคซีนให้หมดภายใน 4-5 ชั่วโมง เพราะแผ่นคูลเจลจะรักษาอุณหภูมิได้ในช่วงเวลานั้น ยกเว้นจะนำวัคซีนที่เหลือกลับไปใส่ตู้เย็น ก็จะเก็บวัคซีนได้ต่อไป

ส่วนกรณีที่มีข้อสงสัย ว่า หากนำวัคซีนออกจากคลังต้องฉีดให้หมด ห้ามนำกลับไปเก็บไว้ นายธนานันต์ ระบุว่า วัคซีนซิโนแวค 1 ขวด จะบรรจุ 1 โดส คือ ฉีดได้แค่ 1 คน หากประเมินว่าวัคซีนในแต่ละวันเหลือ สามารถนำไปใส่ตู้เย็นเพื่อรักษาตามอุณหภูมิที่กำหนดไว้ได้  ส่วน วัคซีนแอสตราเซนเนกา 1 ขวด จะบรรจุ 10-12 โดส คือ จะฉีดได้ 10-12 คน  กรณีนี้หากเปิดขวดวัคซีนแล้ว ต้องฉีดให้หมด หากฉีดไม่หมดจะไม่มีการนำกลับมาใช้ใหม่ในวันถัดไป

 

โดยสอดคล้องกับข้อมูลของ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า โดยหลักการของวัคซีนทุกชนิดหลังผลิตออกมาจากโรงงานแล้ว สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของระบบลูกโซ่ความเย็น วัคซีนจะต้องอยู่ในอุณหภูมิที่ถูกต้องและเหมาะสมตลอดเวลา ทั้งการจัดเก็บ การขนส่งจนถึงสถานพยาบาล รวมถึงขั้นตอนในการฉีดให้กับคนไข้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสุงสุด

ขณะที่ภาพรวมวัคซีนในปัจจุบัน มีข้อมูลว่า องค์การเภสัชกรรม กระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั้งหมดแล้ว มีอยู่ที่ กรมควบคุมโรคที่เก็บไว้ในกรณีฉุกเฉินส่วนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก ส่วนที่เพิ่งได้รับมอบวัคซีนซิโนแวค จากจีน 5 แสนโดส เมื่อ 14 พ.ค. ตามข่าวระบุว่า น่าจะกระจายหมดในสัปดาห์นี้ ส่วนแผนการนำเข้าวัคซีนหลังจากนี้ ที่แน่นอน คือ จะมีซิโนแวคเข้ามา 1.5 ล้านโดส ปลายเดือนพฤษภาคม  ส่วน แอสตราซิเนกาของบริษัทสยามไบโอไซเอนท์ เดือนมิถุนายน จะส่งมอบวัคซีนให้ 6 ล้านโดส ถัดจากนั้นก็จะส่งมอบต่อเนื่องจนถึงปลายปี

 

 

แต่หลัก ๆ ในเดือนมิถุนายน จะเป็นการฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ และ ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคเสี่ยง ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม

ส่วนแผนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งภาพรวม ปัจจุบัน ตามข่าวของกทม. ที่ นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร แถลงเมื่อวานนี้(18พ.ค.) พบว่า กทม. ได้รับจัดสรรวัคซีนตั้งแต่ มีนาคม จนถึงปัจจุบัน รวม 557,600 โดส  มีผู้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 473,691 โดส หมายความว่า ณ ตอนนี้ เหลือวัคซีนในมือกทม. 83,909 โดส

 

ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า มิถุนายนนี้ กทม.จะได้วัคซีนแอสตราเซเนกา 2 ล้าน 5 แสนโดส เบื้องต้นทำแผนการกระจายวัคซีนแบ่งเป็น ฉีดให้กับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม 5 แสน โดส ให้กับกลุ่มองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน 3 แสนโดส โรงพยาบาลในกทม. 126 แห่ง จำนวน 4 แสน โดส และที่เหลืออีก 1 ล้าน 3 แสน โดส จะฉีดให้กับกลุ่มอาชีพเสี่ยง สำหรับการฉีดวัคซีนนอกสถานที่ 25 จุด ของกรุงเทพมหานคร

พล.ต.อ.อัศวิน มั่นใจว่า มิถุนายน จะฉีดวัคซีนให้คนกทม. ครบ 2 ล้าน 5 แสนโดส ส่วน กรกฎาคม ก็จะฉีดวัคซีนอีก 2, ล้าน 5 แสน โดส  เพื่อให้ครบตามจำนวน  5 ล้านโดส ตามที่ตั้งเป้าไว้

ส่วนช่องทางการเปิด web based เพื่อจองคิวฉีดวัคซีน ที่กทม.กำลัจัดทำระบบขึ้น ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง  โฆษกกทม. ยืนยันว่า ระบบจะไม่ ซ้ำซ้อนกับ หมอพร้อม เพราะ 2 ระบบจะเชื่อมโยงกัน มั่นใจว่ากลุ่มที่ไม่สามารถลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟนได้ จะได้รับความสะดวกมากขึ้น เพราะ ระบบที่ทำสามารถลงทะเบียนตามร้านสะดวกซื้อได้  เพียงแค่ยื่นบัตรประชาชน

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ