อนามัยโลกเปลี่ยนชื่อสายพันธุ์โควิด-19 ลดปัญหาการตีตรา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




WHO ได้ประกาศให้เปลี่ยนชื่อวิธีเรียกสายพันธุ์โควิด-19 โดยจะใช้อักษรกรีก แทนการเรียกชื่อสายพันธุ์ด้วยชื่อประเทศหรือสถานที่

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เปลี่ยนชื่อวิธีเรียกสายพันธุ์โควิด-19 โดยจะใช้อักษรกรีก (Greek Alphabet) แทนการเรียกชื่อสายพันธุ์ด้วยชื่อประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการตีตราประเทศต่าง ๆ ว่าเป็นต้นกำเนิดของโควิด-19 สายพันธุ์นั้น ๆ

WHO กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อเรียกนี้ไม่เกี่ยวกับชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ ซึ่งเดิมให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ และจะยังคงใช้ในการวิจัยต่อไป ชื่อวิทยาศาสตร์ เช่น โควิด-19 B.1.1.7 เป็นต้น

พบโควิดสายพันธุ์อินเดีย ลามไปอุดรธานี เจอแล้ว 4 ราย กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มอีก

เวียดนามพบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “ลูกผสมสายพันธุ์อินเดียและอังกฤษ”

หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาฯ ระบุ ไม่ควรเรียก "โควิดสายพันธุ์ไทย" เพราะยังไม่ระบาดในท้องถิ่น

“ชื่อทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้อาจพูดและจำได้ยาก และมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการรายงานผิด … ด้วยเหตุนี้ ผู้คนมักหันไปเรียกตามสถานที่ที่ตรวจพบเชื้อ ซึ่งกลับกลายเป็นการตีตรา เลือกปฏิบัติ หรือดูถูกประเทศนั้น” WHO ระบุ

ทางการอินเดียเพิ่งออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการเรียกเชื้อโควิด-19 B.1.167.2 ว่า “สายพันธุ์อินเดีย”

WHO ยืนยันว่า ที่ผ่านมาไม่เคยเรียกสายพันธุ์ต่าง ๆ ด้วยชื่อประเทศหรือพื้นที่ที่พบเชื้อ แต่เป็นการเรียกของสื่อเพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารและจดจำ “แต่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการตีตราและทำให้การสื่อสารสาธารณะง่ายขึ้น WHO สนับสนุนให้หน่วยงานระดับชาติ สื่อ และองค์กรต่าง ๆ นำวิธีเรียกสายพันธุ์โควิด-19 แบบใหม่มาใช้”

ปัจจุบัน มีโควิด-19 อยู่ 10 สายพันธุ์ที่ถูกตั้งชื่อกรีกให้เพื่อใช้เรียกแทนชื่อเดิมที่มักเป็นชื่อสถานที่ ดังนี้

สายพันธุ์ที่ต้องกังวล (Variants of Concern; VOC) 4 สายพันธุ์

  • สายพันธุ์ B.1.1.7 เดิมเรียก “สายพันธุ์อังกฤษ/สายพันธุ์เคนต์” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha)”
  • สายพันธุ์ B.1.351 เดิมเรียก “สายพันธุ์แอฟริกาใต้” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์เบต้า (Beta)”
  • สายพันธุ์ P.1 เดิมเรียก “สายพันธุ์บราซิล” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์แกมม่า (Gamma)”
  • สายพันธุ์ B.1.617.2  เดิมเรียก “สายพันธุ์อินเดีย” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์เดลต้า (Delta)”

สายพันธุ์ที่ต้องสนใจ (Variants of Interest; VOI)

  • สายพันธุ์ B.1.427/B.1.429 เดิมเรียก “สายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์เอปซิลอน (Epsilon)”
  • สายพันธุ์ P.2 เดิมเรียก “สายพันธุ์บราซิล” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์ซีต้า (Zeta)”
  • สายพันธุ์ B.1.525 เดิมไม่มีการเรียกชื่อสายพันธุ์ตามสถานที่ กำหนดให้เรียกเป็น “สายพันธุ์อีต้า (Eta)”
  • สายพันธุ์ P.3 เดิมเรียก “สายพันธุ์ฟิลิปปินส์” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์เธต้า (Theta)”
  • สายพันธุ์ B.1.526 เดิมเรียก “สายพันธุ์นิวยอร์ก”  เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์ไอโอต้า (Iota)”
  • สายพันธุ์ B.1.617.1 เดิมเรียก “สายพันธุ์อินเดีย” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์แคปป้า (Kappa)”

ในอดีต โรคต่าง ๆ มักถูกตั้งชื่อตามสถานที่ที่เกิดขึ้นหรือระบาด เช่น ไวรัสอีโบลา ใช้ชื่อมาจากแม่น้ำในคองโก อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายให้กับสถานที่เหล่านั้นเพราะมักไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับกรณี “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ในปี 1918 ซึ่งไม่ความจริงแล้วทราบที่มาว่ามาจากสเปนหรือมาจากที่อื่นกันแน่

ไม่เพียงแต่อินเดียที่ไม่พอใจกับการเรียกโควิด-19 B.1.617.1 และ B.1.167.2 ว่า “สายพันธุ์อินเดีย” ยังมีจีนที่ไม่พอใจตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกโควิด-19 ว่าเป็น “ไวรัสจีน” หรือ “ไวรัสอู่ฮั่น”

แม้แต่ประเทศไทยเองก็เพิ่งมีข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีสื่อต่างชาติเรียกโควิด-19 C.36.3 ว่าเป็น “สายพันธุ์ไทย” ก็มีการแสดงความกังวลและไม่สบายใจกับการเรียกขานดังกล่าวเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ WHO จึงเห็นชอบในการเปลี่ยนวิธีการเรียกโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ เสียใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการตีตรานี้ และขอให้ทั่วโลกใช้ในแบบเดียวกัน

มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ นักระบาดวิทยาของ WHO กล่าวว่า การใช้ชื่อเรียกสายพันธุ์แบบใหม่ “จะทำให้ไม่มีประเทศใดถูกตราหน้าว่าเป็นต้นตอการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์นั้น ๆ”

เรียบเรียงจาก BBC / The Guardian / WHO

ภาพจาก Shutterstock

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ