ดราม่า คลัสเตอร์ห้างฯ ย่านลาดพร้าวติดโควิด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาทันที เมื่อวานนี้ เมื่อ ศบค.แถลงว่า พบห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว มีการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ใหม่ 23 คน ทีนี้ก็เกิดความวุ่นวายขึ้นมา เพราะทุกคนอยากรู้ว่า คือห้างอะไรกันแน่ เนื่องจากมีห้างสรรพสินค้าดังหลายห้างในย่านนี้ โดยเฉพาะเซ็นทรัล ลาดพร้าว ที่มีผู้เดินทางไปจำนวนมาก

หลังจาก พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ได้แถลงข่าวการติดเชื้อในห้างสรรพสินค้า ย่านลาดพร้าวดังกล่าว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เป็นห้างใดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเช่นนี้

ช่วงบ่ายถึงเย็นเมื่อวาน นักข่าวก็ไปถามทาง กทม. ก็ยังไม่มีคำตอบว่าเป็นห้างไหน มีแต่บอกว่า “การเปิดเผยข้อมูล สถานที่ และผู้ติดเชื้อ ศบค.จะเป็นผู้เปิดเผยข้อมูล” 

จากนั้น ก็ยังไม่มีคำตอบจาก ศบค. กทม. หรือภาครัฐอื่นใด แต่กลับปรากฎว่า แต่ละห้างสรรพสินค้า ต้องออกประกาศของตัวเอง เพื่อบอกว่า ไม่ใช่ห้างของตนเอง

ตกลงห้างไหน! ประชาชนตื่น ศบค.เปิดคลัสเตอร์ใหม่ ห้างเขตลาดพร้าว เซ็นทรัลแจงไม่ใช่จุดแพร่ระบาดโควิด

เปิดปัจจัย ทำตลาดบางแค เป็นคลัสเตอร์ใหม่

เริ่มตั้งแต่ ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ที่ชี้แจงว่า “สถานที่ดังกล่าว ไม่ใช่เซ็นทรัล ลาดพร้าว แต่อย่างใด” ตามด้วย ศูนย์การค้ายูเนี่ยน มอลล์ ก็บอกว่า “ศูนย์การค้าฯ อยู่ในเขตจตุจักร ไม่ใช่ เขตลาดพร้าว และศูนย์การค้าเพิ่งเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมนี้เอง หลังพักให้บริการไป 15 วัน ดำเนินการด้านความปลอดภัยและความสะอวด

จากนั้น ก็เป็น ศูนย์การค้าอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว โลตัส สาขาลาดพร้าว และโลตัส สาขาเลียบด่วนรามอินทรา และบิ๊กซี ขอชี้แจงว่า “ไม่ใช่บิ๊กซี สาขาลาดพร้าว” แต่อย่างใด

ด้าน นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุในการ รายงานสถานการณ์โควิด 19 วันนี้ ว่า ข้อมูลจากการประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จะรายงานคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง อย่างละเอียดไม่ปิดบังพื้นที่ และมีการใส่ชื่อเฉพาะแล้ว หลังสื่อมวลชนสะท้อนปัญหาการใช้คำว่าสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งขออนุญาตไม่เอ่ยนามที่ปรากฎในตาราง และขอส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการและเขตต่างๆ ร่วมมือกันเฝ้าระวัง

นายแพทย์ ทวีศิลป์  ยังระบุอีกว่า เชื้อโควิด 19 ไม่ได้ฝังตัวกับสถานที่ แต่เชื้อโรคอยู่กับตัวบุคคล ถ้าตัวบุคคลย้ายจากสถานที่หนึ่ง ไปสถานที่หนึ่ง ก็จะเป็นเหตุการแพร่ระบาดของโรค แต่สถานที่ที่หน่วยงานรายการจะบ่งบอกถึงการชุกชุมของคนที่ตรวจพบเชื้อซึ่งไม่ได้หมายถึง ว่าสถานที่นั้นไม่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพบแล้วว่า ห้างสรรพสินค้าใด มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 เรายังจะไปห้างนี้ได้ไหม ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ลักษณะการติดเชื้อในห้างนี้เป็นแบบไหน ทีมข่าวได้โทรสอบถามไปที่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

นพ.ธีระวัฒน์ บอกกับทีมข่าวว่า กรณีการติดเชื้อในห้างฯ นี้ โอกาสการแพร่เชื้อ จะอยู่ที่จุดเดียวกันในพื้นที่แออัด หรือ ตรงจุดที่พนักงานในห้างที่สัมผัสโดยตรงกับลูกค้า ได้แก่ พนักงานเก็บเงิน ถ้าเป็นผู้ติดเชื้อ ก็มีโอกาสแพร่เชื้อให้ลูกค้าได้

แต่หากต้องไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าที่พบผู้ติดเชื้อ ก็ยังไปได้ แต่ควรปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดและป้องกันตัวเองสูงสุด เพราะในบางสถานการณ์การแพร่เชื้ออาจไม่ได้มาจากพนักงานในห้างฯ แต่อาจมาจากผู้ติดเชื้อรายอื่น ที่ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อเข้าไปใช้บริการในห้างฯ ก็อาจเกิดความเสี่ยงติดเชื้อจากผู้นั้นได้

นพ.ธีระวัฒน์ ยังเน้นย้ำว่า หากมีการสัมผัสกันโดยตรงเปอร์เซ็นต์การแพร่เชื้อนั้นค่อนข้างสูง ทางที่ดีร้านค้าควรรีบทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และกักตัวพนักงานที่มีความเสี่ยงสูง จากนั้นก็สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ หรือจะปิดห้างสรรพสินค้าทั้งหมดเพื่อพ่นฆ่าเชื้อไปก่อน ก็สามารถทำได้ โอกาสติดเชื้อก็จะลดลง

ส่วนการแพร่เชื้อผ่านเครื่องปรับอากาศโอกาสติดเชื้อมีน้อยมาก เพราะห้างมีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ