เจาะลึก "ผลข้างเคียงแอสตร้าเซเนก้า" เมื่อวัยทำงาน ไข้ขึ้น อ่อนเพลีย มากกว่าผู้สูงอายุ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เจาะลึก "ผลข้างเคียงแอสตร้าเซเนก้า" เมื่อวัยทำงาน ไข้ขึ้น อ่อนเพลีย มากกว่าผู้สูงอายุ เป็นเพราะสาเหตุอะไรและมีวิธีรับมืออย่างไร ระดับไหนถึงต้องรีบพบแพทย์

หลังจากมีการระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ รวมถึง กทม. มีผู้ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าจำนวนมาก ซึ่งอยู่ในวัยทำงาน(อายุ 18-59 ปี ) เกิดผลข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย ไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ ฯลฯ

พีพีทีวี นิวมีเดีย ต่อสายคุยกับ นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ผอ.อาวุโสด้านการสื่อสาร โรงพยาบาลกรุงเทพ แบบเจาะลึก ถึงที่มาของอาการเหล่านี้ และควรรับมืออย่างไร รวมถึงผลข้างเคียงระดับไหนถึงต้องรีบพบแพทย์ นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่น่าสนใจ

รวมคำถาม-ตอบ ข้อสงสัย การปฏิบัติตัว ข้อห้าม ทั้งก่อนและหลัง ฉีดวัคซีนโควิด-19

เทียบชัดวัคซีนโควิด-19 2 ยี่ห้อ ซิโนแวค และ แอสตร้าเซเนก้า

ระยะห่างของการให้วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) กับการกระตุ้นภูมิ

คนวัยทำงานมีอาการข้างเคียงมากกว่าผู้สูงอายุ คำถามพื้นฐานที่หลายคนสงสัย

นพ.พงศกร บอกว่า หลักการฉีดวัคซีน คือ เอาสิ่งแปลกปลอมที่ไม่เป็นอันตรายแล้ว เช่น เชื้อตาย ชิ้นส่วนบางชิ้นของไวรัส หรือ เชื้อโรคฉีดเข้ามาในร่างกาย พอระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจับได้ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน ต่อไปหากเชื้อโรคหน้าตาแบบนี้เข้ามาอีกเราก็จะไม่ป่วย

ซึ่งในวัยหนุ่มสาว อายุน้อย  พลังยังล้นเหลือ ร่างกายแข็งแรง มีระบบร่างกายที่ดี ทำงานเร็ว แรง พอวัคซีนเข้ามาก็ไปกระตุ้นร่างกายให้ต่อสู้ ได้ เยอะกว่า ผู้สูงอายุที่ภูมิคุ้มกันจะทำงานช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป

เทียบผลข้างเคียงทั่วไป 2 วัคซีน "ซิโนแวคอาการน้อยกว่าแอสตร้าเซเนก้า"

เวลาระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองแล้ว บางคนไม่ใช่แค่ไข้ บางคนมีผื่น ท้องเสีย บางคนร่างกายใช้เมตาบอลิซึมสูง เผาผลาญสูง หิวบ่อย บางคนเพลีย นอนหลับ ซึ่งขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสุขภาพพื้นฐานของแต่ละคน

ไม่มีไข้ ไม่มีอาการ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน

นพ.พงศกร อธิบายว่า หลายคนเข้าใจไม่ถูกต้องว่า มีไข้ภูมิคุ้มกันดี ไม่มีไข้ไม่มีภูมิคุ้มกัน เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปแล้วโดยหลักการภูมิจะเกิดขึ้นแน่ๆ ไม่ว่าวัยสูงอายุหรืออายุน้อยจะเกิดภูมิคุ้มกันแน่นอน แต่ด้วยกลไกการเกิดแตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานสุขภาพร่างกายของแต่ละคน  ดังนั้น บางคนที่ อายุน้อยแต่ไม่มีไข้ ก็เท่ากับว่า ร่างกายสามารถจัดการกับสิ่งแปลกปลอมได้อย่างค่อยเป็น ค่อยไป

เตรียมตัวรับมืออาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 

เมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว สามารถใช้ชีวิตปกติได้ แต่ถ้า รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้รุมๆ อ่อนๆ สามารถทานยาลดไข้ไว้ก่อนได้เลย เช่น พาราเซตามอล (หากใครแพ้ยาพาราเซตามอล แนะนำให้ทานยากลุ่มไอบูโพรเฟน เพราะจะเห็นผลเร็วกว่า ไม่แนะนำให้ใช้แอสไพริน) ถ้ารู้สึก มวนๆท้อง ถ่ายท้อง ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ได้

อาการที่ควรไปพบแพทย์

อาการข้างเคียงที่ควรไปพบแพทย์ คือ ปวดศีระษะรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เมื่อทานยาลดไข้ก็ไม่หายหรือรู้สึกปวดขึ้นเรื่อยๆ หรือมีอาการทางระบบหายใจ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีผื่นขึ้นทั้งตัว ทั้งคันและไม่คัน แผลกว้างเต็มแขน ขา หรือ แขนบวม ขาบวม ตาพร่ามัว อาเจียน ให้รีบพบแพทย์

โดยรวมแล้วอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่ถ้าเกิดอาการจะเกิดขึ้นเร็วใน 30 นาทีแรก  หลังจากนั้นให้สังเกตอาการอีก 24-48  ชั่วโมง หากไม่มีอะไรน่ากังวล ไม่มีความผิดปกติก็สามารถใช้ชีวิตปกติ

ส่วนใหญ่อาการ เพลีย  มีไข้รุมๆ อ่อนๆ  จะหายภายใน 1-2 วัน ระหว่างนั้นก็ดื่มน้ำเยอะๆ  พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าทำอะไรหักโหม ผลข้างเคียงวัคซีนจากทั้งในและต่างประเทศ  ไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดทุพลภาพถาวร อาการรุนแรง ส่วนใหญ่จะหายได้เอง 24-48 ชั่วโมง ยกเว้นลิ่มเลือดอุดตันในปอดซึ่งโอกาสน้อยมากๆ

ความต่างระหว่างได้รับเข็มหนึ่งกับเข็มสอง คือ

มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงเช่นเดียวกัน  บางคนเข็มสองเป็นเยอะกว่า หรือ เข็มสองสบายกว่าก็มี เนื่องจากว่าร่างกายได้รับวัคซีนกระตุ้นร่างกายไปแล้วหนึ่งครั้ง เข็มสองจึงก็เหมือนไปกระตุ้นให้ระดมผลให้สร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้นกว่าเดิม ให้ร่างกายจำเชื้อเหล่านี้ให้แม่นยำกว่าเดิม ปฏิกิริยาก็คล้ายๆ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน สร้างเซลล์ต่างๆ มาเพื่อสร้างระบบป้องกันโรค

เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แต่ ย้ำ คือ "ไม่ได้เกิดกับทุกคน และแต่ละคนจะเป็นมากเป็นน้อยแล้วแต่ ไม่สามารถบอกได้ว่าครั้งที่สองจะมากหรือน้อยกว่า"

นัดฉีดเข็มสองห่างจากเข็มแรก 16 สัปดาห์ได้หรือไม่

ตามหลักการแล้วสามารถ บวก-ลบ ได้ อย่างวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าตัวเลขตามการประเมินคือ  8-12 สัปดาห์ แต่อาจจะถึง 16 สัปดาห์ได้ ในกรณีที่วัคซีนขาดแคลน สามารถเลื่อนไปได้ เพราะ 8-12 สัปดาห์  เป็นตัวเลขประมาณการณ์ที่เกิดจากการวิจัยทางการแพทย์เท่านั้น

ระยะห่างของการให้วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) กับการกระตุ้นภูมิ

แอสตร้าเซเนก้า มีอาการข้างเคียงมากกว่า ซิโนแวค

ตรงนี้ต้องไปทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการผลิตวัคซีน หากอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ แอสตร้าเซเนก้า เอาเวกเตอร์ไวรัสชิ้นส่วนไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีชีวิตแต่ไม่เป็นอันตราย ฝากเข้าไปกับอะดีโนไวรัส และก็ฉีดเข้ามา ส่วนวัคซีนของ ซิโนแวค เป็นเชื้อตาย แต่ทั้งสองชนิดคือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย ดังนั้นตามหลักทางการแพทย์ซิโนแวคเป็นเชื้อตายแล้ว ก็จะเกิดปฏิกิริยาน้อย แต่แอสตร้าเซเนก้าเป็นชิ้นส่วนของเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่  การต่อสู้กับเชื้อที่มีชีวิตมันก็ต้องรุนแรงกว่าการต่อสู้กับเชื้อตายอยู่แล้ว

วัคซีนตัวอื่น เช่น  ไฟเซอร์ โมเดอร์นา มีโอกาสเกิดเช่นเดียวกับ แอสตร้าเซเนก้า

เนื่องจาก ไฟเซอร์ โมเดอร์นา เป็นเทคโนโลยีแบบ  mRNA (เชื้อไวรัสยังมีชีวิตเช่นเดียวกับแอสตร้าเซเนก้า) นพ.พงศกร มองว่ามีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงเช่นเดียวกัน

ไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกัน

เพราะธรรมชาติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย สมมติไปติดโรคสักโรคหนึ่ง ภูมิคุ้มกันก็จะเพิ่มขึ้นมาเพื่อไปต่อสู้กับไวรัสตัวนั้น จนกระทั่งไวรัสตัวนั้นตายหายไปภูมิคุ้มกันก็จะหายไป เหมือนเรียก ระดมพล พอข้าศึกมาก็เรียกระดมพลมาต่อสู้ พอข้าศึกหายไปก็กลับบ้านใครบ้านมัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราตรวจในช่วงที่ร่างกายเราแข็งแรงดี ระดับภูมิในร่างกายอาจจะน้อยลงได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ฉีดวัคซีนตรวจภูมิคุ้มกันมี 10 อีกสัก 6 เดือนอาจจะเหลือ 2-3  แต่ไม่ได้แปลว่าภูมิหายไป

และโดยเฉพาะโควิด-19 เป็นโรคใหม่ วัคซีนแต่ละตัวยังใช้ไม่เกินหนึ่งปี เพราะฉะนั้นตอบไม่ได้เลยว่า ระยะยาวภูมิจะอยู่หรือเปล่า เพราะฉะนั้น การตรวจในระดับคนทั่วไปมองว่าไม่จำเป็น มันมีประโยชน์กับทางการแพทย์ การวิจัย เท่านั้น

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ