เปรียบเทียบระบบจองวัคซีนโควิด-19 แต่ละประเทศ ยากง่ายต่างกันอย่างไร


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นิวมีเดีย พีพีทีวี รวบรวมวิธีจองคิววัคซีนโควิด-19 จากหลากหลายประเทศ ให้เห็นแนวทางการจัดการของแต่ละชาติ

เรื่องของระบบหรือวิธีการจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่อย่างต่อเนื่องในสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องของความไม่พร้อมและความสับสนชวนงงในบางช่องทางการจอง

นิวมีเดีย พีพีทีวี ได้รวบรวมช่องทางการจองวัคซีนโควิด-19 ของแต่ละประเทศว่ามีความยากง่ายในการจองแตกต่างกันอย่างไร แล้วนำมาเปรียบเทียบว่า ประเทศใดมีวิธีการจองที่ชวนสับสนมากที่สุด

เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน ภายใน 1 สัปดาห์ พุ่ง 40 ราย สะสม 68 ชีวิต เทียบอาการแพ้ ซิโนแวค -แอสตร้าเซเนก...

“เพื่อไทย” ชี้ “บิ๊กตู่” เตรียมเปิดประเทศ คนไทยได้วัคซีน มีประสิทธิภาพครบหรือยัง ?

ไม่ถึงเดือนวัคซีนป่วน! ลงทะเบียนสับสน รพ.เลื่อนฉีด เทคนชรา สธ.-กทม.โบ้ยเละ

สหรัฐฯ - ไม่มีศูนย์กลาง จองง่ายฉีดง่าย

สหรัฐฯ มีระบบการจองวัคซีนโควิด-19 ที่ดูจะค่อนข้างแตกต่างจากที่อื่น นั่นคือไม่มีการบริการจัดการโดยรัฐบาลกลาง แต่จะมอบอำนาจให้แต่ละรัฐไปจัดสรรวัคซีนและจัดการเรื่องการจองคิวกันเอาเอง ดังนั้นในการจะจองวัคซีนโควิด-19 ก็ต้องดูว่าคุณอยู่รัฐอะไร และรัฐนั้นมีจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ไหนบ้าง

สาธารณสุขของบางรัฐมีประโยชน์มากกว่าที่อื่น โดยอาจมีบริการสายด่วนทางโทรศัพท์ มีการจัดทำรายชื่อและคุณสมบัติของประชากรในรัฐว่ามีสิทธิ์ได้รับวัคซีนหรือไม่ ขณะที่บางรัฐเพียงบอกว่ามีผู้ให้บริการฉีดวัคซีนที่ไหนบ้าง แล้วให้คุณขวนขวายโทรหรือเข้าเว็บไซต์เพื่อลงทะเบียนจองคิวด้วยตัวเอง

กระนั้นทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ก็มีเว็บไซต์ Vaccines.gov และ VaccineFinder ให้ประชาชนค้นหาจุดบริการฉีดวัคซีนใกล้บ้าน เมื่อทราบจุดบริการฉีดวัคซีนประชาชนในสหรัฐฯ ก็สามารถติดต่อกับจุดบริการนั้น ๆ ได้โดยตรงเลย

ลักษณะการจองคิววัคซีนโควิด-19 ของสหรัฐฯ อาจดูแล้วค่อนข้างตามมีตามเกิด แต่ก็มีความง่ายดายในแบบของตัวเอง เพราะประชาชนสามารถจัดการจองคิวอย่างง่ายได้ด้วยตัวเอง และไม่มีความยุ่งยาก วันใดอยากฉีดก็เดินหรือโทรไปจองคิว แล้วก็ไปฉีดได้ในวันถัดไป

ปัจจุบัน สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วมากกว่า 311 ล้านโดส มีประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกแล้ว 175.2 ล้านคน หรือราว 52.94% ของประชากรทั้งประเทศ

สหราชอาณาจักร - น้อยวิธี ครอบคลุมทุกกลุ่ม

ที่สหราชอาณาจักร ประชาชนสามารถจองคิววัคซีนได้หลัก ๆ 2 ช่องทาง ช่องทางแรกคือจองผ่านเว็บไซต์ NHS.UK โดยกรอกข้อมูลและหลายเลขประจำระบบสาธารณสุขของตัวเอง

หากไม่สามารถจองผ่านเว็บไซต์ได้สามารถติดต่อหมายเลข 119 แต่อาจล่าช้ากว่าเนื่องจากคู่สายมีจำกัด

นอกจากนี้ยังสามารถจองได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนและร้านขายยาชุมชนได้ แต่ในกรณีที่มีความลำบากในการเดินทาง สามารถขอให้เจ้าหน้าที่แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (GP) ติดต่อมานัดคิวได้

ระบบจองวัคซีนโควิด-19 ของสหราชอาณาจักรนั้นค่อนข้างเรียบง่าย ครอบคลุมช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ และไม่มีช่องทางมากจนเกินไป ทำให้ประชาชนไม่สับสน

ปัจจุบัน สหราชอาณาจักรฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วประมาณ 72.46 ล้านโดส มีประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกแล้ว 42.26 ล้านคน หรือราว 62.25% ของประชากรทั้งประเทศ

ฝรั่งเศส - เน้นออนไลน์ สะดวกสบายด้วยปลายนิ้ว

จากการสำรวจของทีมนิวมีเดีย พีพีทีวี พบว่าการจองวัคซีนโควิด-19 ของฝรั่งเศสนั้นเน้นช่องทางออนไลน์เป็นหลัก

โดยประชาชนในฝรั่งเศสสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ฉีดวัคซีนใกล้บ้านได้ที่ sante.fr โดยกรอกเมืองที่อยู่ รหัสพื้นที่ และประเภทสถานที่ที่ต้องการไปรับวัคซีน (มีให้เลือกระหว่าง ศูนย์ฉีดวัคซีน ร้านขายยา และฉีดกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ) จากนั้นจะสามารถเลือกได้ว่าจะจองผ่านเว็บไซต์ไปเลย หรือจะใช้วิธีโทรศัพท์ไปจอง

อีกหนึ่งเว็บไซต์คือ Vite Ma Dose ซึ่งทำงานคล้ายกัน คือเลือกเมืองที่อาศัยอยู่ ก็จะมีข้อมูลจุดให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่ดังกล่าวปรากฏขึ้นมา พร้อมข้อมูลว่าจุดฉีดนั้น ๆ มีวัคซีนยี่ห้อใดบ้าง มีคิวของวันนั้นเหลือเท่าไร

นอกจากนี้ ประชาชนในฝรั่งเศสยังสามารถนัดหมายคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้บนแพลตฟอร์มการจองอีก 3 ช่องทางคือ Doctolib.fr, Maiia และ Keldoc ได้เช่นกัน

ปัจจุบัน ฝรั่งเศสฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วประมาณ 44.3 ล้านโดส มีประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกแล้ว 31.45 ล้านคน หรือราว 46.55% ของประชากรทั้งประเทศ

ญี่ปุ่น - ส่งใบคิวให้ถึงบ้าน เรียงตามลำดับความสำคัญ

สำหรับที่ญี่ปุ่น รัฐบาลกลางจะจัดทำไกด์ไลน์ลำดับความสำคัญของผู้ที่ควรได้รับก่อน-หลังให้กับสำนักงานเทศบาลหรือทางการท้องถิ่นแต่ละแห่ง

จากนั้นทางการท้องถิ่นจะจัดส่งเอกสารไปยังบ้านของประชาชนทุกคนในพื้นที่ เรียงลำดับก่อนหลังตามลำดับความสำคัญ เอกสารที่ส่งไปประกอบด้วย ตั๋วฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบสอบถามประวัติทางการแพทย์ คำแนะนำและข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับวัคซีนที่จะฉีด และแผ่นพับที่สรุปกระบวนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด

เมื่อได้รับเอกสารแล้ว ประชาชนในญี่ปุ่นสามารถนัดหมายวันเวลาเพื่อรับวัคซีนผ่านเว็บไซต์หรือโทรศัพท์ได้ จากนั้น กรอกข้อมูลประวัติทางการแพทย์ที่แนบมา แล้วนำไปยื่นที่ศูนย์ฉีดวัคซีนเมื่อถึงเวลานัดหมาย

ระบบจองวัคซีนลักษณะนี้ของญี่ปุ่นคาดว่า สามารถจัดลำดับความสำคัญได้อย่างไม่บกพร่อง และยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแซงคิวหรือการแอบอ้างมาเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะในสัปดาห์แรกก็จะส่งเอกสารให้ผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป สัปดาห์ถัดมาก็ส่งให้กลุ่มอายุ 75-79 ปี ทำให้กลุ่มที่มีอายุน้อยกว่านั้นไม่สามารถตีเนียนมาฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ รวมถึงต้องมีตั๋วฉีดวัคซีนที่ทางการส่งมาให้ด้วย

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วมากกว่า 26 ล้านโดส เป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกราว 20 ล้านคน หรือประมาณ 15.9% ของประชากรทั้งประเทศ ญี่ปุ่นสามารถฉีดวัคซีนได้เกือบ 1 ล้านโดสต่อวัน ต้องฉีดเข็มแรกให้ประชากรอีกกว่า 68.3 ล้านคนจึงจะครอบคลุมประชากร 70% ของประเทศ อาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 3-4 เดือนญี่ปุ่นจึงจะทำได้สำเร็จ

สิงคโปร์ - ประเทศเล็กจัดการง่าย ระบบเดียวเอาอยู่

ส่วนเพื่อนบ้านใกล้เคียงเราอย่างสิงคโปร์นั้น มีเพียง 2 ช่องทางเท่านั้นในการให้ประชาชนลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันความสับสน

ทางแรกคือการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.vaccine.gov.sg อีกช่องทางหนึ่งคือการติดต่อไปยังศูนย์ชุมชน (Community Center) ใกล้บ้าน

ด้วยขนาดประเทศที่เล็ก ทำให้การบริหารจัดการด้านการจองวัคซีนโควิด-19 ของสิงคโปร์ใช้วิธีที่เรียบง่าย รวมจุดลงทะเบียนไว้เพียงที่เดียวคือเว็บไซต์ของรัฐบาล และลงทะเบียนผ่านศูนย์ชุมชนได้เผื่อให้ครอบคลุมกลุ่มที่อาจไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือต้องการปรึกษาก่อนฉีดวัคซีน

ปัจจุบัน สิงคโปร์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วประมาณ 4.7 ล้านโดส มีประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกแล้ว 2.76 ล้านคน หรือราว 47.24% ของประชากรทั้งประเทศ

ประเทศไทย - ครอบคลุมหลากหลาย แต่มากระบบมากความ

สำหรับของเรานั้น ปัจจุบันมีหลายช่องทางให้ได้เลือกจองวัคซีนโควิด-19 ดังนี้

1. สำหรับผู้ที่อาศัย/ทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ

          1.1 www.ไทยร่วมใจ.com

          1.2 แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”

          1.3 ร้านสะดวกซื้อ

2. สำหรับผู้ที่มีความประสงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

          2.1 จองผ่านค่ายโทรศัพท์มือถือ 3 ค่ายในไทย

3. สำหรับผู้ที่อยู่ในจังหวัดอื่น

3.1 อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือโรงพยาบาลรัฐใกล้บ้าน

3.2 ระบบออนไลน์ (แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ) ของจังหวัด เช่น นนท์พร้อม ภูเก็ตชนะ ฯลฯ

4. ระบบหมอพร้อม LINE OA/ แอปผลิเคชันหมอพร้อม (เปิดให้บริการอีกครั้ง 24 มิ.ย.)

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ข้างต้นแล้ว พอจะบอกได้ว่า ช่องทางการจองวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยนั้นค่อนข้างหลากหลาย ครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และมีการจองแยกตามพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ให้ง่ายต่อการจัดการ และประชาชนเองก็เข้าถึงได้ง่าย ว่าไปแล้วคล้ายคลึงกับระบบของสหรัฐฯ ที่กระจายการจองไปตามพื้นที่ ผสมกับระบบของสหราชอาณาจักรที่เรียบง่ายครอบคลุมทุกรูปแบบ

แต่ในทางหนึ่ง ความหลากหลายนั้นก็ทำให้ง่ายต่อการสับสนและงุนงงว่าท้ายทที่สุดแล้ว “ฉันต้องจองวัคซีนโควิด-19 ผ่านช่องทางใด”

มากมีข้อดีของมาก น้อยก็มีข้อดีของน้อย สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าวิธีการจองวัคซีนของแต่ละประเทศดีหรือแย่กว่าอย่างไรนั้น ก็อยู่ที่ว่า ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการจองมากน้อยเพียงใด และจุดหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ “แม้เราจะจองวัคซีนได้ แต่ถ้าไม่มีวัคซีนให้ฉีด มันก็ไม่มีประโยชน์”

 

เรียบเรียงจาก CDC / Wall Street Journal / UK Government / NHS / Connexion France / Metropolis Japan / Singapore Government / Covidvax

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ