โควิดเดลตา ระบาดอินโดฯ หมอ-พยาบาลติดเชื้อ 350 คน แม้ฉีด ซิโนแวค ครบ 2 เข็ม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ขณะนี้ในบรรดาโควิดกลายพันธุ์ ตัวที่น่ากังวลมากที่สุดคือโควิดเดลตา หรือ B.1.617.2 จากอินเดีย ในสหรัฐมีผู้ติดสายพันธุ์นี้มากขึ้น ส่วนสหราชอาณาจักรก็มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้มากที่สุดในโลกจนต้องเลื่อนการคลายล๊อคออกไป ส่วนในละแวกบ้านเรา ประเทศที่มีการระบาดของสายพันธุ์นี้ค่อนข้างมากคือที่ อินโดนีเซีย ด้วยความรวดเร็วและรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ แม้แต่คนที่ได้รับวัคซีนแล้ว ก็ยังติดเชื้อได้ แถมมีอาการหนักด้วย

สถาบันวัคซีน เผย “แอสตร้าเซเนก้า” ฉีดครบ 2 โดส ต้านโควิด สายพันธุ์อินเดีย 60%

ผู้เชี่ยวชาญ เผย โควิดสายพันธุ์อินเดีย แพร่เร็วกว่า 2-3 เท่า

โดย นายบูดิ กูนาดิ ซาดิกิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ว่า ตอนนี้ไวรัสเดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) แพร่ระบาดมากขึ้นในกรุงจาการ์ตา และหลายพื้นที่ในเกาะชวา โดยเฉพาะเมืองคูดัส ทางตอนกลางของเกาะชวาพบผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ซึ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ร้อยละ 86 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ 72 คนคือผู้ติดเชื้อไวรัสเดลตา

 

แต่ที่น่ากังวลก็คือ ในจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเดลตายังรวมถึงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 350 คน ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว โดยวัคซีนที่ใช้ฉีดคือ ซิโนแวค จำนวนหนึ่งบุคคลากรทางแพทย์เหล่านี้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ป่วยหนัก อาการคือมีไข้สูงและระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ ได้รับวัคซีนแล้วแต่ยังมีอาการหนักเช่นนี้ ก่อให้เกิดคำถามเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค ว่าสามารถรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์อย่างเดลตาได้มากน้อยขนาดไหน

 

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ได้รับวัคซีนชิโนแวคจากรัฐบาลจีน และซิโนแวคถูกใช้เป็นหนึ่งในวัคซีนหลักของประเทศนี้ โดยในสัดส่วนวัคซีน 329 ล้านโดสของอินโดนีเซีย เป็นซิโนแวคมากที่สุดถึง 125 ล้านโดส

ในช่วงการเริ่มใช้วัคซีนตัวนี้ใหม่ ๆ ประสิทธิภาพของซิโนแวคมีสูง และทางอินโดนีเซียเองก็ทำวิจัยกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน พบว่าหากฉีดครบ 2 โดสสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 94 แต่นั่นเป็นกับการสู้กับสายพันธุ์โควิดดั้งเดิมไม่ใช่โควิดกลายพันธุ์เดลตา

 

ไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา หรือ B.1.617.2 ถูกพบครั้งแรกในอินเดีย   ตัวไวรัสมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งสำคัญคือ ตำแหน่ง K417N บนส่วนของโปรตีนหนาม ซึ่งเชื่อกันว่าการกลายพันธุ์ตรงจุดนี้ช่วยให้โควิดเดลตาสามารถหลบหลีกการตรวจจับของระบบภูมิคุ้มกัน ตลอดจนมีความต้านทานวัคซีนและยามากขึ้น และต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา CDC ของสหรัฐฯ ก็เพิ่งจะยกระดับโควิดเดลตาให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลไป หลังก่อนหน้านี้มีสถานะเพียงสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังเท่านั้น

ส่วนวัคซีนที่รับมือกับเดลตาได้ดี ตอนนี้มีการพูดถึง 2 ตัวคือ ไฟเซอร์ ที่ป้องกันการป่วยหนักจากโควิดเดลตาได้ร้อยละ 96 ส่วนแอสตร้าเซนเนกาป้องกันการป่วยหนักที่ร้อยละ 92  

ตอนนี้รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังพิจารณาประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 แต่ยังไม่ระบุชัดว่าจะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวเมื่อไหร่

ปัจจุบันอินโดนีเซียมียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1 ล้าน 9 แสนคน เสียชีวิตแล้วกว่า 53,000 คน ส่วนยอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อวานนี้มีผู้ติดเชื้อใหม่ 12,600 คน สูงขึ้นมากจากราว 7 วันที่แล้วที่อยู่ที่ 8,000 กว่าคนเท่านั้น ล่าสุด องค์การอนามัยโลกออกมา ระบุว่า ระบบสาธารณสุขของอินโดนีเซียรับมือไม่ไหว

กรุงจาการ์ตาเพียงเมืองเดียว อัตราผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยายาลสัปดาห์นี้คิดเป็นร้อยละ 75 ของจำนวนเตียงพยาบาลที่มี เพิ่มขึ้นมาก เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้วอัตราคนนอนโรงพยาบาลยังอยู่ที่ร้อยละ 45 เท่านั้น  นั่นหมายความว่า ในสัปดาห์หน้ามีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลจะยิ่งมากกว่านี้

อินโดนีเซีย เร่งทำก็คือการฉีดวัคซีน ล่าสุดประธานาธิบดีโจโก วิโดโดประกาศว่า ในเดือนหน้าต้องฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 1 ล้านโดส จากเดิมที่ทุกวันนี้อินโดนีเซียฉีดได้วันละ 5 แสนโดส แต่ปัญหาคือ บางครั้งชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะกับชุมชนที่เคร่งศาสนา เพราะกังวลว่าวัคซีนอาจไม่เป็นฮาลาล บางที่ต้องมีการสร้างแรงจูงใจด้วยการแจกของ

ปัจจุบันอินโดนีเซียฉีดวัคซีนไปแล้ว 33 ล้านโดส แต่จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสยังมีน้อย โดยมีเพียงร้อยละ 5 หรือราว 8.8 ล้านคนเท่านั้นจากประชากรทั้งประเทศที่มีถึง 270 ล้านคน

โดยอินโดนีเซียถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 4 ของโลก รัฐบาลเคยประกาศว่าสิ้นปีจะฉีดให้ได้ 181 ล้านคน ซึ่งเป็นเป้าที่ยังห่างไกล

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ