ผู้ป่วยโควิดเผย จนท.ขอให้รอเตียง 3 วัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นเกินหลักพันคน ต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดระลอก 3 และยังกดตัวเลขลงไม่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครที่พบผู้ป่วยใหม่วันละกว่า 1,000 คน ต่อเนื่อง 2 เดือน วันนี้ปัญหาเตียงสำหรับผู้ป่วยเริ่มตึงกลับมาอีกครั้ง โดยกรมการแพทย์ยอมรับ โรงพยาบาลรัฐในกทม.ทุกแห่ง รับผู้ป่วยทุกกลุ่มสีจนเกือบเต็มศักยภาพ จนคนไข้ต้องรอเตียงหลายวัน เช่น ผู้ป่วยโควิดหญิงอายุ 57 ปี ที่เจ้าหน้าที่แจ้งให้เธอรอเตียงอีก 3 วัน

ทีมข่าวพีพีทีวีคุยกับ นางลานี รสหานาม อายุ 57 ปี ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเพชรบุรี 40 กทม. ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เตียงรักษา เธอเล่าว่า เริ่มมีอาการป่วย และสงสัยว่าจะติดเชื้อเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน เพราะในชุมชนพบการระบาดเป็นวงกว้าง ถัดมา 2 วัน จึงเข้ารับการตรวจหาเชื้อ และผลยืนยันติดเชื้อเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะมีคนติดต่อกลับไปเมื่อได้เตียง ล่าสุดช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่ติดต่อมาแล้ว แต่ให้รออีก 3 วัน โดยให้เหตุผลว่า ตอนนี้เตียงยังเต็มอยู่

เปิดวงจรปิด นาทีชน 'ตุ้ย Playground' มีจยย.เหยียบซ้ำแล้วหนี ประกาศด่วน หา "หญิงสาว" คนสำคัญ

"โมเดอร์นา" 5 ล้านโดส ทยอยมาไทยไตรมาสที่ 4/2564 ถึง ม.ค. 2565

นางลานียังบอกอีกว่า ระหว่างที่รอเตียงก็ใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านคนเดียว ส่วนอาหารการกินมีร้านค้าใกล้บ้าน นำมาวางให้ทุกวัน แล้วเธอจะใช้วิธีโอนเงินให้ ทั้งนี้หากรออีก 3 วัน กว่าจะได้เตียง อาการป่วยของเธอน่าจะดีขึ้น และเมื่อถึงตอนนั้นก็ไม่อยากไปโรงพยาบาลแล้ว 

ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยอมรับว่า ทุกแห่งรับผู้ป่วยทุกระดับสีตั้งแต่สีเขียว // สีเหลือง และสีแดง จนเกือบเต็มศักยภาพที่จะรับผู้ป่วยใหม่ได้แล้ว  โดยเฉพาะเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดง ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเหลือเพียง 20 เตียง ซึ่งต้องสำรองไว้สำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะฉุกเฉิน การผ่าตัด และการช่วยเหลือที่เร่งด่วน

ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเริ่มการระบาดระลอกที่ 3 กรมการแพทย์พยายามเพิ่มศักยภาพให้เตียงไอซียูรองรับได้ 400 กว่า จากเดิมที่รองรับ 200 เตียง  แต่เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กทม.ที่เพิ่มขึ้นหลักพันคนต่อเนื่องกว่า 2 เดือน ก็ทำให้ความต้องการใช้เตียงไอซียูเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะผู้ป่วยในจำนวนนี้ 3 เปอร์เซนต์ มักมีอาการหนัก และต้องอยู่ห้องไอซียู นั่นหมายความว่า หากมีผู้ป่วยใหม่ในกทม.วันละ 1,000 คน ก็คาดว่า จะมี 30 คน ที่ต้องใช้ห้องไอซียู ขณะเดียว กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง ก็มีแนวโน้มอาการหนักขึ้น กลายเปลี่ยนเป็นสีแดงเพิ่มขึ้นด้วย  จึงส่งผลให้อัตราครองเตียงสีแดงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย  โดยระยะเวลาครองเตียงในห้องไอซียูแต่ละเคสนานเฉลี่ยอยู่ที่ 14-20 วัน

ส่วนเตียงไอซียูในโรงพยาบาลเอกชนที่มีอยู่ประมาณ 100-200 แห่ง ใน กทม.ที่แม้รองรับได้แห่งละ 1-2 เตียง แต่ปัญหาสำคัญคือ ขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่จะดูแล เพราะแพทย์ และพยาบาลเหล่านี้ก็มาจากโรงพยาบาลรัฐซึ่งมาทำงานนอกเวลา ซึ่งในเวลาทำงานปกติก็ทำงานจนเกินศักยภาพนานต่อเนื่องกว่า 2 เดือนแล้ว

นายแพทย์สมศักดิ์ระบุว่า หากผู้ป่วยใหม่ในพื้นที่ กทม.ยังเพิ่มขึ้น และกดตัวเลขลงมาไม่ได้ หลังจากนี้ก็จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ทำให้ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงพยายามทุกวิถีทาง เพื่อแก้ปัญหา ทั้งการแบ่งโซนดูแลผู้ป่วยแต่ละพื้นที่ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงลงให้มากที่สุด พร้อมยืนยันว่า การพบผู้เสียชีวิตที่มากขึ้น ไม่ได้มาจากระบบการรักษาที่ด้อยประสิทธิภาพ แต่เป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น และสะสมมาต่อเนื่อง

ทั้งนี้ภาพรวมสถานการณ์เตียงในกรุงเทพ และปริมณฑลวันที่ 21 มิถุนายน จากกรมการแพทย์ พบว่า ห้องสำหรับผู้ป่วยสีแดง อย่างห้องไอซียูความดันลบ ผู้ป่วยครองเตียง 268 เตียง ว่าง 46 เตียง  หอผู้ป่วยวิกฤตที่ดัดแปลงเป็นห้องความดันลบ ครองเตียง 689 เตียง ว่าง 68 เตียง  ห้องไอซียูรวม ครองเตียง 267 เตียง ว่าง 34 เตียง ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง ห้องแยก ครองเตียง 3,529 เตียง ว่าง 527 เตียง ห้องสามัญ ครอง 6,582 ว่าง 1,458 เตียง และห้องสำหรับผู้ป่วยสีเขียว hospitel ครองเตียง 10,263 ว่าง 3,627 เตียง เตียงสนาม ครองเตียง ว่าง 803 เตียง

 

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ