เปิดภาระงานหมอ-พยาบาล ICU โควิด พบทำงานตลอดเวลา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนัก จนแทบรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ไม่ไหว เกิดขึ้นแทบทุกโรงพยาบาล โดยเฉพาะ เขตกรุงเทพ และ ปริมณฑล ที่พบการแพร่ระบาดหนัก ล่าสุดทีมข่าวคุยกับ แพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า พบว่า มีปัญหาไม่ต่างกัน เพราะ ปัจจุบันผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าปกติมากกว่า เท่าตัว

พยาบาลกลุ่มนี้ คือ พยาบาลประจำหอผู้ป่วย ICU โควิด โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ทุกคนต้องสวมชุดPPE ก่อนเข้าดูอาการของผู้ป่วย ซึ่งตลอดทั้งวันที่เข้าเวร 8 ชั่วโมง พยาบาลต้องใส่ชุดPPE สลับกับ ถอดชุดและไปอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทุก 2 ชั่วโมง  การเข้าไปตรวจดูอาการไม่ใช่การไปยืนมองเฉยๆ นอกจากดูการทำงานของเคอุปกรณ์ทางการแพทย์ บางกรณีต้องจับผู้ป่วยพลิกตัว หรือ ผู้ป่วยกลุ่มโรคไต พยาบาลต้องล้างไตให้วันละหลายครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาอยู่กับผู้ป่วย 4-5 ชั่วโมง

 

เปิดใจ"บุคลากรด่านหน้า"โหมงานหนักสู้โควิด

เปิดใจพยาบาลอินเดีย “เราจะช่วยผู้ป่วยทุกชีวิต ตราบที่เขายังมีลมหายใจ”

ข่าวพูดคุยกับ หนึ่งในพยาบาลที่ทำหน้าที่นี้ เธอ เล่าว่า  ทุกเช้า เวลา 8.00 น. เธอจะต้องเข้ามาอ่านรายงานอาการผู้ป่วยของเวรก่อนหน้า  รวมถึงจะเช็กค่าความดันและอัตราการเต้นของหัวใจ และ ความผิดปกติของร่างกายผ่านเครื่องมอนิเตอร์ เพื่อรายงานแพทย์ประจำหอผู้ป่วยทราบ จากนั้นจึงจะเริ่มเดินตรวจดูอาการผู้ป่วยวิกฤต พยาบาลคนนี้เล่าข้อจำกัดว่า ต้องสวมชุดPPEทุกครั้งที่ตรวจดูอาการคนไข้ ทำให้การงานลำบากและทำให้เหนื่อยมากกว่าเดิม

นอกจากทำงานครบ 8 ชั่วโมงในแต่ละเวรแล้ว  พยาบาลจะต้องสรุปอาการของผู้ป่วยวิกฤตเพื่อส่งต่อทีมพยาบาลที่มาเปลี่ยนเวร และจะต้องโทรศัพท์กลับไปพูดคุยกับญาติผู้ป่วยเพื่อรายงานอาการให้ทราบ ทั้งหมดนี้ จะต้องทำหลังเวลาออกเวลาแล้ว ทำให้กินเวลาพักผ่อนไปอีก

สอดคล้องกับนายแพทย์วิจักษณ์ กาญจนอุทัย อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เปิดใจว่า มาช่วยดูแลผู้ป่วยโควิดที่เชื้อลงปอดแล้ว นอกจากดูแลผู้ป่วยในช่วงเข้าเวรแล้ว  คุณหมอยังต้องช่วยประสานเตียงผู้ป่วยในเวลาเลิกงาน ทำให้ตอนนี้แทบจะทำงาน 24 ชั่วโมง

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาปกติ ต้องรองรับผู้ป่วยกว่า 3,000 คนต่อวันอยู่แล้ว แต่ในวิกฤตโควิด-19 มีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ทำให้ภาระงานของทีมแพทย์และพยาบาลหนักขึ้นมาก ย้ำว่าครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลน ยังสามารถหาซื้อเพิ่มขึ้นได้ แต่บุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถทดแทนได้

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ