บริษัทขายเครื่องผลิตออกซิเจน “ของหมดสต็อก” ยอดสั่งซื้อพุ่ง 4 เท่า


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีเตียงรักษา จนอาการหนักและต้องใช้ถังออกซิเจนช่วยที่บ้านมากขึ้น ทีมข่าว PPTV ไปสำรวจบริษัทที่นำเข้าและขายเครื่องผลิตออกซิเจนโดยตรง พบว่า ความต้องการสั่งซื้อเครื่องผลิตออกซิเจนไปใช้ที่บ้านมากขึ้น ตั้งแต่เริ่มพบสายพันธุ์อินเดีย จนล่าสุดต้องนำเข้าเพิ่มมา 3-4 เท่าจากเดิม แต่ของหมดสต็อกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

“ไทย” พุ่งอันดับ 16 ของโลก ประเทศพบติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดในรอบ 7 วัน

เปิดรายละเอียด คุมเข้ม 10 จังหวัด เคอร์ฟิว 21.00 - 04.00 น. เริ่ม 12 ก.ค.นี้

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวอย่าง เครื่องทำออกซิเจนเข้มข้น หรือที่คนมักเรียกกันว่าเครื่องผลิตออกซิเจน ทำหน้าที่เปลี่ยนอากาศ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีออกซิเจนอยู่ประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์ ให้ออกมามีออกซิเจนราว 93 เปอร์เซ็นต์ สำหรับใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยด้านทางเดินหายใจ นายวีริศ หิรัญเมฆาวนิช ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เรียลเมด จำกัด เจ้าของร้าน “Adler Thailand ศูนย์รวมเครื่องผลิตออกซิเจน” ระบุว่า ขณะนี้เหลือเพียงตัวโชว์ เพราะมีความต้องการสั่งซื้อเข้ามามากจนของหมดสต็อก

นายวีริศ ระบุว่า ปกติแล้วเครื่องผลิตออกซิเจนจะมีราคาตั้งแต่ 10,000 - 70,000 บาท ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับอัตราการไหลของออกซิเจน ตั้งแต่ 1 ลิตรต่อนาที ไปจนถึง 10 ลิตรต่อนาที ก่อนที่จะมีโควิด-19 กลุ่มลูกค้าหลักของร้าน จะเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ออกจากโรงพยาบาลกลับมารักษาตัวที่บ้าน แต่ยังคงต้องให้ออกซิเจนตลอดเวลา แต่หลังจากโควิด-19 แพร่ระบาด ก็มีลูกค้าเพิ่มมาอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่กังวลว่าจะติดโควิด-19 แล้วหาเตียงไม่ได้ และกลุ่มที่ซื้อไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม โดยความต้องการเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่พบโควิดสายพันธุ์เดลต้า และนี่เป็นครั้งแรกที่ร้านไม่มีเครื่องผลิตออกซิเจนในสต็อก

 

ความต้องการใช้เครื่องผลิตออกซิเจนนี้ สะท้อนผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Survive - สายไหมต้องรอด” ที่โพสต์ข้อความเมื่อวานนี้ ระบุว่า ในพื้นที่สายไหม พบผู้ป่วยวิกฤติที่นอนรักษาตัวที่บ้าน 4 คน ต้องการเครื่องช่วยผลิตออกซิเจนด่วน โดยทีมข่าวพบว่าในเพจเฟซบุ๊กมีการไลฟ์สด นำถังออกซิเจนไปให้ผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา

นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ช่วย ส.ส.เขตสายไหม ผู้ดูแลเพจนี้ เปิดเผยว่า คลิปวีดีโอดังกล่าว เป็นหนึ่งในผู้ป่วยที่ทีมงานต้องนำถังออกซิเจนไปให้ เนื่องจากประเมินร่วมกับแพทย์ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่แล้วเป็นผู้ป่วยสีเหลือง ซึ่งมีเกณฑ์จะขยับไปเป็นสีแดงหากไม่ได้รับออกซิเจน โดยทีมงานต้องเพิ่มจากหาเตียงให้ผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว เป็นหาออกซิเจนให้ผู้ป่วยมาใช้ที่บ้านก่อน ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่พบผู้ป่วยสีเหลือง ไม่ได้เตียงรักษาเพิ่มขึ้น

นายเอกภพ กล่าวต่อว่า นอกจากผู้ป่วยที่รู้ผลจะได้เตียงช้าแล้ว อีกปัญหาที่พบคือหลายคนเข้าไม่ถึงการตรวจคัดกรอง อย่างเช่น เคสล่าสุดที่พบเสีย ชีวิตในบ้านเมื่อวานนี้ ที่ลูกสาวแจ้งทีมงานว่าพ่อวัย 61 มีอาการป่วยมา 10 วัน แต่จะไปตรวจหาเชื้อตามโรงพยาบาลไหนก็ไม่รับ สุดท้ายลูกสาวได้ที่ตรวจเป็นคลินิกแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท ผลพบติดเชื้อ โดยขณะกำลังจะมารับพ่อไปตรวจ ก็พบเสียชีวิตแล้ว

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ