อยากเก็บเนื้อสัตว์ ผักให้สด และคงคุณค่าทางโภชนาการ ต้องทำ 3 สิ่งนี้เลย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารแนะวิธีการเก็บเนื้อสัตว์ และผักผลไม้ให้สด ในช่วงล็อกดาวน์ ให้คงคุณค่าทางโภชนาการ สะอาด ปลอดภัย

จากสถานการณ์ที่รัฐบาลประกาศ มาตรการควบคุมประชาชนในพื้นที่สีแดงเข้ม ในลักษณะกึ่งล็อกดาวน์ ทำให้ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร และตลาดต่างต้องปรับตัว เปิด - ปิดตามเวลาที่กำหนด รวมถึงข้อความร่วมมือประชาชนไม่ให้เดินทางออกนอกเคหสถานโดนไม่จำเป็น ดังนั้นการซื้อผักผลไม้ และของสดมาเก็บไว้ในบ้าน จึงเป็นเรื่องสำคัญ 

แต่งานนี้จะเก็บอย่างไรให้ผัก ผลไม้ รวมถึงเนื้อสัตว์ที่เราซื้อมายังดูสดและคงคุณค่าทางโภชนาการอยู่ เพราะหากเก็บรักษาไม่ดี ของก็อาจจะเน่าเสียก่อนที่จะนำมาทำอาหารรับประทานได้ 

กรมอนามัย แนะเลี่ยงทานอาหารค้างคืน เสี่ยงอาหารเป็นพิษ

แจกเมนูอาหาร 7 วัน 3 มือ ทำกินได้ช่วงล็อกดาวน์ - กักตัวอยู่บ้าน

ล่าสุด ผศ.ดร.รชา เทพษร อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาแนะนำวิธีการทำความสะอาด เก็บรักษาอาหาร ของสดให้อยู่ได้นาน และคงคุณค่าทางโภชนาการอาหาร มีหลักปฏิบัติดังนี้

วิธีการเก็บเนื้อสัตว์ 
เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู-ไก่สด ก่อนเก็บควรทำความสะอาดทั้งชิ้น และนำมาแบ่งเป็นชิ้นส่วนขนาดพอเหมาะสำหรับใช้ในการปรุงอาหารแต่ละครั้งและเก็บใส่ภาชนะที่สะอาด นอกจากนี้ ควรเก็บเนื้อสัตว์อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสหรือในช่องแช่แข็งจะเก็บได้นานประมาณ 6 เดือน เมื่อต้องการใช้ก็หยิบออกมาทีละส่วน นำมาพักไว้ในช่องแช่เย็นเพื่อทำละลาย และควรใช้ให้หมด

วิธีเก็บไข่ไก่ให้ไม่เน่าเสีย
ไข่ไก่ เปลือกไข่จะมีลักษณะเป็นรูพรุน จึงทำให้น้ำ อากาศ ระเหยได้ในระหว่างการเก็บรักษา จึงควรเก็บในช่องแช่เย็น อุณหภูมิประมาณ 4-5 องศาเซลเซียสเพื่อช่วยให้การระเหยช้าลง นอกจากนี้ ไม่ควรล้างไข่ไก่ก่อนนำเข้าตู้เย็น เนื่องจากไข่ไก่จะมี “นวลไข่” เคลือบบริเวณเปลือกไข่เพื่อปกป้องไม่ให้น้ำและอากาศระเหยออกสู่ด้านนอก รวมถึงปกป้องไม่ให้จุลินทรีย์เข้ามาในไข่ด้วย ดังนั้น หากต้องการทำความสะอาด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดเปลือกไข่เบาๆให้แห้ง และไม่ควรเก็บนานเกิน 2 สัปดาห์

วิธีเก็บสัตว์น้ำ
สัตว์น้ำ เช่น ปลา ต้องนำเอาเครื่องในและของเสียในช่องท้องออกก่อน แล้วล้างทำความสะอาดตัวปลา หั่นเนื้อปลาแยกเป็นชิ้น การเก็บรักษาควรแบ่งเนื้อปลาเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทแยกสำหรับการประกอบอาหารแต่ละครั้ง หากเก็บเนื้อปลาในอุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียสจะอยู่ได้ไม่เกิน 2 วัน หรือหากแช่แข็งในอุณหภูมิต่ำกว่าลบ 18 องศาเซลเซียส เก็บได้ไม่เกิน 3 เดือน ส่วนกุ้งสดต้องตัดหนวดออก ทำความสะอาด เก็บในภาชนะแบ่งเป็นสัดส่วน และควรเก็บในช่องแช่แข็ง

วิธีเก็บผักผลไม้ 
ผักและผลไม้ สิ่งสำคัญคือการลดอุณหภูมิ เพราะความเย็นจะทำให้ทำให้กระบวนการเจริญของจุลินทรีย์ รวมถึงกิจกรรมของเอนไซม์เกิดได้ช้าลง นอกจากนี้ความชื้นก็เป็นปัจจัยสำคัญ หากเก็บในที่แห้งจะทำให้ผักผลไม้เหี่ยว ควรเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อรักษาความชื้น สำหรับการทำความสะอาดควรล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำสะอาดไหลผ่าน ซึ่งจะช่วยลดสารพิษตกค้างได้ 25-63% หรือใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น แช่ผักในเบกกิ้งโซดา 15 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาด สามารถลดสารพิษตกค้าง 90-95% เมื่อล้างเสร็จแล้วต้องทำให้ผักผลไม้สะเด็ดน้ำ หรือซับน้ำก่อนเก็บ เพื่อหยุดการเจริญของจุลินทรีย์ และหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดรอยหักต่างๆ จึงควรเก็บทั้งต้น ไม่หั่น เพราะจะทำให้เสื่อมเสียง่ายและเร็วกว่าเก็บ

เปิดคู่มือเดินตลาดแบบระวังขั้นสุด ปลอดภัย ไร้กังวลโควิด

ขณะที่  แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ได้แนะนำว่า เพื่อความสดใหม่ของอาหารควรซื้อเก็บในปริมาณที่พอเหมาะ ขอให้ยึดหลัก 3 ส. คือ 
1) สะอาดปลอดภัย โดยภาชนะบรรจุ และสถานที่เก็บอาหารต้องสะอาด ปลอดภัยไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารได้ 
2) สัดส่วน ควรแยกประเภทอาหารเป็นสัดส่วนเฉพาะไม่ปะปนกัน 
3) สิ่งแวดล้อมเหมาะสม จัดเก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุอาหารให้เก็บไว้ได้นานๆ

สำหรับการเลือกซื้อเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับการบริโภค ต้องมาจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต หรือสังเกตสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" ที่สถานที่จำหน่าย เพื่อความมั่นใจในการบริโภค

คอนเทนต์แนะนำ
อาหารประเภทไหน ที่เราจำเป็นต้องมีติดบ้านในช่วงล็อกดาวน์ 14 วัน

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ