งานวิจัยใหม่ของไทยเองชี้ “ซิโนแวค” ป้องกันโควิด-19 เดลตาได้น้อยมาก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




งานวิจัยจากนักวิจัยไทยพบ วัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคมีประสิทธิผลดีต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่รับมือเชื้อกลายพันธุ์ได้ดีไม่เท่าภูมิตามธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา medRxiv เว็บไซต์ฐานข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการจากทั่วโลก ได้เผยแพร่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคจากประเทศไทยชิ้นแรก

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาจากทีมนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข

“ประยุทธ์” ขอ ปชช.มั่นใจวัคซีน แอสตร้าฯ-ซิโนแวค-ซิโนฟาร์ม มีสิทธิภาพ

เคาะแล้ว! ฉีดวัคซีนสลับชนิด เข็ม 2 ต้อง แอสตร้าเซเนก้า "WHO" ไม่ขัดไทย แต่มีข้อเสนอแนะ

ต้องเร่งฉีด! พบฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มเดียวสู้ "เบตา-เดลตา" ไม่ไหว

บทคัดย่อของงานวิจัยระบุว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโควิด-19 สายพันธุ์ที่ต้องกังวล (VOC) ทำให้ต้องมีการประเมินระดับของแอนติบอดีในเลือดชนิด IgG และแอนติบอดีชนิดยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส (Neutralizing Antibodies; NAbs)

โดยวัคซีนโควิด-19 โคโรนาแวค (ของบริษัทซิโนแวค) เป็นวัคซีนที่ถูกใช้เป็นจำนวนมากในประเทศไทยและประเทศที่มีรายได้ต่ำอื่น ๆ ในขณะที่โควิด-19 สายพันธุ์ต้องกังวลที่ระบาดในประเทศไทยมีอยู่ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เบตา (แอฟริกาใต้) และเดลตา (อินเดีย)

ทีมวิจัยประเมินศักยภาพของแอนติบอดีเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมเทียบกับ 3 สายพันธุ์ดังกล่าว โดยใช้ตัวอย่างซีรั่มจากบุคลากรการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม (60 คน) ซีรั่มจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในปี 2020 (30 คน) และซีรั่มจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในปี 2021 (30 คน) รวมกลุ่มตัวอย่าง 120 คน

เราพบว่า ตัวอย่างซีรั่มจากผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคและบุคคลที่ติดเชื้อตามธรรมชาติ มีความสามารถลดลงในการต่อต้านโควิด-19 ทั้ง 3 สายพันธุ์เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม

โดยระดับแอนติบอดีทั้งจากวัคซีนซิโนแวคและภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อสายพันธุ์อัลฟาและเบตานั้นยังพอรับได้ แต่กับสายพันธุ์เดลตาดูเหมือนจะน้อยกว่ากว่าอย่างมีนัยสำคัญ

งานวิจัยพบว่า กับสายพันธุ์ดั้งเดิมนั้น ภูมิคุ้มกันจากผู้ที่หายป่วยในปี 2020 มีความสามารถในการต่อต้านเชื้อสูงที่สุด รองลงมาเป็นภูมิคุ้มกันจากซิโนแวค และภูมิคุ้มกันจากผู้ที่หายป่วยในปี 2021 ตามลำดับ

กับสายพันธุ์อัลฟา ภูมิคุ้มกันจากผู้ที่หายป่วยในปี 2021 มีความสามารถในการต่อต้านเชื้อสูงที่สุด รองลงมาเป็นภูมิคุ้มกันจากซิโนแวค และภูมิคุ้มกันจากผู้ที่หายป่วยในปี 2020 ตามลำดับ

ส่วนสายพันธุ์เบตานั้น ภูมิคุ้มกันจากผู้ที่หายป่วยในปี 2020 และ 2021 สามารถต้านเชื้อได้พอ ๆ กัน ส่วนภูมิจากวัคซีนซิโนแวคนั้นน้อยกว่า

และต่อสายพันธุ์เดลตา ภูมิคุ้มกันจากผู้ที่หายป่วยในปี 2020 และ 2021 สามารถต้านเชื้อได้พอกันเช่นกัน ขณะที่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนซิโนแวคมีระดับน้อยกว่าเมื่อเจอกับสายพันธุ์เบตาเสียอีก

ผลลัพธ์เหล่านี้ชี้ว่า ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคต่อโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ด้อยกว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในผู้ที่ติดเชื้อแล้วหายป่วย

ด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความว่า “ในที่สุดก็ได้เห็นผลวิจัยจากทีมประเทศไทยเองที่แสดงว่า ภูมิคุ้มกันจากซิโนแวคมีเท่าไหร่ต่อไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเดลตา เป็นการศึกษาจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ทำการเปรียบเทียบความสามารถของซีรั่มในผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคเปรียบเทียบกับคนที่หายป่วยจากปีที่แล้วและปีนี้ ในการยับยั้งการติดเชื้อของไวรัสตัวจริงที่แยกได้จากผู้ป่วยในประเทศไทย

ข้อมูลในการศึกษานี้บอกว่า ภูมิจากซิโนแวคไม่น่าเหลือพอที่จะยับยั้งเดลต้าได้...ดูเหมือนจะแย่กว่าสายพันธุ์เบต้าของแอฟริกาใต้ซะอีก”

งานวิจัยนี้ยังแนะนำว่า ระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคที่ต่ำกว่าภูมิตามธรรมชาติ อาจจำเป็นต้องพิจารณามีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 (บูสเตอร์) ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดก็ตาม เพื่อรักษาการตอบสนองต่อไวรัสในระยะยาว

ปัจจุบันงานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบซ้ำโดยผู้เชี่ยวชาญ และยังไม่ได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ เมื่อใดที่ได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ความน่าเชื่อถืออาจสูงกว่านี้

อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม "ที่นี่"

คอนเทนต์แนะนำ
“ประยุทธ์” ขอ ปชช.มั่นใจวัคซีน แอสตร้าฯ-ซิโนแวค-ซิโนฟาร์ม มีสิทธิภาพ
พนง.คลังสินค้า เผย สกัดโควิดช้า ทำเชื้อแพร่นับร้อยคน

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ